กรณีศึกษา การ์ตูนเกาหลี กำลังเติบโต ในระดับโลก
Business

กรณีศึกษา การ์ตูนเกาหลี กำลังเติบโต ในระดับโลก

7 ก.พ. 2021
กรณีศึกษา การ์ตูนเกาหลี กำลังเติบโต ในระดับโลก /โดย ลงทุนเกิร์ล
สำหรับคนที่ชื่นชอบการดูซีรีส์เกาหลี คงจะเริ่มสังเกตได้
ในช่วงหลังมานี้ เราจะพบเห็นการนำ “การ์ตูนออนไลน์” มาทำเป็นซีรีส์มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น True Beauty ความลับของนางฟ้า, Love Alarm แอปเลิฟเตือนรัก
หรือ ซีรีส์ระทึกขวัญเรื่องล่าสุดอย่าง “Sweet Home” ที่เพิ่งฉายบน Netflix
ซึ่งผลงานที่กล่าวมาทั้งหมด อาจทำให้เราพูดได้ว่า
“การ์ตูน ไม่ได้เป็นคอนเทนต์สำหรับเด็กอีกต่อไป”
แล้ววงการซีรีส์เกาหลี เห็นโอกาสอะไรจากตลาดการ์ตูนออนไลน์? 
ถึงได้นำการ์ตูนมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ และภาพยนตร์มากมายขนาดนี้
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ประเทศเกาหลี ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ของการผลิตการ์ตูนลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์เลยก็ว่าได้
โดยปัจจุบันตลาดการ์ตูนออนไลน์ในเกาหลี มีมูลค่าถึง 27,225 ล้านบาท
มากไปกว่านั้น การ์ตูนเหล่านี้ยังได้ถูกแปลไปในหลายภาษา และถูกส่งไปสู่หลากหลายประเทศ
ซึ่งแพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักในไทย หนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อ WEBTOON
แต่จริงๆ แล้ว ในเกาหลีนั้น ยังมีอีกหลายบริษัท ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอ่านการ์ตูนออนไลน์
อย่างเช่น KakaoPage, Daum Webtoon และ Lezhin Comics 
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมที่สุดในเกาหลี
แล้วทั้ง 3 แพลตฟอร์มนั้นโดดเด่นอย่างไร ทำไมจึงเป็นที่นิยมในเกาหลี?
สำหรับ WEBTOON ก่อตั้งในปี 2004 โดยอยู่ในเครือ Naver Corporation 
ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นบริษัท Naver Webtoon Corp รวมถึงเพิ่มแผนกที่ผลิตออริจินัลคอนเทนต์ มีชื่อ WEBTOON Studios ในปี 2020
WEBTOON มีคอนเทนต์การ์ตูนบนแพลตฟอร์มให้เลือกอ่านมากกว่า 1,000 เรื่อง 
มีผู้ใช้งานมากกว่า 67 ล้านคน ต่อเดือน และมีผู้ใช้งานกว่า 17 ล้านคนในประเทศไทย
โดยนอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการอ่านการ์ตูนแล้ว 
ยังเปิดโอกาส ให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นการเป็น “นักเขียนการ์ตูน” ได้อีกด้วย 
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ WEBTOON มีจำนวนคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมากขึ้น
มี “ช่องการ์ตูนหน้าใหม่” ให้ นักเขียนสามารถส่งผลงานเข้ามาได้ 
รวมถึงการจัดการประกวดเพื่อสรรหา “นักเขียนหน้าใหม่” ที่มีเสียงตอบรับที่ดีจากผู้อ่าน
ทำให้มีโอกาสได้เซ็นสัญญาเป็นนักเขียนหลักของ WEBTOON
อย่างคุณ Yaongyi นักเขียนเรื่อง True Beauty ความลับของนางฟ้า 
ที่ปล่อยออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2018 จนปัจจุบันมีผู้อ่านถึง 4,000 ล้านครั้ง 
ก็ได้เริ่มต้นจากการเขียนการ์ตูนส่งในช่องการ์ตูนหน้าใหม่เหมือนกัน 
สำหรับ KakaoPage ก่อตั้งในปี 2013 อยู่ในเครือ Kakao Corporation 
เป็นแพลตฟอร์มที่รวมการ์ตูน นิยาย และภาพยนตร์ ไว้ที่เดียว 
โดยมีผู้ใช้งานมากถึง 50 ล้านคนต่อวัน 
ซึ่งอีกแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Daum Webtoon
ก็อยู่ในเครือของ Kakao Corporation เช่นกัน 
ส่วน Lezhin Comics เป็นแพลตฟอร์มของบริษัท Lezhin Entertainment 
ก่อตั้งในปี 2013 เช่นเดียวกันกับ KakaoPage แต่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างชาติมากกว่า
โดยในปี 2018 สามารถทำรายได้ถึง 300 ล้านบาทในตลาดสหรัฐฯ
ซึ่งในปัจุบัน Lezhin มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง เพื่อผลิตออริจินัลคอนเทนต์
ที่นอกเหนือจากการ์ตูน ยังทำซีรีส์ ภาพยนตร์ และวิดีโอเกมส์ที่ถูกพัฒนามาจากการ์ตูนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับ “Anime-Planet” บริษัทที่ผลิตแอนิเมชันชื่อดังของสหรัฐฯ
เพื่อผลิตคอนเทนต์สำหรับตีตลาดในระดับสากลเพิ่มขึ้น
โดย Lezhin Comics จะมีโมเดลธุรกิจที่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น
ตรงที่เป็นแบบ “Premium” ทำให้ผู้ใช้งานต้องจ่ายเงินเพื่ออ่านคอนเทนต์เหล่านั้น
ไม่เหมือนกับโมเดลธุรกิจของ WEBTOON และ KakaoPage ที่เป็นแบบ “Freemium” 
หรือการเปิดให้ลูกค้าใช้บริการแบบ “ฟรี” ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอ่านการ์ตูนบนแพลตฟอร์ม
แล้ว WEBTOON และ KakaoPage หารายได้จากอะไร?
