Coffee Meets Bagel แอปเดตออนไลน์ ที่เคยปฏิเสธเงิน 1,000 ล้านบาท
Business

Coffee Meets Bagel แอปเดตออนไลน์ ที่เคยปฏิเสธเงิน 1,000 ล้านบาท

3 ก.ย. 2021
Coffee Meets Bagel แอปเดตออนไลน์ ที่เคยปฏิเสธเงิน 1,000 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่าในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาของปี 2020 มีคนหันมาเดตกันผ่านออนไลน์มากขึ้น
โดย Tinder ได้ออกมาเปิดเผยว่าในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2020 มีคนปัด Tinder รวมกันสูงสุดถึง 3,000 ล้านครั้งต่อวัน
ในขณะเดียวกัน Bumble ก็มีผู้ใช้งานการสนทนาทางวิดีโอเพิ่มขึ้นถึง 70% และ OkCupid
หนึ่งในแพลตฟอร์มเดตออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 700% ด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญคือแนวโน้มตลาดการเดตผ่านออนไลน์เองก็กำลังค่อย ๆ เติบโตขึ้นในทุก ๆ ปี
โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มหันมาเปิดใจกับการเดตออนไลน์มากขึ้น
ซึ่งในวันนี้ลงทุนเกิร์ลจะขอมาพูดถึงอีกแอปพลิเคชันเดตออนไลน์ที่มีชื่อว่า Coffee Meets Bagel
ที่ถึงแม้จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวเล็ก ๆ ในตลาดแอปพลิเคชันเดตออนไลน์ แต่ก็มีฟีเชอร์ที่น่าสนใจ จนทำให้ตัวบริษัทนั้นถูกประเมินมูลค่าไว้ที่เกือบ 5,000 ล้านบาท
Coffee Meets Bagel น่าสนใจอย่างไร ?
และต่างจากแอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์เจ้าอื่นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Coffee Meets Bagel มาจาก 3 สาวพี่น้อง Dawoon, Arum และ Soo Kang ครอบครัวชาวเกาหลีที่ได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเด็ก และด้วยพื้นฐานของที่บ้าน ซึ่งประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว ก็ทำให้ทั้ง 3 พี่น้องฝันอยากจะทำธุรกิจส่วนตัวเหมือนกัน
เมื่อทั้ง 3 คนเติบโตขึ้น คุณ Arum ได้เกิดไอเดียที่อยากจะทำแอปพลิเคชัน Coffee Meets Bagel ขึ้น เนื่องจากเธอมองเห็นช่องว่างในตลาดแอปพลิเคชันเดตออนไลน์ที่มีอยู่ในตอนนั้น
โดยช่องว่างที่ว่าก็คือ อัตราส่วนของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเดตออนไลน์ ที่มีผู้ชายมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิง ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะบางครั้งผู้ชายบางกลุ่มก็ชอบกระทำพฤติกรรมที่ไม่ดี อย่างเช่น
การสุ่มทักผู้หญิงทุกคนที่มีอยู่ในแอปพลิเคชันแบบเล่น ๆ โดยไม่คิดจริงจัง
และจากปัญหานี้ก็ทำให้เป็นจุดกำเนิดของแอปพลิเคชัน Coffee Meets Bagel ในปี 2012 โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างประสบการณ์ในการเดตออนไลน์ที่ดียิ่งขึ้น ทั้งสำหรับผู้ชายและผู้หญิง
ส่วนชื่อ Coffee Meets Bagel ก็มาจากไอเดียว่า พวกเธอต้องการตีตลาดคนกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะตั้งตารอ “ช่วงพักดื่มกาแฟ” และสิ่งที่ทานเข้าคู่กับกาแฟได้อย่างดีก็คือ “เบเกิล” หนึ่งในขนมที่นิยมในนิวยอร์ก
ทำให้เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็น Coffee Meets Bagel ที่ตัวแอปพลิเคชันเองก็จะอัปเดตรายชื่อคนใหม่ ๆ ที่น่าจะเข้าคู่กับเราได้ในช่วงตอนกลางวันของทุก ๆ วันเช่นกัน
แล้วจุดเด่นของ Coffee Meets Bagel ที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากแอปพลิเคชันหาคู่อื่น ๆ คืออะไร ?
