ทำไม Spotify ถึงสนใจตีตลาดเพลง ในเกาหลีใต้
Uncategorized

ทำไม Spotify ถึงสนใจตีตลาดเพลง ในเกาหลีใต้

11 ก.พ. 2021
ทำไม Spotify ถึงสนใจตีตลาดเพลง ในเกาหลีใต้ /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากพูดถึงแพลตฟอร์มการฟังเพลงในไทย Spotify ก็คงจะติดอยู่อันดับต้นๆ 
ซึ่งปัจจุบัน Spotify ให้บริการในกว่า 93 ประเทศทั่วโลก 
โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา Spotify ก็เพิ่งจะประสบความสำเร็จ
ในการเข้าสู่ตลาดใหญ่ๆ อย่าง รัสเซีย และอินเดียด้วย
และล่าสุด Spotify ก็กำลังจะบุกตลาดเพลงของเกาหลีใต้
แล้วสงสัยกันหรือไม่คะ ว่าทำไม Spotify ถึงเพิ่งมาเริ่มตีตลาดเกาหลีใต้เอาตอนนี้
ทั้งที่อุตสาหกรรมเพลงของประเทศนี้ ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก 
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
เรามาดูถึงความแข็งแกร่งของ Spotify กันก่อนดีกว่าค่ะ 
Spotify เป็นสตรีมมิงเพลงยักษ์ใหญ่จากประเทศสวีเดน
ที่มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 345 ล้านคนต่อเดือน
และประมาณ 155 ล้านคน เป็นสมาชิกแบบพรีเมียม
เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก  
เพราะนอกจากจะมีจำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้นทุกๆ ปีแล้ว 
เกือบครึ่งยังเป็นสมาชิก ที่ยอมจ่ายรายเดือนให้กับ Spotify ด้วย
แล้ว Spotify เห็นโอกาสอะไรกับอุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีใต้?
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่ Spotify นำเพลย์ลิสต์ K-Pop ลงสู่แพลตฟอร์ม และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงทั่วโลก 
มากไปกว่านั้นเพลงเกาหลีหลายเพลง ยังสามารถติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของท็อปเพลย์ลิสต์ และมียอดสตรีมมิงที่สูงอีกด้วย
อย่างในปีที่ผ่านมา เพลง “Dynamite” ของวง BTS 
ก็มียอดสตรีมสูงสุดถึง 2.6 ล้านครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
ซึ่งก็ถือว่าเพลงของเกาหลี ประสบความสำเร็จอย่างมากบน Spotify 
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เราคงคิดว่า Spotify ก็น่าจะบุกตลาดเพลงในประเทศเกาหลีใต้ได้ไม่ยาก
แต่จริงๆ แล้ว ระบบสตรีมมิงเพลงออนไลน์ในตลาดเกาหลีใต้ มีการแข่งขันที่น่ากลัวเลยทีเดียว
โดยผู้เล่นหลักๆ ที่เป็นบริษัทในประเทศ ได้แก่ MelOn, Genie และ FLO  
รวมทั้งยังมี YouTube Music Premium และ Apple Music 
แพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับสากล ที่เข้ามาตีตลาดอยู่ก่อนแล้วด้วย 
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นท้องถิ่นก็ยังสามารถครองตลาดได้อย่างเหนียวแน่น
MelOn จากบริษัท Kakao มีสัดส่วน 40.3% 
Genie จากบริษัท KT มีสัดส่วน 24.6%
FLO จากบริษัท SK Telecom มีสัดส่วน 17.7%
ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ แพลตฟอร์มในประเทศ เริ่มเปิดให้คนมาใช้บริการอยู่ก่อนแล้ว
อย่าง MelOn ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีสมาร์ตโฟนเสียอีก ปัจจุบันจึงมีฐานผู้ใช้งานถึง 28 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมดในประเทศเลยทีเดียว
นอกจากนั้น อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สตรีมมิงของเกาหลีมีผู้ใช้งานจำนวนมาก
เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเพลง 
นั่นก็คือ “การจัดอันดับชาร์ตเพลง”
หากเพลงไหนที่มียอดฟังหรือยอดดาวน์โหลดสูง 
ก็มีสิทธิ์ที่จะติดอยู่อันดับต้นๆ ของชาร์ตเพลง
และมีโอกาสชนะรางวัลในรายการเพลงต่างๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ มานี้ ก็เริ่มมีผู้เล่นต่างประเทศ ก้าวเข้าสู่ตลาดสตรีมมิงของเกาหลีใต้มากขึ้น 
เริ่มจาก Apple Music ที่เข้ามาตอนปี 2016 
ตามมาด้วย YouTube Music Premium ในปี 2020 
โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ที่ค่อยๆ มาแย่งส่วนแบ่งตลาดเจ้าตลาดเดิม
ซึ่งจากความน่าสนใจทั้งในด้านตลาดเพลงเกาหลี 
ประกอบกับความสำเร็จที่เป็นของแพลตฟอร์มต่างชาติ 
ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จึงดึงดูดให้ Spotify ผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกอีกราย ให้ก้าวเข้าสู่ตลาดนี้ด้วย 
ที่น่าสนใจอีกเรื่อง ก็คือ โมเดลธุรกิจของทุกแพลตฟอร์มที่กล่าวมา
จะเป็นแบบ “พรีเมียม” หรือต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกก่อน ถึงจะสามารถใช้บริการได้
ดังนั้น Spotify ในเกาหลีใต้ จึงจะให้บริการเฉพาะแบบพรีเมียมเช่นกัน
แล้วการเข้าไปตีตลาดสตรีมมิงของ Spotify จะส่งผลอย่างไรต่อวงการเพลงในเกาหลีใต้? 
ด้วยความที่ Spotify เป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงสากล และมีเครือข่ายผู้ใช้งานไปทั่วโลก 
จึงเป็นเหมือนช่องทางที่ทำให้คนทั่วโลก เข้าถึงเพลงเกาหลีได้มากขึ้น 
นอกจากนั้นในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังเป็นที่รวบรวมเพลงของศิลปินหลายๆ ชาติ
ที่ไม่สามารถหาฟังได้จากแพลตฟอร์มของเกาหลีใต้เองด้วย
ก็น่าติดตามว่า ด้วยจุดแข็งหลายๆ อย่างของ Spotify ที่เคยเอาชนะใจผู้ฟังทั่วโลกมาแล้ว
เมื่อต้องมาเจอกับเจ้าตลาดเดิมอย่างผู้เล่นในประเทศเกาหลีใต้ 
ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.