กรณีศึกษา วง BTS สร้างรายได้พันล้าน ด้วยโมเดล LIVE คอนเสิร์ตในโรงหนัง
Business

กรณีศึกษา วง BTS สร้างรายได้พันล้าน ด้วยโมเดล LIVE คอนเสิร์ตในโรงหนัง

18 มี.ค. 2022
กรณีศึกษา วง BTS สร้างรายได้พันล้าน ด้วยโมเดล LIVE คอนเสิร์ตในโรงหนัง /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลังจากที่งานแสดง BTS Permission to Dance on Stage - Seoul ได้จบไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็มีรายงานที่ระบุว่าคอนเสิร์ตนี้ กวาดรายได้ไปกว่า 3,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 วัน
ที่น่าสนใจคือ รายได้ของคอนเสิร์ตเพียง 3 วันนี้ เกือบเท่ารายได้ทั้งปีของ เจ้าแห่งวงการบันเทิงในประเทศไทย อย่าง GMM Grammy ซึ่งทำรายได้ในปี 2564 ไปทั้งหมด 3,893 ล้านบาท
นี่ถือเป็นอีกก้าวความสำเร็จของ BTS เลยก็ว่าได้
เพราะหลังจากที่โลกของเราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาด กว่า 2 ปีเต็ม
เหล่าค่ายเพลงก็น่าจะขาดรายได้ไปบางส่วน เนื่องจากไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตได้เหมือนเคย
แล้วกลยุทธ์การจัดคอนเสิร์ตของ BTS ในครั้งนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะวิเคราะห์ให้ฟัง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 และวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 12-13 มีนาคมที่ผ่านมา วง BTS ได้จัดคอนเสิร์ตออฟไลน์ในประเทศบ้านเกิด เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง
นับตั้งแต่ BTS World Tour ‘Love Yourself: Speak Yourself’ คอนเสิร์ตแบบที่เปิดให้ผู้ชมเข้าไปดูการแสดงจริง ๆ ครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม ปี 2019
โดยคอนเสิร์ต BTS Permission to Dance on Stage - Seoul ทั้ง 3 รอบ ถูกจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเข้มงวด
ซึ่งจำกัดจำนวนผู้ชมต่อรอบไว้ที่ 15,000 คน และไม่อนุญาตให้กรี๊ด, ตะโกน หรือร้องเพลงในระหว่างคอนเสิร์ต ดังนั้นแฟน ๆ จึงสามารถเชียร์ด้วยเสียงปรบมือและโบกแท่งไฟเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความพิเศษของคอนเสิร์ตครั้งนี้คือ การบรรเทาความผิดหวังของแฟน ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมในสถานที่จริงให้ได้รับชมไปพร้อมกัน ด้วยการสตรีมมิงทางออนไลน์ สำหรับการแสดงคืนแรกและคืนที่สาม
ส่วนในคืนที่สองจะไม่มีการสตรีมออนไลน์ แต่จะเป็น “การถ่ายทอดสดในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก” แทน
ผลปรากฏว่า งานคอนเสิร์ตของ BTS ทั้ง 3 วันนี้ นอกจากจะกวาดรายได้ไปกว่า 3,000 ล้านบาทแล้ว
ยังสามารถเข้าถึงแฟน ๆ ได้มากถึง 2.5 ล้านคน ใน 191 ประเทศทั่วโลก
ผ่านทั้งการแสดงสด, สตรีมออนไลน์ รวมถึงการฉายบนโรงภาพยนตร์ และด้วยจำนวนผู้เข้าชมขนาดนี้ เทียบเท่ากับการจัดคอนเสิร์ตในราชมังคลากีฬาสถาน ประมาณ 38 แห่งพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว
เรียกได้ว่ารูปแบบโมเดลการฉายคอนเสิร์ตที่ Hybe Corporation นำมาใช้ในลักษณะนี้
เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย ในยุคที่มีข้อจำกัดมากมาย อย่างปัจจุบัน
มาเริ่มกันที่รายได้จากการแสดงคอนเสิร์ตเฉพาะ “รอบออฟไลน์”
จากรายงานที่ว่า BTS ได้แสดงคอนเสิร์ตที่ Seoul Olympic Stadium ต่อหน้าผู้ชม 45,000 คน ในระยะเวลา 3 วัน ซึ่งราคาบัตรคอนเสิร์ตทั่วไปจะอยู่ที่ใบละ 160,000 วอน หรือราว 4,300 บาท
