
Business
รู้จัก HEYTEA ร้านชาชีส ที่เป็นคู่แข่ง Starbucks ในประเทศจีน
10 มี.ค. 2022
รู้จัก HEYTEA ร้านชาชีส ที่เป็นคู่แข่ง Starbucks ในประเทศจีน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“Made in China” จากภาพจำในอดีตของใครหลาย ๆ คน อาจสื่อถึงความหมายเชิงลบ หรือนึกถึงสินค้าคุณภาพต่ำ รวมถึงการผลิตที่ผิดจรรยาบรรณ
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ดังกล่าว ก็ได้เลือนไปจากชาวจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ซึ่งมีสัดส่วน 15% ของประชากร และกำลังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยคนกลุ่มนี้ เริ่มหันมาสนใจแบรนด์และผลิตภัณฑ์ในประเทศ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน หรือเป็นกระแสที่เรียกว่า “Guochao” ต่างจากเดิมที่ถูกมองว่าขาดสไตล์ และด้อยกว่าแบรนด์จากต่างประเทศ
และหนึ่งในแบรนด์ที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ก็คือ “HEYTEA” เชนร้านชายักษ์ใหญ่ ที่มีผลิตภัณฑ์ยอดนิยม คือ “ชาชีส” ซึ่งครองส่วนแบ่งในตลาดร้านกาแฟและชาในประเทศจีน เป็นอันดับ 2 รองจาก Starbucks
ที่น่าสนใจคือ การที่ HEYTEA รุกเข้าสู่ธุรกิจกาแฟ ด้วยการวางขายกาแฟ เพิ่มท็อปปิงฟองชีส ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Starbucks ระบุในรายงานประจำปี 2020 ว่า “การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ สู่ตลาดกาแฟชนิดพิเศษในจีน” เป็นหนึ่งในความเสี่ยงทางธุรกิจ อีกด้วย
เรื่องราวของ HEYTEA น่าสนใจอย่างไร ?
แล้วแบรนด์ใช้กลยุทธ์อะไรถึงมาต่อกรกับ Starbucks ได้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แล้วแบรนด์ใช้กลยุทธ์อะไรถึงมาต่อกรกับ Starbucks ได้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
HEYTEA ก่อตั้งโดยคุณ Nie Yunchen ชายวัย 21 ปี ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านเครื่องดื่มชามาก่อน ซึ่งเขาได้เปิดกิจการร้านชานมแห่งแรกที่ชื่อ ROYAL TEA ในเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง ปี 2012
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ยอดขายกลับไม่ดีอย่างที่เขาคิด
ซึ่งคุณ Nie Yunchen ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และมองหาแรงบันดาลใจในการปรับปรุงธุรกิจเล็ก ๆ ของเขาแทน
ซึ่งคุณ Nie Yunchen ก็ไม่ได้ยอมแพ้ และมองหาแรงบันดาลใจในการปรับปรุงธุรกิจเล็ก ๆ ของเขาแทน
เขาเลือกศึกษาเกี่ยวกับ Starbucks เชนร้านกาแฟยอดนิยมในจีน ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ และการให้ความสำคัญกับลูกค้ามาเป็นอันดับแรก
ที่น่าสนใจคือ หลังจากเขาสังเกตเห็นว่า “ชีส” เป็นหนึ่งในรสชาติอาหารที่ถูกพูดถึงมากที่สุดใน Weibo เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน เขาจึงเริ่มวางขายชาชีส ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า
ต่อมาคุณ Nie Yunchen จึงได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก ROYAL TEA เป็น HEEKCAA เนื่องจากปัญหาในการจดทะเบียนการค้า ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “HEYTEA”
แล้วนอกจากเรื่องรสชาติเฉพาะของเครื่องดื่ม HEYTEA กลยุทธ์อะไร ถึงเอาชนะใจผู้บริโภคชาวจีนได้ ?
