กรณีศึกษา Misfits Market แพลตฟอร์มขายของชำที่ “ไม่สมบูรณ์” มูลค่า 6 หมื่นล้าน
Business

กรณีศึกษา Misfits Market แพลตฟอร์มขายของชำที่ “ไม่สมบูรณ์” มูลค่า 6 หมื่นล้าน

15 ธ.ค. 2021
กรณีศึกษา Misfits Market แพลตฟอร์มขายของชำที่ “ไม่สมบูรณ์” มูลค่า 6 หมื่นล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
เคยสังเกตหรือไม่คะว่า เวลาที่เราไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เกต ก็มักจะหยิบแคร์รอตที่เรียบเนียนมากกว่า หัวที่มีรูปร่างประหลาด หรือเลือกแอปเปิล ที่สีแดงแวววาว ด้วยความคิดที่ว่ามันจะกรอบอร่อยกว่าลูกที่ช้ำ
ไม่ใช่เรื่องผิดที่ใคร ๆ ก็อยากได้สินค้าที่ดูดีที่สุดกันทั้งนั้น
แต่ถ้าทุกคนต้องการแต่พืชผัก ผลไม้ สวย ๆ กันไปหมด แล้วจะทำอย่างไรกับสินค้าที่ดูไม่สมบูรณ์แบบ ?
ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ “Misfits Market” เข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว
โดย Misfits Market มองว่าสินค้าที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ส่วนเกินเสมอไป แต่ยังนำมาขายได้ ​จนสามารถสร้างเป็นธุรกิจที่มีมูลค่า 66,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นเลยทีเดียว
เรื่องราวของ Misfits Market น่าสนใจอย่างไร ?
แล้ว Misfits Market ทำธุรกิจขายของชำที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Misfits Market เป็นแพลตฟอร์ม D2C ย่อมาจาก Direct-to-Consumer หรือธุรกิจขายสินค้าโดยตรงให้กับผู้บริโภค ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตนเอง
โดย Misfits Market จะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ไม่สามารถขายให้ร้านขายของชำแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุผลด้านความงาม เช่น ขนาดใหญ่เกินไป เล็กเกินไป มีรูปร่างแปลกเล็กน้อย มีการเปลี่ยนสี หรือแค่ดูตลก ๆ
แล้วนำมาขายให้กับสมาชิกบนแพลตฟอร์ม ในราคาต่ำกว่าร้านขายของชำทั่วไปถึง 40%
ซึ่งทุกวันนี้ Misfits Market ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่คัดสรรมาแล้วมากกว่า 250 สายพันธุ์ และยังค่อย ๆ ขยายไปยังไลน์สินค้าอื่น เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม โปรตีนจากพืชคุณภาพสูง และของชำอื่น ๆ ที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน และรับจากซัปพลายเออร์โดยตรง
ย้อนกลับไปที่ จุดเริ่มต้นของ Misfits Market เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2018 หรือไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่คุณ Abhi Ramesh เดินทางไปเก็บแอปเปิลกับเพื่อน ๆ ที่สวนผลไม้ในเพนซิลเวเนีย และได้สังเกตเห็นเกษตรกรกำลังรวบรวมแอปเปิล ที่มีรูปร่างแตกต่างลงไปในถัง เพื่อนำไปทิ้ง
ด้วยเหตุผลที่ว่า แอปเปิลเหล่านั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานด้านรูปลักษณ์ที่ร้านค้าต่าง ๆ มีมาหลายทศวรรษ ส่งผลให้ผู้ปลูกแอปเปิลรายนี้ ต้องทิ้งแอปเปิลเกือบ 20,000 ผล ในแต่ละฤดูกาล
และเมื่อเขาลองนึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น กับผักผลไม้ทุกประเภทที่ต้องเสียไปทุกปี ในฟาร์มทุกแห่งทั่วประเทศ จึงกลายเป็นสาเหตุที่เขาก่อตั้ง Misfits Market เพื่อช่วยแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกินเหล่านี้นั่นเอง
โดยคุณ Abhi Ramesh เริ่มจากการสร้างเว็บไซต์ ด้วยทักษะเขียนโคดที่เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง และตั้งชื่อว่า “Misfits Market” ซึ่งคำว่า Misfit หมายถึงความ “ไม่สมบูรณ์” เช่นเดียวกับสินค้าที่ขาย
ที่น่าสนใจคือ Misfits Market ไม่ได้ขายสินค้า แบบร้านชำทั่วไป แต่จะเก็บเป็นค่าบริการรายสัปดาห์
โดยมีบริการ 2 ตัวเลือกหลัก คือ
“Mischief” กล่องขนาดเล็ก ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกสดหลากชนิด หนัก 4.5-6 กิโลกรัม มีราคาประมาณ 740 บาทต่อสัปดาห์
และ “Madness” กล่องขนาดใหญ่ หนัก 8-10 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,150 บาท
รวมถึงมีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สำหรับสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อเพิ่มเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถหยุดการใช้บริการรายสัปดาห์ชั่วคราว หรือยกเลิกถาวรได้ตลอดเวลา
สำหรับช่วงสี่เดือนแรกของปี 2021 ที่ผ่านมา Misfits Market ได้ให้บริการลูกค้าประจำ 400,000 ราย
จัดส่งสินค้าไปแล้วกว่า 5 ล้านออร์เดอร์ ใน 37 รัฐ ของสหรัฐอเมริกา
และช่วยลดขยะอาหาร น้ำหนักมากกว่า 77 ล้านกิโลกรัม
ทำให้ในเดือนเมษายน ปี 2021 Misfits Market ได้รับการประเมินมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 36,300 ล้านบาท ขึ้นแท่นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นอีกราย เป็นที่เรียบร้อย
และหลังจากนั้นเพียง 5 เดือน ก็มีการระดมทุนอีกครั้ง ในเดือนกันยายน ปี 2021 ส่งผลให้บริษัทได้รับการประเมินมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 66,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมผู้บริโภคถึงยอมจ่ายเงิน ซื้อสินค้าผ่าน Misfits Market ?