หากพูดถึงแอปพลิเคชันหาคู่ที่ใคร ๆ ก็รู้จักอย่าง Tinder ก็มีวิธีการใช้งานที่ค่อนข้างง่ายมากทีเดียว
คือ สมัครสมาชิก กรอกข้อมูลส่วนตัวนิดหน่อย เลือกรูปภาพ แล้วก็พร้อมลุย
รักใคร ชอบใครก็ปัดขวา
ส่วนคนที่ไม่ถูกใจก็ปัดซ้าย
ซึ่งการปัดนี้ก็ทำได้ไม่จำกัด อยากปัดเท่าไรก็ได้
แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้ง Coffee Meets Bagel มองว่ามันเป็นปัญหา เพราะคนจะคิดน้อยลงในการเลือกคู่ ทำให้เรามีโอกาสจะเจอคนที่ไม่ได้จริงจังได้
Coffee Meets Bagel จึงออกแบบให้ไม่สามารถปัดเลือกคู่ได้ตลอดเวลา โดยตัวแอปพลิเคชันจะใช้ “เมล็ดกาแฟ” เปรียบเสมือนกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายหากถูกใจใคร ส่งผลให้เวลาที่เราจะถูกใจใครสักคน ก็ต้องใช้เวลาประเมินเล็กน้อยว่าคนนี้ถูกใจเราแล้วหรือยัง เพราะถ้าหากเมล็ดกาแฟไม่พอ ตอนเจอคนที่ถูกใจ ก็คงจะเป็นเรื่องเศร้า
ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏอยู่ใน Coffee Meets Bagel เองก็ค่อนข้างละเอียดทีเดียว
เนื่องจากตัวแอปพลิเคชันไม่สามารถล็อกอินผ่าน Facebook ได้ทำให้ผู้สมัครต้องกรอกข้อมูล
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ น้ำหนัก ส่วนสูง ระดับการศึกษา อาชีพ รวมไปถึงศาสนาให้พิจารณาด้วย
ทั้งนี้รายชื่อของบุคคลที่ปรากฏให้เห็นในแอปพลิเคชันนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่ม Suggested และ Discover ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็จะแตกต่างกันตรง “การใช้เมล็ดกาแฟ”
โดย Suggested จะเป็นกลุ่มคนที่ตัวแอปพลิเคชันเลือกมาให้เราว่า คนนี้น่าจะเหมาะกับเรา
และรายชื่อในส่วนนี้ก็จะอัปเดตทุก ๆ วันตอนเที่ยง ซึ่งหากเราถูกใจคนในกลุ่มนี้ก็จะเสียเมล็ดกาแฟไม่เยอะ
แต่ถ้าในกรณีที่เรารู้สึกว่า คนที่แอปพลิเคชันแนะนำมายังไม่ถูกใจเรา ก็สามารถย้ายไปดูในหน้า Discover ได้ ซึ่งการเลือกคนในหน้านี้แหละ ที่เราจะเสียเมล็ดกาแฟจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ชื่อของเราไปขึ้นบนหน้า Suggested ของคนนั้น
ซึ่งจริง ๆ แล้ว Coffee Meets Bagel ก็ยังมีฟีเชอร์เสริมอื่น ๆ อย่างเช่น การจ่ายเมล็ดกาแฟเพิ่มขึ้น เพื่อเหมือนกับเป็นการส่งดอกไม้ให้อีกฝ่าย ทำให้เพิ่มโอกาสที่พวกเขาหรือพวกเธอจะกดถูกใจเราด้วยเช่นกัน
โดยเจ้าเมล็ดกาแฟนี้ ก็สามารถหาเพิ่มได้จากการกดปฏิเสธคนที่ไม่ต้องการหรือเติมเงินก็ได้เช่นกัน
หลังจากทำทั้งหมดนี้แล้ว สิ่งต่อไปก็แค่รอให้ทั้ง 2 ฝ่ายใจตรงกัน การสนทนาถึงจะเริ่มต้นขึ้นได้นั่นเอง
แต่ก็อย่าคุยกันในแอปพลิเคชันจนเพลินนะคะ เพราะที่พิเศษมากไปกว่านั้นคืออายุแช็ตที่อยู่ใน Coffee Meets Bagel นั้นจะมีแค่ 7 วันเท่านั้น