1.คุณภาพผลิตภัณฑ์
คุณ Nie Yunchen มองว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ดี คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ และความสามารถในการแข่งขัน”
HEYTEA จึงเคร่งครัดกับการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ใบชาพรีเมียม, นมสด และผลไม้สด
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพซัปพลายเชน เนื่องจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ มักเสี่ยงที่จะเสื่อมคุณภาพ จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ, สถานที่, ฤดูกาล และการขนส่ง
ดังนั้น HEYTEA จึงได้พัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่แบรนด์ควบคุมได้
ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกชา, การเก็บเกี่ยว, การผสมชา และการขนส่ง เพื่อลดผลกระทบด้านลบ ระหว่างที่วัตถุดิบหลักของแบรนด์ต้องเคลื่อนตามห่วงโซ่อุปทาน
2.การสร้างแบรนด์ และวางตำแหน่งแบรนด์ระดับพรีเมียม
เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ HEYTEA จึงได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตา
สำหรับเครื่องดื่มเย็น จะเสิร์ฟในแก้วโปร่งใส เพื่อโชว์สีสันสวยงามของเครื่องดื่ม ส่วนเครื่องดื่มร้อนจะใช้ถ้วยกระดาษ เพื่อกันความร้อน
อีกทั้ง สร้างความประทับใจจากประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า เช่น การที่พนักงานจะถามลูกค้าว่า พวกเขารู้วิธีดื่มชาของแบรนด์หรือไม่ แล้วแนะนำว่าการดื่มชาชีสควรจะยกแก้วเอียง 45 องศา หรือไม่แนะนำให้กวนชา
ทั้งนี้ ร้านค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ จะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและบนถนนช็อปปิง หรือในพื้นที่ที่วัยรุ่นมักแวะเวียนมาบ่อย ๆ เพื่อเน้นภาพลักษณ์ว่าเป็น แบรนด์ที่ทันสมัยและล้ำสมัย
ด้านการกำหนดราคา ขณะที่ราคาเครื่องดื่มต่อแก้ว ของแบรนด์ชานมที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน เช่น Coco Dukou, Miguo, Happy Lemon และ Gong Cha จะเฉลี่ยประมาณ 15 หยวน หรือ 77 บาท
แต่ราคาเครื่องดื่มต่อแก้วของ HEYTEA อยู่ที่ 46-155 บาท โดยราคาหลัก ๆ จะเฉลี่ยประมาณ 25 หยวน หรือประมาณ 130 บาท ซึ่งสูงกว่าร้านชานมทั่วไป แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาเครื่องดื่มของร้านกาแฟอย่าง Starbucks
3.ทำความเข้าใจผู้บริโภค และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
HEYTEA คอยพัฒนาผลิตภัณฑ์สม่ำเสมอ โดยอ้างอิงจากความคิดเห็นของลูกค้าเป็นหลัก
เช่น เมื่อแบรนด์พบว่า “กลุ่มผู้หญิงอายุน้อยจะชอบเครื่องดื่มสดชื่น มากกว่าเครื่องดื่มรสชาติเข้มข้น” แบรนด์ก็ได้คิดค้นการผสมชาที่ผ่านกระบวนการคั่วเพื่อลดความขม ในขณะที่ยังคงความสดของใบชา
หรือการเปิดตัวสารให้ความหวาน-แคลอรีต่ำ เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์รักสุขภาพของคนยุคใหม่ ซึ่งใช้กระบวนการ R&D เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุดเมื่อนำมาผสมกับชา
ในขณะเดียวกัน HEYTEA ยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นประจำ โดยมีรายงานว่าในปี 2020 แบรนด์ได้เปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ 43 รายการ นั่นหมายความว่ามีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว
4.มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า
HEYTEA มีการออกมินิโปรแกรมบน WeChat ชื่อว่า “HEYTEA GO” ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าทางออนไลน์ ไม่ต้องไปยืนต่อแถว โดยระบบจะบอกสถานะสินค้า พอใกล้ถึงคิว ลูกค้าจึงค่อยมารับเครื่องดื่ม
ซึ่งกลยุทธ์นี้ ช่วยให้เวลารอคิวของลูกค้าลดลงโดยเฉลี่ยถึง 1 ใน 3 จากเวลารอปกติ ตอบโจทย์ชาวจีนรุ่นใหม่ในเมือง ที่มีวิถีชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบาย และการบริการที่รวดเร็ว
อีกทั้ง ร้านค้าบางสาขาก็ได้ทำการติดตั้งตู้เก็บชาอัจฉริยะ ที่ปลดล็อกผ่านโทรศัพท์ของลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถบริการตนเองได้ โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้คน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ที่ผ่านมา
5.การสร้างแบรนด์ร่วม (Co-Branding)
