กรณีศึกษา การปรับตัวของโรงงานแก้ว EasternGlass ในวันที่ประเทศอื่นค่าแรงต่ำกว่า
Business

กรณีศึกษา การปรับตัวของโรงงานแก้ว EasternGlass ในวันที่ประเทศอื่นค่าแรงต่ำกว่า

28 มิ.ย. 2021
กรณีศึกษา การปรับตัวของโรงงานแก้ว EasternGlass ในวันที่ประเทศอื่นค่าแรงต่ำกว่า /โดยลงทุนเกิร์ล
เราคงเคยเห็นข่าวการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย ไปยังประเทศที่มีค่าแรงราคาถูกอยู่บ่อยครั้ง
และในวันนี้มันก็ไม่ได้กระทบกับแค่อุตสาหกรรมเสื้อผ้า หรือยานยนต์เท่านั้น
แต่แม้กระทั่งโรงงานผลิต “แก้ว” ของใช้ชิ้นเล็ก ๆ ที่อยู่คู่บ้านทุกคนก็ยังได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน
แล้วพวกเขาจะเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนี้อย่างไร ?
วันนี้ลงทุนเกิร์ลมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปีเตอร์ พีรัท จงอัศญากุล
ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานแก้วบูรพา หรือ EasternGlass โรงงานแก้วชื่อดังจากย่านฝั่งธน
เรื่องราวของ EasternGlass น่าสนใจอย่างไร ?
และจากโรงงานขายส่ง เปลี่ยนมาเป็นร้านค้าปลีกได้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 2498 หรือเมื่อ 66 ปีที่แล้ว
คุณจิตติ จงอัศญากุล หรือปู่ของคุณปีเตอร์ ได้ก่อตั้งโรงงานแก้วทำมือที่ชื่อว่า “บูรพา” ขึ้น
โดยสินค้าแรกที่โรงงานผลิต ก็คือ “โป๊ะแก้ว” หรือที่ครอบโคมไฟที่ทำจากแก้วนั่นเอง
แต่ต่อมาในรุ่นที่ 2 โรงงานแก้วบูรพาก็ได้หันมาทำสินค้าประเภท แก้วน้ำ จาน ชาม และเชิงเทียน
ในขณะเดียวกันโรงงานยังเริ่มสังเกตว่าตลาดต่างประเทศน่าจะเป็นโอกาสอันกว้างใหญ่ของสินค้าแก้ว
พวกเขาจึงตัดสินใจเดินทางไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศทุก ๆ ปี 
เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และอิตาลี
เรื่องนี้ส่งผลให้โรงงานแก้วบูรพาหันมาพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
รายได้ของโรงงานกว่า 80-90% จะมาจากการรับจ้างผลิต
ให้กับบริษัทต่างชาติในแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย
โดยลูกค้าของโรงงานแก้วบูรพาในขณะนั้นจะเป็นกลุ่มโรงแรม 
และห้างสรรพสินค้าต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งจุดแข็งของโรงงานแก้วบูรพาในสมัยนั้นที่ทำให้บริษัทต่างชาติต้องมาจ้างผลิตที่นี่ ก็คือ
ค่าแรงถูก คุณภาพดี และสามารถผลิตได้ตรงตามแบบที่เขาต้องการ
แต่ช่วงเวลาดี ๆ ก็อาจอยู่กับโรงงานแห่งนี้ได้ไม่นาน
เพราะค่าแรงในไทยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และต้นทุนทางด้านอื่น ๆ ก็สูงขึ้นตลอด
ทำให้บริษัทต่างชาติพากันเปลี่ยนไปซื้อสินค้าในประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าแทน
และถ้าหากจะให้โรงงานแก้วบูรพาเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรเข้าแทนที่การทำแก้วด้วย “มือ” ซึ่งน่าจะช่วยลดต้นทุนลงได้ แต่พวกเขาก็กลับปฏิเสธทางเลือกนี้ 
เพราะโรงงานแก้วบูรพาต้องการรักษาคุณค่าของงาน “ศิลปะทำมือ” 
และยังเห็นถึงความตั้งใจของช่างที่เขาตั้งใจทำแก้วขึ้นมาทุกใบ
ดังนั้นการทำแก้วด้วยมือ จึงได้กลายเป็นเหมือน DNA ของโรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ โรงงานแก้วบูรพา จึงต้องกลับมาทบทวนแล้วว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร 
ในเมื่อไม่สามารถลดคุณภาพ, ต้นทุน และปรับวิธีการผลิตได้
ซึ่งทางออกที่โรงงานแก้วบูรพาเลือกใช้ก็คือ ปรับธุรกิจจาก OEM มาเป็นการค้าปลีก
แต่วิธีที่พวกเขาใช้ก็ไม่ใช่แค่การเอาสินค้ามาวางขายปลีกเท่านั้น
โดยในช่วงแรก พวกเขาได้ใช้พื้นที่ในโรงงานทำแก้ววางขายสินค้า 