หรือก็คือถ้าหลังจาก 7 วันที่เริ่มแช็ตกันแล้ว ไม่มีการแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่ออื่น คู่นั้นก็จะหมดโอกาสที่จะคุยกันต่อ
กลายเป็นว่าความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ในด้านฟีเชอร์ของตัวแอปพลิเคชันนี่เอง ที่ทำให้ Coffee Meets Bagel ประสบความสำเร็จ แม้จะต้องอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
และมีเจ้าตลาดใหญ่ ๆ อย่าง Tinder และ Bumble อยู่แล้วก็ตาม
โดยความเห็นส่วนหนึ่งรู้สึกว่าผู้ใช้งานใน Coffee Meets Bagel มีคุณภาพและโปรไฟล์ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับแอปพลิเคชันหาคู่อื่น ๆ
นอกจากนั้น อีกเรื่องที่ทำให้ Coffee Meets Bagel กลายเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา คือช่วงปี 2015 ที่สามพี่น้องตระกูล Kang ได้ไปออกรายการ Shark Tank
Shark Tank เป็นรายการเรียลลิตีที่เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัปหรือธุรกิจหน้าใหม่ เข้ามาแข่งขันเพื่อพิชิตเงินลงทุนจากนักลงทุนในรายการ
ในตอนนั้น Coffee Meets Bagel เข้ามาขอเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17 ล้านบาท โดยแลกกับหุ้น 5%
แต่ทางด้านนักลงทุนกลับมองว่าแม้คอนเซปต์จะดี แต่ผลประกอบการยังขาดทุนอยู่ สุดท้ายคุณ Mark Cuban หนึ่งในนักลงทุนของรายการจึงเสนอไปว่า เขาจะยอมจ่ายเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,000 ล้านบาท เพื่อซื้อ Coffee Meets Bagel
แน่นอนว่าวินาทีแรกที่ได้ยินดีลนี้ สามพี่น้องตระกูล Kang ก็อึ้งไปชั่วขณะ แต่หลังจากนั้นพวกเธอก็ได้ปฏิเสธเงินก้อนโตนี้ไปในทันที
โดยพวกเธอมองว่า ธุรกิจที่พวกเธอทำนั้นไม่ได้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลักพันล้านเท่านั้น
แต่ในอนาคตบริษัทของพวกเธอจะต้องเติบโตมากกว่านี้ และมีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านแน่นอน
ถึงแม้ในตอนนั้นพวกเธอจะสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชม ที่กล้าปฏิเสธเงินจำนวนมาก แต่หากมองในวันนี้บริษัทของพวกเธอเองก็มีมูลค่าสูงกว่าที่คุณ Mark Cuban ประเมินไว้เช่นกัน
ปัจจุบัน Coffee Meets Bagel นั้นมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนและยังคงเติบโตต่อไป
ซึ่งเรื่องราวของ สามพี่น้อง Kang ก็คงแสดงให้เราเห็นแล้วว่า
การที่จะทำธุรกิจในตลาดที่มีเจ้าตลาดนั้น หากเรามองหาช่องว่างในตลาดนั้นเจอ เราก็สามารถเป็นหนึ่งในผู้เล่นได้เช่นกัน
และที่สำคัญคือ ต้องมองการณ์ไกลและมั่นใจในสินค้าที่ตัวเองทำอยู่เสมอ
เพราะถ้าหากว่าพี่น้อง Kang ยอมขายแอปพลิเคชันนี้ไปตั้งแต่ตอนนั้น
พวกเธออาจจะไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของความสำเร็จในวันนี้ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.