HEYTEA มีชื่อเสียงด้านการทำแคมเปญร่วมกับแบรนด์ชั้นนำอยู่บ่อยครั้ง ครอบคลุมตั้งแต่ แบรนด์เครื่องสำอาง, แฟชั่น, ดนตรี, อาหาร, เคสโทรศัพท์ หรือแม้แต่แบรนด์ถุงยางอนามัย
เช่น การร่วมมือกับ Fenty Beauty ประกาศการกลับมาของชาพีชชีส พร้อมบลัชออนสีหวานและกระเป๋าเครื่องสำอาง พร้อมติดแฮชแทก #FentyFaceFresh บน Weibo จนมีผู้เข้าชมมากกว่า 40 ล้านครั้ง
รวมถึงการจับมือกับแบรนด์ลูกอม White Rabbit ที่ถือเป็นความทรงจำในวัยเด็กของชาวจีนเกือบทุกคนที่เกิดหลังปี 1990
โดยวางขายไอศกรีมและชานมรสลูกอม White Rabbit ในจำนวนจำกัด เรียกได้ว่า เป็นการครอสโอเวอร์ ที่ใช้ประโยชน์จากความคิดถึงของผู้บริโภควัยหนุ่มสาว นั่นเอง
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ HEYTEA ยังมีจุดแข็งเรื่อง “Hunger Marketing” กล่าวง่าย ๆ คือ กลยุทธ์ด้านจิตวิทยาที่เล่นกับกิเลสของคน กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค
โดยสังเกตได้จากความนิยมของแบรนด์ ส่งผลให้สถานที่ใดที่มีร้าน HEYTEA ตั้งอยู่ ก็จะมีผู้คนต่อคิวยาว ซึ่งส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง หรือบางสาขาอาจยาวนานถึง 6 ชั่วโมง
นอกจากนั้น HEYTEA ยังจำกัดการซื้อของลูกค้าแต่ละคนไว้ที่ 3 แก้ว ทำให้ยิ่งกระตุ้น ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้ามาครอง ตามมาด้วยการที่ลูกค้ามักจะโพสต์รูปบนโซเชียลมีเดีย เพื่ออวดความสำเร็จอีกด้วย
แล้วถ้าถามว่ากลยุทธ์ของคุณ Nie Yunchen ประสบความสำเร็จแค่ไหน ?
เราคงดูได้จากการเติบโตของ HEYTEA ทั่วประเทศจีนและในต่างประเทศ
เราคงดูได้จากการเติบโตของ HEYTEA ทั่วประเทศจีนและในต่างประเทศ
ณ สิ้นปี 2019 มีร้านค้าจำนวน 390 แห่ง ใน 43 เมือง
ณ สิ้นปี 2020 มีร้านค้าจำนวน 695 แห่ง ใน 61 เมือง
ณ สิ้นปี 2020 มีร้านค้าจำนวน 695 แห่ง ใน 61 เมือง
ล่าสุด ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 มีร้านค้าจำนวน 897 แห่ง ใน 70 เมือง
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของแบรนด์เครื่องดื่มที่นักลงทุนมองว่าเป็นคู่แข่งของ Starbucks ในตลาดร้านกาแฟและชาของประเทศจีน อีกทั้งยังเรียก HEYTEA ว่า “Starbucks แห่งประเทศจีน”
ซึ่งคุณ Nie Yunchen ก็เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“ทำไม HEYTEA จะต้องเป็น Starbucks
แต่ HEYTEA อาจเป็นมากกว่า Starbucks ก็ได้นะ”
“ทำไม HEYTEA จะต้องเป็น Starbucks
แต่ HEYTEA อาจเป็นมากกว่า Starbucks ก็ได้นะ”
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
HEYTEA เคยเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ HEEKCAA และเพิ่งจะปิดให้บริการไปในปี 2020
HEYTEA เคยเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ HEEKCAA และเพิ่งจะปิดให้บริการไปในปี 2020
References:
-http://www.odditycentral.com/news/cheese-topped-ice-tea-is-apparently-a-thing-and-people-are-queuing-for-hours-for-a-cup.html
-https://www.cnbc.com/2021/04/28/rising-competition-for-starbucks-in-china-from-hey-tea-and-others.html
-https://daxueconsulting.com/the-secret-recipe-of-heyteas-buzz-in-china-2/
-https://www.thepeakmagazine.com.sg/interviews/heytea-founder-neo-nie-business-success/
-https://www.chinatechblog.org/blog/heytea-on-creating-tea-culture-2-0-2-2
-https://daoinsights.com/works/heytea-a-stylish-tea-milk-and-master-of-co-branding/
-https://electrodealpro.com/what-can-we-see-from-the-annual-report-of-hey-tea/
-https://equalocean.com/news/2022022617055
-http://www.odditycentral.com/news/cheese-topped-ice-tea-is-apparently-a-thing-and-people-are-queuing-for-hours-for-a-cup.html
-https://www.cnbc.com/2021/04/28/rising-competition-for-starbucks-in-china-from-hey-tea-and-others.html
-https://daxueconsulting.com/the-secret-recipe-of-heyteas-buzz-in-china-2/
-https://www.thepeakmagazine.com.sg/interviews/heytea-founder-neo-nie-business-success/
-https://www.chinatechblog.org/blog/heytea-on-creating-tea-culture-2-0-2-2
-https://daoinsights.com/works/heytea-a-stylish-tea-milk-and-master-of-co-branding/
-https://electrodealpro.com/what-can-we-see-from-the-annual-report-of-hey-tea/
-https://equalocean.com/news/2022022617055