FENDI จากร้านเครื่องหนังริมถนน สู่แบรนด์หรูที่ LVMH Prada และ GUCCI แย่งกันซื้อ
Business

FENDI จากร้านเครื่องหนังริมถนน สู่แบรนด์หรูที่ LVMH Prada และ GUCCI แย่งกันซื้อ

18 มิ.ย. 2023
FENDI จากร้านเครื่องหนังริมถนน สู่แบรนด์หรูที่ LVMH Prada และ GUCCI แย่งกันซื้อ /โดย ลงทุนเกิร์ล
“FENDI” คืออีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นหรู ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอิตาลี ดินแดนแห่งแฟชั่น เคียงคู่ฝรั่งเศส
ซึ่งนอกจากชื่อเสียง และลายโมโนแกรม FF ที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว
ประวัติความเป็นมาของ FENDI ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลย
รู้หรือไม่ว่า FENDI เนื้อหอม ขนาดที่ว่าครั้งหนึ่ง 3 อาณาจักรแบรนด์หรูยักษ์ใหญ่ ต่างพากันรุมล้อม เพื่อแย่งกันซื้อกิจการ ทั้ง
-LVMH บริษัทแม่ของ Louis Vuitton, Dior, Celine และอีกกว่า 75 แบรนด์
-PRADA บริษัทแม่ของ PRADA, MIU MIU, Church’s, CAR SHOE และ Marchesi 1824
-GUCCI บริษัทแบรนด์หรูแนวหน้าของโลก (ซึ่งต่อมา GUCCI ถูก Kering เข้าซื้อกิจการ)
อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะการประมูลในครั้งนั้น ก็คือ LVMH และ PRADA
โดย LVMH และ PRADA ได้เข้ามาซื้อหุ้น 51% ของ FENDI (ถือหุ้นคนละ 25.5%)
ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,030 ล้านยูโร หรือเมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันแล้ว จะมีมูลค่าสูงถึง 64,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม กว่า FENDI จะก้าวสู่การเป็นแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกได้ ก็ต้องใช้เวลาสั่งสมเรื่องราวและชื่อเสียงของแบรนด์ ร่วม 98 ปี
แล้วเส้นทางเกือบศตวรรษของ FENDI น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในปี 1925
เมื่อคู่สามีภรรยาชาวอิตาลี คุณ Edoardo และคุณ Adele Fendi ได้เปิดร้านบูติก ชื่อว่า “FENDI” ตามชื่อสกุลของพวกเขา บนริมถนน Via del Plebiscito ใจกลางกรุงโรม
ซึ่งร้านเล็ก ๆ แห่งนี้เปิดให้บริการตัดเย็บกระเป๋า เครื่องหนัง รวมถึงเสื้อขนสัตว์
และจากฝีมือการตัดเย็บสุดประณีต บวกกับคุณภาพของสินค้า ทำให้ FENDI เป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มสาว ๆ ชนชั้นสูง ที่แวะเวียนมาอุดหนุนไม่ขาดสาย
ส่งผลให้กิจการของพวกเขาเริ่มเติบโต พร้อมกับสินค้าในนามของ FENDI ก็ค่อย ๆ กลายมาเป็นภาพจำของสัญลักษณ์แห่งความหรูหรา ที่ใช้บ่งบอกถึงการแสดงฐานะ
กระทั่งในปี 1954 คุณ Edoardo ผู้เป็นสามีเสียชีวิต ทำให้คุณ Adele ตัดสินใจยกธุรกิจให้ลูกสาวทั้ง 5 คน เข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจต่อ อย่างเต็มตัว
ซึ่งการเข้ามารับไม้ต่อ ของสายเลือดใหม่ในรุ่นที่ 2 นี้ ก็ทำให้ FENDI เริ่มเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู และไต่ระดับสู่การเป็นแบรนด์แฟชั่นหรูที่ทรงอิทธิพลมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่ในปี 1965 กับการตัดสินใจเลือกคุณ Karl Lagerfeld มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ คอยดูแลงานด้านการออกแบบของแบรนด์
โดยคุณ Lagerfeld ได้เข้ามาสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับ FENDI เริ่มตั้งแต่การปรับภาพลักษณ์จากภาพจำ แบรนด์ของกลุ่มชนชั้นสูง ให้กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ทันสมัย และเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น
ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเสื้อผ้าขนสัตว์ จากลุคเดิมที่ใส่แล้วดูใหญ่โอ่อ่า ก็หันมาเลือกใช้วัสดุที่ทันสมัย มีน้ำหนักที่เบาสบาย ปรับดิไซน์ให้สวมใส่ได้ทั้งสองด้าน
รวมถึงใส่ความเป็นแฟชั่นลงไป ด้วยการเพิ่มสีสัน พื้นผิว และลวดลายต่าง ๆ กลายเป็นเสื้อขนเฟอร์ที่มีลูกเล่นแปลกใหม่ แฝงด้วยความสนุกสนาน
