กรณีศึกษา Vincita แบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จบน Amazon
Business

กรณีศึกษา Vincita แบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จบน Amazon

15 ธ.ค. 2020
ทุกวันนี้ ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอด ใครๆ ก็บอกว่าให้ “ไปออนไลน์”
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร
วันนี้ลงทุนเกิร์ล จึงอยากหยิบเรื่องของแบรนด์ Vincita
ธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ที่สามารถใช้โอกาสช่วงวิกฤติโควิดพลิกมาเป็นโอกาส
และกลายเป็นแบรนด์ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มออนไลน์
เรื่องราวของแบรนด์ Vincita น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
มาทำความรู้จักกับแบรนด์ Vincita กันสักนิด
Vincita ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเป๋าและอุปกรณ์จักรยาน
ก่อตั้งโดย คุณยิ่งศักดิ์ และคุณอรภัฏ สิงหเสนี
ทั้งคู่อาศัยประสบการณ์จากการที่เคยทำงานกับโรงงานจำหน่ายยางจักรยาน เริ่มต้นธุรกิจทำแม่พิมพ์ยางจักรยาน โดยทำมาได้สักพัก ก็พบว่าตลาดคนขี่จักรยานมีความต้องการกระเป๋าที่ใช้กับจักรยานอีกด้วย
แรกๆ ก็ไปหาคนที่รับจ้างผลิต ต่อมาจึงขยายจนสามารถเปิดโรงงานของตัวเอง
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการส่งไปขายที่ประเทศแถบยุโรป
เนื่องจากคนยุโรปมีการใช้จักรยานเป็นพาหนะกันอยู่แล้ว
ต่างจากประเทศไทย ที่จักรยานยังไม่เป็นที่นิยมในตอนนั้น
ซึ่งคำสั่งซื้อส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นแบบ OEM หรือการรับจ้างผลิต แล้วลูกค้าจะไปติดแบรนด์ของตัวเอง
แต่ทางบริษัทก็มีการพัฒนาแบรนด์ของตัวเองควบคู่ไปด้วย ภายใต้ชื่อ Vincita นั่นเอง
ต่อมาคุณเจม อิศราภา สิงหเสนี ลูกสาวของคุณยิ่งศักดิ์ ก็ได้เข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจต่อจากคุณพ่อ
โดยธุรกิจของ Vincita ก็ยังเน้นไปที่การขายล็อตใหญ่เป็นหลัก
มียอดขายเข้ามาทุกปี
ซึ่งจริงๆ แล้ว Vincita ก็มีความคิดที่จะขยายไปจับกลุ่มลูกค้ารายย่อยเช่นกัน
โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ผ่านการขายปลีกบนเว็บไซต์ของตัวเอง
ในปี 2561 คุณยิ่งศักดิ์ ก็แนะนำให้คุณเจม ศึกษาเรื่องการวางขายสินค้าบน Amazon.com
เพราะมองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เปิดสู่สหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ และเป็นประเทศที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว
ตอนนั้นคุณเจม จึงเข้าร่วมโครงการ Jump Start ของ Amazon Global Selling
ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการถ่ายรูปสินค้า การใช้คีย์เวิร์ดเพื่อให้ลูกค้าค้นหาสินค้าเจอ
อย่างไรก็ตามด้วยปริมาณคำสั่งซื้อเดิมที่มีมากอยู่แล้ว
ทำให้คุณเจมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับช่องทางนี้มากนัก
จนกระทั่งช่วงโควิด 19 ที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ ได้เลื่อนออร์เดอร์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
และก็เป็นช่วงเวลานี้เอง ที่ทำให้คุณเจมหันกลับมาสนใจ Amazon.com อีกครั้ง
โดยครั้งนี้คุณเจมยังได้ความช่วยเหลือจาก ทีม Amazon Global Selling
ซึ่งได้เข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการเพิ่มยอดขาย
ตั้งแต่การเตรียมตัวสำหรับเทศกาลลดราคาต่างๆ การกำหนดแคมเปญการตลาด
รวมถึงการจัดงานสัมมนา เพื่อให้ความรู้กับเหล่าผู้ประกอบการ ทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้ผลิตชาวไทยที่ขายอยู่บน Amazon
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ก็เรียกได้ว่าดีตั้งแต่เดือนแรก
โดยคุณเจม คาดการณ์ว่า เฉพาะช่องทางนี้อย่างเดียว
คิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของยอดขายทั้งหมด
ทั้งที่เพิ่งเริ่มกลับมาขายผ่าน Amazon อย่างจริงจัง ไม่ถึงปี
นอกจากนั้นการนำสินค้าขึ้นไปขายบน E-commerce ระหว่างประเทศ สำหรับ Vincita แล้ว ยังทำให้แบรนด์มีอิสระมากขึ้น
จากที่แต่ก่อนเวลาจะส่งออกสินค้าอะไร ก็มักจะมีข้อจำกัดจากตัวแทนผู้จัดจำหน่าย
Feedback ที่ได้รับ ก็ไม่ได้มาจากลูกค้าโดยตรง
Amazon จึงเหมือนเป็นตัวเชื่อม ที่ปิดช่องว่างระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
