กรณีศึกษา เจ้าของร้านซูชิ ที่จ้างโจรสลัดโซมาเลีย มาจับ ปลาทูน่า
Business

กรณีศึกษา เจ้าของร้านซูชิ ที่จ้างโจรสลัดโซมาเลีย มาจับ ปลาทูน่า

14 เม.ย. 2024
กรณีศึกษา เจ้าของร้านซูชิ ที่จ้างโจรสลัดโซมาเลีย มาจับ ปลาทูน่า /โดย ลงทุนเกิร์ล
โจรสลัดโซมาเลีย คือ อาชญากร ที่สร้างความเสียหาย หลายหมื่นล้านบาทต่อปี
จนถึงขนาดที่พวกประเทศมหาอำนาจ และ UN
ต้องร่วมกันส่งทหารเรือ และเสียงบประมาณเกือบ 8,000 ล้านบาทต่อปี
รวมไปถึงพวกธุรกิจเดินเรือ ก็ยังต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะต้องนำไปจ้างธุรกิจคุ้มกันเรือสินค้า แบบติดอาวุธ
แต่ทั้งหมดนี้ ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
และเมื่อใดก็ตามที่สบโอกาส เหล่าโจรสลัดโซมาเลีย ก็พร้อมที่จะก่อเหตุได้ทุกเมื่อ
ซึ่งนอกจากวิธีการแก้ปัญหาที่เราได้เล่าไปแล้ว
ก็ยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างการแก้ปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย ที่น่าสนใจ
โดยวิธีนี้ไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แถมยังคิดค้นโดยนักธุรกิจ อย่างคุณคิโยชิ คิมูระ เจ้าของเชนร้านซูชิรายใหญ่ อันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ Sushi Zanmai
แล้วคุณคิโยชิ คิมูระ ใช้วิธีอะไร ?
และทำไมต้องเป็น โจรสลัดโซมาเลีย ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก คุณคิโยชิ คิมูระ
เขาเป็นที่รู้จักในฐานะ “ราชาปลาทูน่า”
จากการสร้างสถิติ ประมูลปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ที่แพงที่สุดในโลก เมื่อปี 2019 ในราคาสูงถึง 116 ล้านบาท เพื่อปลาเพียง 1 ตัว
นอกจากนี้ เขายังมักจะสร้างสถิติการประมูลปลาทูน่า ที่แพงที่สุดในแต่ละปี มาแล้วหลายครั้ง
อย่างเช่น ในปี 2020 ซึ่งเขาได้ประมูลปลาทูน่าครีบน้ำเงิน 1 ตัว ไปในราคา 67 ล้านบาท
ซึ่งการประมูลราคาปลาทูน่า ที่สูงจนน่าประหลาดใจนี้
ยังเป็น Marketing อย่างดีให้กับธุรกิจของเขา
นั่นก็คือ Sushi Zanmai เชนร้านซูชิกว่า 55 สาขา
และถึงจะเห็นว่า มีจำนวนสาขาไม่มาก
แต่ธุรกิจของเขาก็สามารถทำเงินได้หลายพันล้านบาทต่อปี
จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงกล้าประมูลปลาทูน่าตัวละหลายสิบล้าน หรือร้อยล้านบาท
นอกเหนือจากเรื่องความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว
เขาก็ยังได้สร้างตำนาน ด้วยการจ้างโจรสลัดโซมาเลีย มาจับปลาทูน่า เพื่อป้อนวัตถุดิบให้ธุรกิจของเขา
โดยต้นตอสำคัญของปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย เกิดขึ้นจาก สงครามความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งทุกกลุ่มต่างก็พยายามที่จะแย่งชิงอำนาจขึ้นมาปกครองประเทศ
จนทำให้ประเทศแห่งนี้ กลายเป็น “รัฐล้มเหลว” หรือ Failed State
ซึ่งหมายถึง รัฐที่ขาดความมั่นคง และไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมความสงบ และการบริหารจัดการประเทศ จนไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้
หรือถ้าจะให้พูดแบบบ้าน ๆ ก็คือ “บ้านเมือง ไม่มีขื่อ ไม่มีแป” นั่นเอง
เรื่องนี้ทำให้ชาวโซมาเลียบางคน แม้ว่าจะไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นโจรสลัด แต่ก็ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศไม่เหลือหนทางทำมาหากินอะไรให้พวกเขามากนัก
ดังนั้น คุณคิโยชิ คิมูระ จึงได้เข้ามาหยิบยื่นโอกาสกลับใจให้โจรสลัดโซมาเลีย
ด้วยการใช้ทักษะเดินเรือที่พวกเขามี มาเปลี่ยนเป็นการจับปลาทูน่าให้เขา
โดยเขาได้เดินทางไปเจรจากับโจรสลัดโซมาเลียด้วยตัวเอง
พร้อมสนับสนุนเรือประมงทันสมัย
และสอนวิธีการจับปลาอย่างมีประสิทธิภาพ
ไปจนถึง วิธีรักษาความสดของปลา
หลังจากนั้น เขาก็จะรับซื้อปลาทูน่าในราคาที่ยุติธรรม
นอกจากนี้ เขายังช่วยสนับสนุนให้ โซมาเลียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก IOTC หรือ ภาคีคณะกรรมาธิการ ปลาทูน่า แห่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีหน้าที่จัดการทรัพยากรพวกปลาทูน่า ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย
ซึ่งคุณคิโยชิ คิมูระ ก็ได้บอกว่า ทั้งหมดที่เขาทำลงไปนี้ ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเพื่อโลก แต่แค่ทำเพื่อความฝันของเขาเอง
เนื่องจาก ดินแดนของโซมาเลีย ตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งชุกชุมของปลาทูน่า ยิ่งโดยเฉพาะในน่านน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ กับโซมาเลีย ว่ากันว่าเป็นแหล่งที่ปลาทูน่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม และสมบูรณ์มาก แต่ก็ไม่มีใครอยากที่จะเสี่ยงเข้าไปจับเท่าไร เพราะคงไม่คุ้มกัน หากต้องโดนปล้น หรือซ้ำร้ายก็อาจถูกจับเป็นตัวประกัน..
แล้วเราได้เรียนรู้อะไร จากเรื่องนี้บ้าง ?
ต้องบอกว่า ไอเดียของคุณคิโยชิ คิมูระ เป็นแผนการที่ Win-Win กันทุกฝ่าย
เพราะเขาก็ได้วัตถุดิบ ไปขายในร้านของตัวเอง
ส่วนโจรสลัด ก็ได้โอกาสทำมาหากิน แบบไม่ต้องไปปล้นจี้ใคร
ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้เรา ต้องกลับมาคิดใหม่ว่า
ในบางครั้ง ปัญหาที่ทุกคนคิดว่า มันไม่มีทางแก้ไขได้
หรือจริง ๆ แล้ว เราอาจจะแค่ยัง คิดวิธีแก้ไม่ออก มากกว่า..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.