มากไปกว่านั้น คุณ Lagerfeld ยังได้รังสรรค์โลโกและลายโมโนแกรม เป็นซิกเนเชอร์ของแบรนด์เอง นั่นก็คือ ตราดับเบิล “FF” ที่ย่อมาจาก “Fun Furs”
เพื่อนำมาประยุกต์ใช้บนสินค้าต่าง ๆ ของแบรนด์ ช่วยสร้างเอกลักษณ์ และการจดจำให้แบรนด์ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลยุทธ์นี้ได้ผล เพราะต่อให้ไม่มีชื่อแบรนด์บนสินค้า เห็นแต่เพียงอักษรหรือลายโมโนแกรม “FF” เชื่อว่าหลายคนในที่นี้ ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า เสื้อผ้าหรือกระเป๋าใบนั้น เป็นของ FENDI
ตัดภาพมาในช่วงทศวรรษ 1970 ภายใต้การนำของคุณ Lagerfeld
แบรนด์ FENDI ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเดินหน้ารังสรรค์คอลเลกชันสินค้าอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการเปิดตัวเสื้อผ้าสำเร็จรูป (Ready to Wear) ที่เน้นสไตล์เรียบง่าย แต่คงความโก้หรู
ตามมาด้วยไลน์รองเท้า น้ำหอม และอุปกรณ์เครื่องประดับอย่าง แว่นตา, ผ้าพันคอ, หมวก และเข็มขัด
จนในช่วงทศวรรษ 1980 แบรนด์ FENDI ยังได้ขยายกิจการไปยังตลาดสากลเป็นครั้งแรก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
และอีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ การเปิดตัวกระเป๋า Fendi Baguette ในปี 1997 ที่ออกแบบโดยคุณ Silvia Venturini Fendi ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล
ซึ่งกระเป๋ารุ่นนี้ ได้แรงบันดาลใจจากผู้หญิงชาวฝรั่งเศส ที่มักจะเหน็บขนมปังบาแก็ตไว้ใต้วงแขน
จึงออกแบบกระเป๋ารุ่นนี้ ให้สามารถพกพาได้อย่างสะดวกสบาย เหมือนขนมปังก้อนหนึ่งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเรื่องนี้ ยังต้องยกเครดิตให้กับซีรีส์ดังเรื่อง Sex and the City ​​ที่ตัวเอกของเรื่อง ชอบหยิบนำกระเป๋า Fendi Baguette มาใช้
ส่งผลให้กระเป๋ารุ่นนี้กลายเป็น “It Bag” หรือกระเป๋ายอดนิยม ที่ต้องมีไว้ข้างกายแห่งยุค 90s เลยทีเดียว
ซึ่งปัจจุบัน กระเป๋ารุ่นนี้ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีตลอดกาลของแบรนด์อีกด้วย
มาถึงปี 1999 ด้วยการเติบโตที่ไม่หยุดหย่อนของ FENDI จึงได้ไปเตะตาคุณ Bernard Arnault ซึ่งเป็น CEO ของ LVMH และคุณ Patrizio Bertelli ซึ่งเป็น CEO ของ PRADA
จนทั้งคู่ตัดสินใจเข้ามาซื้อหุ้นของ FENDI ร่วมกันอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น โดยมีเป้าหมายที่จะปั้นให้ FENDI เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้น
แต่แล้วในปี 2001 PRADA ก็ต้องตัดสินใจขายหุ้น FENDI ที่ตนเองถืออยู่จำนวน 25.5% ให้กับ LVMH เนื่องจากขณะนั้นบริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน
และในขณะเดียวกันฝั่ง LVMH ก็ค่อย ๆ ไล่เก็บหุ้นของ FENDI จนปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากการสูญเสียดิไซเนอร์คู่บุญอย่างคุณ Lagerfeld ที่ร่วมปลุกปั้นแบรนด์ FENDI มายาวนานถึง 54 ปี ก็ได้ผู้ที่ขึ้นมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนถัดไป เป็นคุณ Kim Jones ที่เคยร่วมงานกับ Louis Vuitton Men และ Dior Men มาก่อน
โดยครั้งนี้คุณ Jones ได้เพิ่มความท้าทาย รับหน้าที่ดูแลฝั่งเสื้อผ้าสุภาพสตรี ของ FENDI ควบคู่ไปกับการดูแล Dior Men
ส่วนฝั่งสุภาพบุรุษและเครื่องประดับ คุณ Silvia ทายาทรุ่นที่ 3 จะเข้ามาช่วยอีกแรง
จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคต FENDI ในมือของคุณ Jones และคุณ Silvia จะไปในทิศทางใดต่อไป
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวเกือบ 100 ปี ของ FENDI ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ริมถนน
แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบที่เต็มไปด้วยคุณภาพ บวกกับคุณค่าที่สั่งสมมานาน
ทำให้วันนี้ “FENDI” กลายมาเป็นหนึ่งในแบรนด์หรูทรงอิทธิพลระดับโลก ที่แทบไม่มีใครไม่รู้จัก..
Tag:Fendi
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.