เปิดโอกาสให้ Vincita ได้ค้นพบความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า นำข้อผิดพลาดมาพัฒนาผลิตภัณฑ์
และยังเป็นที่สำหรับทดลองตลาด เพราะสามารถเริ่มผลิตมาจำนวนน้อยๆ
เพื่อดูเสียงตอบรับของลูกค้าก่อนได้
อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีคนเริ่มสนใจอยากจะนำของขึ้นไปขายบน Amazon บ้าง
เพราะถือว่าเป็นประตูสู่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่
แต่ก็เป็นกังวลในเรื่องของการจัดการสต็อกสินค้า และการขนส่ง
เรื่องนี้คุณเจมก็ได้เล่าถึงบริการ Fulfillment by Amazon หรือ FBA
ซึ่งเป็นบริการสำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าบน Amazon ทุกราย ทำหน้าที่เป็นคลังสินค้า จัดการงานหลังบ้านต่าง ๆ แทนผู้ประกอบการ
ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้า เมื่อมีคำสั่งซื้อ ทางเจ้าหน้าที่ของ Amazon จะหยิบสินค้า ใส่บรรจุภัณฑ์ และจัดส่งถึงมือผู้ซื้อ รวมทั้งจัดการเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งการรับคืนสินค้า การคืนเงิน และบริการอื่น ๆ
แล้วถ้าเราเป็นแบรนด์ไทย ที่อยากไปไกลสู่ตลาดโลกอย่าง Vincita ต้องทำอย่างไร?
Amazon Global Selling มีการจัดโปรแกรม Jump Start เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ขายออนไลน์
มีทีม Amazon Global Selling ในประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนแบรนด์ไทยโดยเฉพาะ
ตั้งแต่กระบวนการสมัคร การนำสินค้าขึ้นแพลตฟอร์ม การบริหารร้านค้า ระบบคลังสินค้า
รวมถึงการขนส่งสินค้า และระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนั้นทาง Amazon ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในด้านโลจิสติกส์ เครื่องมือและบริการต่างๆ รวมทั้งพัฒนาทีมบุคลากร เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มยอดขายได้
ซึ่งในปัจจุบันก็มีเครื่องมือและบริการมากกว่า 135 อย่างที่เป็นตัวช่วยผู้ประกอบการในการบริหารจัดการธุรกิจ
Amazon มี Fulfillment Center กว่า 175 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการจัดการสต็อกและการส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
ที่สำคัญคือมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ที่มีความต้องการสินค้าหลากหลายประเภทจากประเทศไทย
อย่างสินค้าที่ขายดีตอนนี้ ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง จิลเวลรี่ อุปกรณ์กีฬา ของแต่งบ้าน เป็นต้น
ดังนั้นแล้วถ้าใครต้องการพาแบรนด์ของตัวเองไปสู่ระดับสากล
ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก
Amazon ก็น่าจะเป็นช่องทางที่น่าสนใจ
ที่ช่วยพาให้แบรนด์ของเราไปถึงจุดนั้น..
ทาง Amazon กำลังเตรียมจัดงาน Amazon Global Selling Thailand Seller Conference 2020 ระหว่าง 17 – 18 ธันวาคม 2563 นี้ ซึ่งเป็นงานสัมมนาออนไลน์ครั้งใหญ่ที่สุดประจำปีสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยจะมีการนำเสนอข้อมูล เนื้อหาและความรู้ครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ การคัดเลือกสินค้า การจัดการด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า การเริ่มต้นธุรกิจกับ Amazon และสร้างยอดขายให้เติบโต การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ฯลฯ
โดยงานนี้เปิดให้ผู้ประกอบการ ทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้ผลิตชาวไทย และผู้สนใจเข้าฟังฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!
หากคุณกำลังสนใจที่จะทำธุรกิจส่งออกสินค้าสู่ต่างประเทศกับ Amazon และอยากเรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์และความช่วยเหลือของ Amazon สำหรับผู้ประกอบการไทย เทรนด์โลกของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และความมุ่งมั่นของ Amazon ในการนำสินค้าไทยไปสร้างความเติบโตในตลาดโลก รวมทั้งรับฟังข้อมูลอินไซต์ แนวทางการทำธุรกิจ และประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้วบน Amazon ต้องไม่พลาดงานนี้!
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่นี่ https://bit.ly/3gHYcc5
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.