Fran's ร้านอาหารเช้า ของคุณปลา iberry ทำรายได้ 61 ล้านบาท ตั้งแต่เปิดปีแรก
Business

Fran's ร้านอาหารเช้า ของคุณปลา iberry ทำรายได้ 61 ล้านบาท ตั้งแต่เปิดปีแรก

1 มิ.ย. 2023
หลังจากเมื่อปีที่แล้ว คุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์
ได้เปิดตัวแบรนด์น้องใหม่อย่าง Fran's (แฟรนส์)
ที่มาในคอนเซปต์ Brunch and all day dining
แถมยังเลือกตั้งร้านแบบสแตนด์อะโลน ใจกลางสาทร
ซึ่งร้าน Fran's ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาดตั้งแต่เปิดตัว
มีผู้มาใช้บริการสูงถึง 360 คนต่อวัน และโต๊ะถูกจองคิวยาวเหยียด
จนทำให้ร้าน Fran's ต้องเร่งพัฒนาระบบจองคิว ให้สามารถรองรับความต้องการจำนวนมากของลูกค้า
ล่าสุด บริษัท เดอะ แพลทเทอส์ มหานคร จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร Fran's และร้านอาหารเวียดนาม Ăn Cơm Ăn Cá (เพิ่งเปิดตัว ก.ย. 2565)
ได้รายงานผลประกอบการ ปี 2565 ผลปรากฏว่า
มีรายได้ 61 ล้านบาท
มีกำไร 4.7 ล้านบาท
ซึ่งจะเห็นได้ว่า รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตเร็วมาก แม้จะเพิ่งดำเนินธุรกิจมาได้เพียง 1 ปี ก็ตาม..
แล้วกว่าจะมาเป็น Fran's คุณปลา มีแนวคิดอะไรบ้าง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ถ้าเราอยากเปิดร้านอาหารสักแห่ง
บางคน อาจเริ่มต้นจากการเลือกเมนู หรือคอนเซปต์ร้าน
แต่สำหรับร้าน Fran's เริ่มต้นมาจาก “ทำเล” ที่สวย จนคุณปลาอยากนำมาเปิดร้าน
โดยตัวอาคาร จะเป็นตึกที่โปร่งโล่ง
มีเพดานเป็นกระจกใส เหมือนเรือนกระจก
ล้อมรอบด้วยสวนและต้นไม้ใหญ่ ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็น ทำเล ที่หายากมาก ในใจกลางเมือง
ดังนั้น เมื่อคุณปลาได้ ทำเลตรงนี้มาแล้ว
สิ่งที่ตามมาก็คือ คิดว่าจะเปิดร้านอะไรดี ?
แต่แทนที่คุณปลา จะเลือกร้านอาหารในเครือ มาเปิดในทำเลนี้
กลับเลือก สร้างแบรนด์ใหม่ เพื่อให้เหมาะกับ ทำเลตรงนี้
จนเกิดเป็น ร้าน Fran's แบบที่เห็นในปัจจุบัน
อีกทั้ง คุณปลา ยังมีแผนขยายสาขาของ Fran's เพิ่มเติมภายในปีนี้ โดยเล็งทำเล อารีย์, สุขุมวิท 49 และจังหวัดเชียงใหม่ เอาไว้
ทั้งนี้ ร้าน Fran's จะไม่ได้อยู่ในเครือ iberry Group
แต่เป็นธุรกิจ ที่เกิดจากการร่วมมือกันของ 3 ฝ่าย ได้แก่
iberry Group, กลุ่มทองสมิทธิ์ และเชฟชาลี กาเดอร์ (เจ้าของร้าน 100 Mahaseth, ​​Mickey's Diner และ Holy Moly)
โดยตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ “บริษัท เดอะ แพลทเทอส์ มหานคร จำกัด”
แล้วร้าน Fran's มีแนวคิดอะไร ถึงทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ ?