ให้คนเห็นว่าที่นี่เป็นโรงงานผลิตแก้วจริง ๆ และลูกค้าจะได้ซื้อสินค้าคุณภาพ ในราคาโรงงาน
ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด
โรงงานแก้วบูรพาจึงได้ขยับขยายโซนขายสินค้าให้กว้างใหญ่ขึ้น
ที่สำคัญคือ พวกเขายังได้สร้าง “คาเฟ” ในบริเวณโรงงานทำแก้วขึ้น
เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นบรรยากาศภายในโรงงานทำแก้ว 
และภายในคาเฟก็จะมีอุปกรณ์เก่า ๆ ที่ใช้ทำแก้ววางประดับอยู่ให้เห็นอย่างหนาตา
อีกทั้งคาเฟแห่งนี้จะถูกต่อเติมใหม่น้อยมาก 
เพื่อให้คงความขลังของบรรยากาศความเป็นโรงงานแก้วที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 66 ปีเอาไว้
จุดนี้เองที่ทำให้ โรงงานแก้วบูรพา หรือที่ปัจจุบันหลายคนคุ้นหูกันในชื่อ EasternGlass เป็นมากกว่าร้านขายแก้วทำมือทั่ว ๆ ไป 
เพราะพวกเขายังมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่มาเยือน ในแบบที่ร้านขายแก้วอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้
ซึ่งหลังจากที่ได้มีการปรับรูปแบบของธุรกิจให้มาเป็นค้าปลีก
พวกเขาต้องรื้อระบบเดิมที่บริษัทมีอยู่เกือบทั้งหมด
และตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ไปจนถึงพนักงาน ต้องปรับมุมมองต่อการทำงานใหม่ให้หมด
เพราะจากเดิมที่ดูแลลูกค้าเพียงไม่กี่ราย และส่วนใหญ่เป็นงานแบบหลังบ้าน 
แต่ในตอนนี้ทุกคนต้องออกมาเจอกับลูกค้า 
และต้องพร้อมต้อนรับลูกค้าวันละเป็นร้อยเป็นพันชีวิตให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป
นอกจากนี้ โรงงานยังต้องทำการตลาดให้เข้มข้นขึ้น
โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ใหม่ให้ดูทันสมัยมากขึ้น 
จากที่ใช้ชื่อว่า โรงงานแก้วบูรพา ตอนนี้ก็ได้หันมาโปรโมตชื่อ EasternGlass ให้เป็นที่รู้จักแทน
ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้สร้างบัญชีโซเชียลมีเดียขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งมา 
และมีการซื้อโฆษณาผ่านทาง Facebook และ Google
พร้อมทั้งจ้างเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ให้มาโปรโมต EasternGlass จนกลายเป็นกระแสที่ทำให้มีอินฟลูเอนเซอร์คนอื่น ๆ พากันมารีวิวโดยไม่ต้องเสียเงินจ้างเพิ่ม
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการตัดสินใจปรับตัวในวันนั้นจะมาได้ถูกทาง
เพราะลูกค้าต่างพากันมาใช้บริการที่ EasternGlass อย่างไม่ขาดสาย
และบางวันก็มีลูกค้ามาใช้บริการสูงสุดถึง 1,000 คนต่อวัน
ยิ่งไปกว่านั้น แบรนด์แก้วจากต่างประเทศ และโรงงานแก้วอื่น ๆ ที่อยู่ในต่างจังหวัดก็พากันติดต่อเข้ามาที่ EasternGlass เพื่อฝากวางขายสินค้า
เพราะในตอนนี้ EasternGlass ได้เป็นเสมือนแหล่งรวมตัวของผู้ชื่นชอบเครื่องแก้วต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
และไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็น EasternGlass ปรับโมเดลธุรกิจกลายมาเป็น Multi-Brand Store ของสินค้าเครื่องแก้วก็เป็นได้..
เรื่องราวของ EasternGlass โรงงานทำแก้วที่ข้ามผ่านเวลามาจนมีทายาทรุ่นที่ 3
ถือเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เราเห็นเลยว่า ธุรกิจที่อยู่รอด ต้องปรับตัวอยู่เสมอ
เราไม่ควรจะเสียเวลายึดติดอยู่กับสิ่งเดิม ๆ ที่ในอดีต “เคยดี”
และถ้าในวันนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว ตัวเราเองก็ควรจะก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน..
Reference:
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณปีเตอร์ พีรัท จงอัศญากุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานแก้วบูรพา หรือ EasternGlass
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.