เท่ากับว่า ต้นสังกัดจะได้เงินก้อนจากการขายตั๋วประมาณ 193.5 ล้านบาท เข้ามาทันที
ในขณะที่ช่องทาง “สตรีมออนไลน์”
Big Hit Music หน่วยงานของ Hybe Corporation ได้เปิดเผยว่ามีผู้เข้าชมคอนเสิร์ตทางออนไลน์ ในวันที่ 10 และ 13 มีนาคม ทั้งหมด 1.02 ล้านคน จาก 109 ประเทศ
ซึ่งบริษัทได้เปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมสตรีมออนไลน์ โดยแบ่งตามประเภทที่เลือกซื้อ เช่น ราคาต่อวันหรือราคาต่อ 2 วัน และราคาสำหรับสมาชิกทั่วไปหรือราคาสำหรับสมาชิกออฟฟิเชียล
ในราคาใกล้เคียงกันประมาณ 1,350 บาท และ 1,600 บาท ไปจนถึง 2,450 บาท ถ้าคิดแบบง่าย ๆ โดยคำนวณจากราคาบัตรที่ถูกที่สุด ช่องทางนี้จะสร้างรายได้อย่างต่ำ 1,377 ล้านบาท เลยทีเดียว
สุดท้าย อีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจอย่าง “การถ่ายทอดสดแบบ Live Viewing ที่โรงภาพยนตร์ทั่วโลก”
หรือการฉายคอนเสิร์ตแบบเรียลไทม์บนจอภาพยนตร์ โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง Hybe Corporation กับ Trafalgar Releasing ผู้จัดจำหน่ายการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต
ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ มีผู้ชมสดที่โรงภาพยนตร์ทั่วโลกกว่า 1.4 ล้านคน นับเป็นสถิติใหม่ที่มีจำนวนผู้ชมสูงสุด สำหรับเนื้อหาที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ อีกด้วย
และการถ่ายทอดคอนเสิร์ตเพียงคืนเดียวนี้ สามารถครองตำแหน่งในบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก ด้วยการกวาดรายได้กว่า 1,084 ล้านบาท จากโรงภาพยนตร์ 3,711 โรง ใน 75 ประเทศ
โดยในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ก็เข้าฉายมากถึง 803 โรง สร้างรายได้ราว 227 ล้านบาท
รวมถึงขึ้นแท่นอันดับ 3 ในบ็อกซ์ออฟฟิศ ช่วงสุดสัปดาห์ที่เข้าฉาย เป็นรองแค่ The Batman ที่นำแสดงโดยโรเบิร์ต แพตทินสัน และ Uncharted ที่นำแสดงโดยทอม ฮอลแลนด์ เท่านั้น
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ สำนักข่าวเกาหลีได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันจองตั๋วสำหรับรับชมคอนเสิร์ตรอบ Live Viewing ในโรงภาพยนตร์ทั่วเกาหลีใต้ ตั๋วจำนวน 36,000 ใบ ขายหมดทันทีในไม่กี่นาที ซึ่งตั๋วแต่ละใบมีราคาราว 1,335 บาท
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายังไม่ทันถึงวันคอนเสิร์ต BTS ก็สร้างเม็ดเงินไปกว่า 48 ล้านบาทแล้ว
หากลองวิเคราะห์ถึงความสำเร็จของ BTS Permission to Dance on Stage - Seoul ในครั้งนี้
ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่คอนเสิร์ตออนไลน์ปกติ มักจะจัดให้ผู้ชมรับชมได้ที่บ้านผ่านจอคอมพิวเตอร์
แต่การย้ายมาจัดคอนเสิร์ตในโรงภาพยนตร์ นอกจากจะทำให้ได้บรรยากาศใหม่ ๆ แล้ว
บรรดาแฟนคลับยังสามารถมาพบปะกัน เพื่อแสดงความรักต่อศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบได้อีกด้วย
และที่สำคัญ ความสำเร็จของ BTS ในครั้งนี้ ยังเป็นการตอกย้ำถึงอิทธิพลของพวกเขา ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
รวมถึง เป็นข้อพิสูจน์ถึงพลังที่ทุ่มเทอย่างท่วมท้นของ ARMY และยังช่วยให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่กำลังเงียบเหงา กลับมามีสีสันอีกครั้ง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.