กรณีศึกษา “กีวี” ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน แต่ไปได้ดีที่นิวซีแลนด์
Economy

กรณีศึกษา “กีวี” ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน แต่ไปได้ดีที่นิวซีแลนด์

15 ธ.ค. 2023
กรณีศึกษา “กีวี” ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากจีน แต่ไปได้ดีที่นิวซีแลนด์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
เชื่อว่าหลายคนในที่นี้คงเข้าใจว่า ผลไม้ “กีวี (Kiwi)” ต้องมีต้นกำเนิดมาจากประเทศนิวซีแลนด์
แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้ว ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกีวี ไม่ได้มาจากนิวซีแลนด์ แต่มาจากประเทศจีน
ที่สำคัญ ชื่อเดิมของผลไม้นี้ ก็ไม่ได้เรียกว่า กีวี แต่กลับเรียกว่า “Mihoutao” (หมีโหวเถา) ซึ่งเป็นภาษาจีน
กระทั่งชาวนิวซีแลนด์ ได้นำเมล็ดต้นของกีวี เข้ามาปลูกในประเทศ และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “Kiwifruit” ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า “Kiwi” จนทุกวันนี้คนทั่วโลก และแม้แต่ชาวจีนเอง ก็ยังเรียกชื่อนี้กัน..
มากไปกว่านั้น หากพูดในเชิงปริมาณผลผลิต นิวซีแลนด์เองก็ยังเป็นฐานผู้ผลิตกีวีรายใหญ่ อันดับที่ 2 ของโลกรองจากจีน โดยผลผลิตกีวีกว่า 30% ที่คนทั่วโลกได้บริโภคกันนั้น ล้วนเป็นของนิวซีแลนด์
และไม่ใช่แค่เรื่องปริมาณ แต่เรื่องคุณภาพ กีวีของนิวซีแลนด์ ก็เป็นสิ่งที่ประทับใจชาวโลกเช่นกัน
ถึงขนาดที่ผู้คนต่างยกสมญานามให้กับประเทศนี้ว่า “ดินแดนแห่งผลไม้กีวี” กันเลย
แล้วอะไร ทำให้นิวซีแลนด์ กลายมาเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้กีวี ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
เมล็ดต้นกีวี ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศนิวซีแลนด์ เป็นครั้งแรกในปี 1904 หรือเมื่อ 119 ปีที่แล้ว
โดยคุณ Mary Isabel Fraser ครูใหญ่แห่งวิทยาลัยสตรี Wanganui ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนคณะมิชชันนารี ซึ่งเผยแพร่คริสต์ศาสนา ในเมืองอีชาง มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน
ระหว่างที่คุณ Fraser อาศัยอยู่ที่นั่น เธอได้มีโอกาสทานผลไม้พื้นเมืองของจีนชื่อ “หมีโหวเถา” (ซึ่งมันก็คือกีวี) และเธอติดใจในรสชาติของมันมาก ทำให้เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางกลับนิวซีแลนด์ เธอจึงเก็บเมล็ดพันธุ์กีวีติดมือกลับมาด้วย
ต่อมาคุณ Fraser ได้นำเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว ไปให้แก่คุณ Alexander Allison ซึ่งเป็นชาวสวนในวิทยาลัย ช่วยทดลองเพาะพันธุ์ให้
จนกระทั่งในปี 1910 ต้นกีวีที่ปลูกไว้ ก็เริ่มผลิผลออกมาครั้งแรก และพวกเขาก็ตั้งชื่อเรียกใหม่ให้มันว่า “Chinese Gooseberry”
ด้วยความที่ Chinese Gooseberry เป็นของแปลกใหม่ในนิวซีแลนด์ บวกกับรูปลักษณ์ที่แปลกตา และรสชาติที่อร่อยเปรี้ยวอมหวานของมัน จึงทำให้มันได้รับความสนใจจากชาวนิวซีแลนด์เป็นอย่างมาก และกลายมาเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา
จนถึงปี 1920 เจ้า Chinese Gooseberry ก็เริ่มถูกเหล่าเกษตรกรนำมาเพาะปลูก และพัฒนาสายพันธุ์กันอย่างจริงจังมากขึ้น และเกิดเป็นอุตสาหกรรมเพาะปลูกขนาดใหญ่ ทั้งในเมือง Whanganui, Auckland, Tauranga และ Fielding
และเมื่อผลผลิตของ Chinese Gooseberry มีบริโภคในประเทศจนมากเกินพอ ทำให้ในปี 1950 นิวซีแลนด์จึงเริ่มขยายการค้าขายเชิงพาณิชย์ และส่งออกผลผลิตของตนเอง ไปยังนอกประเทศเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ในปี 1950 เป็นช่วงของยุคสงครามเย็น ทำให้การนำผลไม้ในชื่อ Chinese Gooseberry ไปตีตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร อาจเป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม
เพื่อหลีกเลี่ยงความหมายเชิงลบ นิวซีแลนด์ จึงเปลี่ยนชื่อเรียกผลไม้นี้ใหม่เป็น “Melonettes”
แต่ชื่อใหม่นี้ก็ยังไม่เข้าท่า เพราะคำว่า “Melone” ทำให้มันถูกจัดเข้าไปอยู่ในพืชตระกูลแตง ซึ่งในสมัยนั้นผลไม้ชนิดนี้ จะต้องเสียภาษีนำเข้าที่สูง ทำให้เสียเปรียบเรื่องการส่งออก จนสุดท้ายนิวซีแลนด์จึงตั้งชื่อเรียกใหม่อีกครั้งว่า “Kiwifruit”
โดยชื่อนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ลักษณะภายนอกของผล ที่มีสีน้ำตาลอ่อนและขนเล็ก ๆ คล้ายกับนกกีวี ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของนิวซีแลนด์ นอกจากนี้คำว่า “Kiwi” ยังบังเอิญไปคล้ายกับ ชื่อเรียกชาวนิวซีแลนด์อีก
ทำให้สุดท้ายชื่อผลไม้กีวี ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ ที่สร้างแบรนด์แทนประเทศให้กับนิวซีแลนด์ ไปในที่สุด
