ทำไม บริษัทอิตาลี อย่าง PRADA ถึง IPO ในตลาดหุ้น ฮ่องกง ?
Business

ทำไม บริษัทอิตาลี อย่าง PRADA ถึง IPO ในตลาดหุ้น ฮ่องกง ?

11 ต.ค. 2024
ทำไม บริษัทอิตาลี อย่าง PRADA ถึง IPO ในตลาดหุ้น ฮ่องกง ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า PRADA ใช้เวลาเกือบ 100 ปี กว่าจะตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น แถมตลาดที่เลือกไป IPO ก็ยังไม่ใช่ประเทศบ้านเกิด อย่างอิตาลี แต่กลับเป็น “ฮ่องกง”
ซึ่งนอกจาก PRADA แล้ว ก็ยังมีบริษัทกระเป๋าเดินทาง ที่ใหญ่สุดในโลกสัญชาติ “อเมริกัน” อย่าง Samsonite เลือกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วยเช่นกัน
แล้วทำไมบริษัทอิตาลีอย่าง PRADA ถึง IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
PRADA เริ่มจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นในปี 2011 ซึ่งบริษัทใช้เวลาวางแผน และเตรียมตัวกว่า 10 ปี เลยทีเดียว
โดยในตอนแรก บริษัทได้เล็งว่าจะ IPO ในตลาดหุ้นอิตาลี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ PRADA
แต่ก่อนที่จะได้มีการ IPO ตลาดหุ้นอิตาลีกลับอยู่ในช่วงขาลง จนทำให้มูลค่าทั้งตลาดหุ้นอิตาลี หายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี
ดังนั้น บริษัทจึงต้องเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ ที่เหมาะกับการ IPO และฮ่องกงก็ถือเป็นคำตอบ..
โดยในขณะนั้น ตลาดหุ้นฮ่องกง ถือว่ากำลังร้อนแรง
The Wall Street Journal ได้รายงานว่า 1 ปีก่อนที่ PRADA จะทำการ IPO
ตลาดหุ้นฮ่องกง เป็น “ตลาด IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
โดยมีบริษัทที่ IPO ในปีนั้นมากถึง 87 บริษัท และคิดเป็นมูลค่าจากการ IPO กว่า ​​2 ล้านล้านบาท
ในขณะเดียวกัน ฮ่องกงก็ยังถือเป็น “ศูนย์กลางการเงิน” ที่ติด Top 3 ของโลก เป็นรองเพียงลอนดอน และนิวยอร์กเท่านั้น
แต่ถ้าดูในช่วงนั้น ตลาดหุ้นฝั่งลอนดอน และนิวยอร์ก ก็ดูจะไม่ค่อยฮอตเท่าฮ่องกง
เพราะถ้าหากดูจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE)
แม้ว่าจะมีบริษัทที่ IPO ถึง 99 บริษัท ซึ่งมากกว่าฮ่องกง ในช่วงเวลาเดียวกัน
แต่มูลค่าจากการ IPO รวมทั้งตลาด กลับอยู่ที่เพียง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าฮ่องกง เกือบครึ่งหนึ่ง
ส่วนตลาดหุ้นลอนดอน ที่ในปี 2007 เคยเป็นตลาดที่มีมูลค่าการ IPO สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แต่พอมาในปี 2010 กลับมีบริษัทที่ทำการ IPO อยู่เพียง 50 บริษัท รวมเป็นมูลค่าเพียง 4 แสนล้านบาท
ซึ่งสาเหตุก็มาจากการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี จากเป็นพรรคแรงงาน มาเป็นพรรคอนุรักษนิยม ทำให้หลายฝ่ายกังวล เรื่องความไม่แน่นอน ส่งผลให้หลายบริษัทเลือกที่จะเลื่อนการ IPO ออกไป หรือบางรายก็เลือกที่จะไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอนเลย
ถัดมาอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ อย่าง “กองทุน China Investment Corporation (CIC)”
ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ สำหรับลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก และขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ยังใช้กองทุน CIC เพื่อสนับสนุนการเสนอขายหุ้น IPO ในบางบริษัทด้วย
โดยรัฐบาลจีนจะใช้กองทุน CIC เข้าไปซื้อหุ้น IPO และจะไม่ทำการขายหุ้นตัวนั้น เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
และตามการรายงานของ Bloomberg ยังระบุว่า ปีที่บริษัท L'Occitane ได้ทำการ IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกง รัฐบาลจีนก็ใช้กองทุน CIC เข้าลงทุนเป็นเงินเกือบ 1,800 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนั้น อีกสาเหตุสำคัญก็คือ เอเชียแปซิฟิก เป็นตลาดหลักของสินค้าแบรนด์หรู
หากดูจากสัดส่วนรายได้ของบริษัท PRADA ก็จะพบว่า
ปี 2009 รายได้จากเอเชียแปซิฟิก คิดเป็น 29.2%
ปี 2010 รายได้จากเอเชียแปซิฟิก คิดเป็น 38.3%
ปี 2011 รายได้จากเอเชียแปซิฟิก คิดเป็น 42.5%
หรือแม้กระทั่งในปี 2023 ที่ผ่านมา
รายได้ของบริษัท PRADA กว่า 47% ก็มาจากเอเชียแปซิฟิก
เราจะเห็นได้ว่า รายได้จากพื้นที่ดังกล่าว มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ก็เพราะ “ชาวจีน” ที่กำลังร่ำรวยขึ้น
ดังนั้น การที่ PRADA เลือกจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ส่วนหนึ่งก็เพื่อเข้าใกล้ตลาดที่กำลังเติบโตสูง และลูกค้ากลุ่มสำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการระดมทุนนั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ผู้ที่นำบริษัท PRADA เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็คือ คุณ Miuccia Prada หลานสาวคนเล็กของผู้ก่อตั้ง PRADA ซึ่งเธอถูกขนานนามว่าเป็นคนที่มีความคิดแบบ “หัวขบถ”
เรื่องราวของเธอจะน่าสนใจอย่างไร ?
ติดตามต่อได้ที่ https://www.longtungirl.com/1440
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.