1.เลือกร้านให้เข้ากับ กลุ่มลูกค้าในย่านนั้น
หนึ่งในจุดอ่อน ของร้านอาหารสวย ๆ หลายแห่ง ก็คือ
ลูกค้ามักจะมาใช้บริการ เพียงครั้งเดียว แล้วไม่กลับมาอีก
ดังนั้น ในตอนแรก คุณปลาจึงตั้งใจโฟกัสไปที่กลุ่ม Residence และคนทำงานในย่านนั้นจริง ๆ
เพราะหากพ้นช่วงที่ร้านเป็นกระแสไปแล้ว ก็ยังคงอยู่ได้ ด้วยกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณนั้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ และกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง
รวมทั้งยังมีโรงเรียนนานาชาติ และคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ตั้งอยู่ในละแวกนั้นอีกด้วย
ขณะเดียวกัน คุณปลายังสังเกตว่า แม้ว่าย่านนี้จะเป็นที่อยู่อาศัย
แต่กลับมี ร้านอาหารเช้า ให้เลือกไม่มากนัก
ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็น่าจะไม่อยากเดินทางไปไกล ๆ เพื่อทานอาหารเช้าในทุก ๆ วัน
ดังนั้น คุณปลาจึงเลือกสรุปเป็นคอนเซปต์ “Brunch” ที่ทานง่าย ทานได้ทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันบ่าย
เพื่อให้ร้าน Fran's มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่จำกัดว่า เป็นอาหารที่ทานได้แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น
2.พาร์ตเนอร์ที่ดี ช่วยให้ฝันเป็นจริงได้ง่ายขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่า คุณปลาไม่เคยทำร้านอาหารต่างชาติมาก่อน
ซึ่งการเลือกคอนเซปต์ Brunch ก็ถือเป็นโจทย์ใหม่
ที่คุณปลาตั้งใจว่า อยากจะออกจาก Comfort Zone
ดังนั้น คุณปลาจึงไปชักชวนให้เชฟชาลี กาเดอร์ ที่ถนัดการทำอาหารฝรั่งเศส มาร่วมทำโปรเจกต์นี้ด้วยกัน ภายใต้คอนเซปต์อาหารแบบ เข้าใจง่าย จริงใจ และอร่อยทุกคำที่ทานเข้าไป
ซึ่งสุดท้าย ก็มาจบลงที่คอนเซปต์ของ Fran's ที่มาจากศัพท์สแลง หมายถึง Best Friend นั่นเอง

3.การสร้างแบรนด์ เป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อได้ชื่อร้าน และคอนเซปต์มาแล้ว
ก็กลายเป็นว่า การตกแต่ง และสิ่งต่าง ๆ ภายในร้าน
จะถูกปรับให้ล้อไปกับชื่อของร้านอย่างลงตัว
ตั้งแต่บรรยากาศร้านที่ดูสบาย ๆ
ไปจนถึง จานที่ใช้ในร้าน ก็สั่งทำขึ้นใหม่
เพื่อให้ดูเข้าถึงง่าย และเป็นกันเอง
ไม่ได้เน้นความเวอร์วัง จนทำให้คนทานรู้สึกเกร็ง
และเหตุผลที่คุณปลาต้องเก็บทุกรายละเอียด
ก็เพราะต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้แต่ละแบรนด์อย่างชัดเจน
รวมถึงอยากให้ลูกค้ารู้สึกภูมิใจ ที่ได้ซื้อสินค้าของที่ร้าน
และเวลาถือ ถุงอาหารของเรา ออกไปข้างนอก ต้องดูดีมีมูลค่า ให้สมกับเงินที่ลูกค้าจ่ายไป
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็จะวนกลับมาทำให้ Branding ของแบรนด์ยิ่งแข็งแกร่ง
และเกิด Brand Loyalty ที่จะช่วยให้แบรนด์ยั่งยืนขึ้นนั่นเอง..
พออ่านมาจนถึงตรงนี้
หลายคนก็อาจจะมองว่า คุณปลาทำธุรกิจอะไรก็ไปรุ่งเสมอ
แต่คุณปลาก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
“อาจจะเฟลก็ได้นะ เวลาที่เปิดแบรนด์ใหม่ ๆ แต่เราก็พร้อมที่จะเสี่ยง”
References:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.