และเจ้าผลไม้นี้ ยังสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกมหาศาล ซึ่งในปี 2022 นิวซีแลนด์ ส่งออกผลไม้กีวี ไปได้มากกว่า 102,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แค่การเปลี่ยนชื่อเรียกเฉย ๆ คงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้นิวซีแลนด์ กลายมาเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้กีวี เพราะมันยังมีอีกหลายอย่าง ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เช่น
การรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกีวี ในรูปแบบสหกรณ์
ในปี 1987 นิวซีแลนด์ประสบปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกกีวี เริ่มแข่งขันกันเองภายในประเทศ ทั้งด้านราคาและปริมาณผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรกว่า 91% เริ่มประสบภาวะขาดทุน
ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่าเจ้าของสวนกีวี จึงหันมารวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ด้วยการก่อตั้งคณะกรรมการตลาดผลผลิตกีวีแห่งนิวซีแลนด์ ขึ้นมา รวมถึงมีการจัดตั้งสหกรณ์กีวีแห่งแรก และแห่งเดียวในนิวซีแลนด์ขึ้น ที่ชื่อว่า “Zespri International Limited” เมื่อปี 1988
ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรทุกคนได้มีส่วนร่วม ในการเป็นเจ้าของผลผลิตกีวีร่วมกัน และช่วยกันกำหนดราคา ควบคุมคุณภาพผลผลิต ไปจนถึงการจัดหาตลาด และร่วมกันออกแบรนด์สินค้าภายใต้ชื่อเดียวกัน ซึ่งก็คือ “Zespri™ Kiwifruit” ที่หลาย ๆ คนเคยทานกัน นั่นเอง
การสร้างจุดขายให้สินค้า และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ
ในปี 1990 กลุ่มสหกรณ์ Zespri ได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์กีวี ร่วมกับ Plant & Food Research ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่รัฐบาลนิวซีแลนด์เป็นเจ้าของ จนทำให้ Zespri สามารถเพาะปลูกกีวีคุณภาพ ได้หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะ “Sun Gold” กีวีสีเหลืองทอง สายพันธุ์แรกของโลก
ซึ่งต่อมา กีวี Sun Gold ก็ได้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสายพันธุ์กีวีที่ขายดีที่สุดของ Zespri แม้ว่ามันจะมีราคาที่สูงกว่ากีวีสายพันธุ์อื่น ๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ในปี 1994 กลุ่มสหกรณ์และรัฐบาลนิวซีแลนด์ ยังได้ร่วมกันก่อตั้ง NZKGI ซึ่งเป็นองค์กรที่คอยให้การควบคุม และกำกับดูแลภาพรวมของอุตสาหกรรมผู้ปลูกกีวีในนิวซีแลนด์
รวมถึงประเด็นด้านคุณภาพ ก็มีการก่อตั้งองค์กร KNZ เพื่อช่วยดูแลเรื่องผลผลิตของกีวี ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เมื่อพวกมันถูกส่งออกไปยังตลาดโลก อีกด้วย
การใช้กลยุทธ์สร้างซัปพลายเชนเป็นของตนเอง กระจายอยู่ทั่วโลก
ในปัจจุบัน Zespri ได้ร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกกีวี นอกประเทศนิวซีแลนด์กว่า 1,500 ราย ในอีก 5 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส กรีซ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดต้นทุนในด้านการขนส่ง และกระจายผลผลิต
อีกทั้งเพื่อรองรับความต้องการของตลาดไม่ให้ขาดช่วง เพราะด้วยผลผลิตกีวีในนิวซีแลนด์ ไม่ได้มีให้เก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงต้องกระจายฐานการผลิต ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค ที่ Zespri เข้าไปทำการตลาด ในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
และด้วยจำนวนผู้ปลูกกีวีนับพันราย บวกกับการมีฐานผลิตอยู่หลายแห่ง จึงส่งผลให้วันนี้ Zespri International Limited กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตกีวี รายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของนิวซีแลนด์ “ดินแดนแห่งผลไม้กีวี” ที่บอกให้เรารู้ว่า ทุกฉายาย่อมมีที่มา..
นิวซีแลนด์ ไม่เพียงแต่เอาเมล็ดหมีโหวเถา จากจีนมาปลูกเฉย ๆ เท่านั้น แต่พวกเขากลับนำไปพัฒนาสายพันธุ์ และเพิ่มมูลค่าให้สินค้า แถมยังได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ
รวมถึงวางแผนกระจายผลผลิต ให้ครอบคลุมทุกความต้องในตลาดโลก
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม นิวซีแลนด์ ถึงสามารถปลุกปั้นให้ กีวี เฉิดฉายในระดับโลกได้
และหากทุกครั้งที่ได้ลิ้มลองกีวีสักลูก
ชื่อของ “นิวซีแลนด์” ก็จะเป็นประเทศแรก ที่คนทั่วโลกนึกถึง..
---------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จัก และสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
---------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.