นั่นก็เพราะ โมเดลธุรกิจนี้ได้ผสาน 3 องค์ประกอบ ที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ความสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง คือ “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เข้าถึงได้ ในราคาที่ถูกลง”
โดยทั่วไป ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ความสนใจ ก็มักจะมีราคาสูงตามคุณภาพไปด้วย
แต่ผลิตภัณฑ์ของ Misfits Market กลับมีราคาต่ำกว่าราคาร้านขายของชำในท้องตลาดถึง 40%
โดยแบรนด์อ้างว่าช่วยผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 720 บาทต่อสัปดาห์
ซึ่ง Misfits Market สามารถจัดหาอาหารสดคุณภาพสูงในราคาที่คุ้มค่า เนื่องจากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเกษตรกรและผู้ผลิตอาหาร
มากไปกว่านั้น สินค้ายังมีแนวโน้มที่จะสดกว่าที่พบในร้านค้า เพราะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือติดอยู่ในที่จัดเก็บอีกด้วย
อีกทั้ง Misfits Market ทราบดีว่ายังมีอีกหลายล้านครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร การขายสินค้าคุณภาพในราคาประหยัดนี้ ก็ทำให้ผู้คนเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพได้มากขึ้น
สอง คือ “ความยั่งยืน”
รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี เกือบ 1 ใน 3 ของผลผลิตสินค้าเกษตรในสหรัฐอเมริกา ไม่แม้แต่จะถูกเก็บเกี่ยว
เพียงเพราะไม่สวย หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานของซูเปอร์มาร์เกต
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศษอาหารกล่าวว่า “การโยนผลิตผลที่รับประทานได้อยู่ทิ้ง เป็นปัญหาระดับโลก”
แต่ผักและผลไม้ประมาณ 60 ล้านตัน หรือมูลค่า 5,406,400 ล้านบาท ก็ยังคงถูกทิ้งในสหรัฐอเมริกาทุกปี
นอกจากนั้น ผลสำรวจจาก Afresh Technologies พบว่าประมาณ 60% ของผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเศษอาหารเป็นอย่างมาก
รวมถึง รายงานการสำรวจของ Progressive Grocer ยังพบว่า หากผู้ซื้อทราบว่าผู้ค้าปลีกมุ่งมั่นที่จะลดขยะอาหาร พวกเขามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนร้านค้ามากขึ้น โดย 63% รู้สึกว่าจำเป็นต้องซื้อสินค้าที่นั่นมากขึ้น
ซึ่ง Misfits Market เองก็ได้ชูประเด็นสำคัญเรื่องความยั่งยืน ด้วยการจัดการกับขยะอาหารจำนวนมาก หรือผลผลิตน้ำหนักหลายล้านกิโลกรัม ที่อาจต้องสูญเสียเปล่าไปในแต่ละวัน
นอกจากนี้ Misfits Market ยังดึงดูดผู้ซื้อที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยการจัดส่งในบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลและย่อยสลายได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอย รวมถึงลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์อีกด้วย
สาม คือ “อีคอมเมิร์ซ”
อย่างที่เรามักได้ยินว่า โควิด 19 ได้เร่งการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง
การระบาดใหญ่ ส่งผลให้คนอเมริกันหลีกเลี่ยงร้านค้าทางกายภาพ หันมาทำอาหารทานเองที่บ้านแทน ผลักดันให้คนนับล้านซื้ออาหารออนไลน์เป็นครั้งแรก
แน่นอนว่า Misfits Market ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ แต่บริษัทกล่าวว่าขนาดคำสั่งซื้อเฉลี่ยในปัจจุบัน มีมูลค่ามากกว่า 1,745 บาท หรือมากกว่า 2 เท่าของช่วงเปิดตัวธุรกิจ
และทั้งหมดนี้ ก็เป็น 3 องค์ประกอบ ส่วนหนึ่งของสูตรสำเร็จสำหรับ Misfits Market
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของคุณ Abhi Ramesh ที่มากกว่านั้นคือ หวังว่าสินค้าแต่ละกล่องของ Misfits Market จะช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงโลก และช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งเขาเคยได้กล่าวทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์ว่า
“ทุกครั้งที่ลูกค้ายอมรับแคร์รอตโค้ง ๆ หรือแอปเปิลที่มีรอยช้ำ แทนที่จะซื้ออาหารที่ ‘สมบูรณ์แบบ’ ตามมาตรฐานความงาม นั่นแปลว่าพวกเขาได้สนับสนุนการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับเกษตรกรแล้ว”
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.