สำหรับการ์ตูนภายใน WEBTOON โดยปกติจะมีการอัปเดตเนื้อหาสัปดาห์ละ 1 ตอนต่อ 1 เรื่อง
แต่ถ้าอยากอ่านเร็วกว่านั้น ผู้อ่านสามารถจ่ายเงิน เพื่อให้มีสิทธิ์ได้อ่านตอนต่อไปก่อนคนอื่น
ส่วนในแพลตฟอร์ม KakaoPage นั้นจะมีการแจกรางวัล สำหรับอ่านการ์ตูนฟรีได้ 1 ตอนทุกๆ 3 วัน ซึ่งเมื่อกดรับสิทธิ์แล้ว ก็ต้องรอไปอีก 3 วัน เพื่อรับคูปองอีกครั้ง 
แต่สำหรับคนที่อดใจรอไม่ไหว ก็เลือกที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการอ่านล่วงหน้า 
พอเติมเงินให้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็ยากที่จะเลิกจ่าย
เพราะเมื่อเราเติมเงินเข้าไปเพื่ออ่านล่วงหน้าเพียง 1 ตอน 
ระยะเวลาที่ต้องรอตอนต่อไปก็ต้องเพิ่มขึ้น 
จากรอแค่ 7 วัน ก็ต้องกลายเป็น 14 วันสำหรับตอนใหม่
ทำให้นักอ่านบางคนอดใจรอไม่ไหว ก็ต้องซื้อต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้อ่านการ์ตูนก่อนใคร
นอกจากรายได้จากนักอ่านแล้ว อีกหนึ่งช่องทางการหาเงินก็คือ “โฆษณา” ภายในเนื้อหาของการ์ตูน ซึ่งจะคล้ายๆ กับการ Tie-in สินค้าในซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ
ซึ่งราคาโฆษณาสินค้าแต่ละตัวก็ไม่ใช่น้อยๆ มักจะขึ้นอยู่กับความดังของการ์ตูน 
โดยเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นหรือมากกว่านั้น
และความโด่งดังของการ์ตูนนี้เองที่ทำให้ “ผู้ผลิต” เริ่มหันมาหยิบเอาการ์ตูนออนไลน์ 
ที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาทำเป็นภาพยนตร์ หรือซีรีส์
เพราะการ์ตูนเหล่านี้มี “ฐานแฟนคลับ” ของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้ผู้สร้างมั่นใจว่าซีรีส์จะมีผู้ชมรอดู 
และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการสร้างจากเรื่องที่ไม่มีคนรู้จัก
แต่การทำซีรีส์จากการ์ตูนออนไลน์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จหมดทุกเรื่อง
เพราะถ้ามีการปรับเนื้อหามากเกินไป หรือสร้างได้ไม่ดีพอ
กระแสก็อาจตีกลับเป็นความไม่พอใจของเหล่าแฟนคลับการ์ตูน
ยกตัวอย่าง เรื่อง Orange Marmalade ซึ่งฉายในช่องใหญ่อย่าง KBS2 ในปี 2015
แต่มีการปรับแต่งเนื้อหา และเพิ่มตัวละครที่ไม่จำเป็นเข้าไป
จึงกลับกลายเป็นว่า ซีรีส์มีเนื้อเรื่องที่ไม่สนุกเหมือนการอ่านการ์ตูน
ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ทำเรตติ้งไปเพียงแค่ 2.4% 
แต่ถึงอย่างนั้น ตลาดการ์ตูนออนไลน์ของเกาหลี ก็ยังเป็นที่น่าจับตามอง
เพราะขนาดแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix ยังเลือกหยิบการ์ตูนหลายๆ เรื่องมาผลิต
ซึ่งต่อไปในอนาคตเราอาจได้เห็นการ์ตูนของเกาหลี ไปโลดแล่นในโรงภาพยนตร์ในระดับสากล
เหมือนมังงะญี่ปุ่น ที่ถูกหยิบไปสร้างเป็นภาพยนตร์
โดยสตูดิโอในฮอลลีวูด และฉายไปทั่วโลกก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.