Female Invest แพลตฟอร์มความรู้การเงิน สำหรับผู้หญิง ที่ระดมทุนได้ 200 ล้าน
Business

Female Invest แพลตฟอร์มความรู้การเงิน สำหรับผู้หญิง ที่ระดมทุนได้ 200 ล้าน

22 พ.ย. 2021
Female Invest แพลตฟอร์มความรู้การเงิน สำหรับผู้หญิง ที่ระดมทุนได้ 200 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“อยากลงทุน ควรเริ่มจากตรงไหน ?”
เดี๋ยวนี้ นอกจากการเป็นเจ้าของกิจการ
อีกหนึ่งฝันของใครหลาย ๆ คน ก็คงเป็นการอยากมี Passive Income
หรือการหารายได้จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แล้วปล่อยให้มันทำงาน จนเงินของเรางอกเงย
ซึ่งตัวอย่างที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีของ Passive Income ก็อย่างเช่น การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ แล้วปล่อยเช่า ไปจนถึงการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรือแม้แต่คริปโทเคอร์เรนซี ที่ตอนนี้กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงเรื่องการเงินการลงทุน มองไปทางไหน ส่วนใหญ่เราก็มักจะพบกับ “ผู้ชาย” เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวงการ ที่ยังมีช่องว่างระหว่างเพศค่อนข้างสูง
พอเป็นอย่างนี้ จึงเกิดแพลตฟอร์มที่ต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ที่จับกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ ชื่อ Female Invest
ที่สำคัญ แพลตฟอร์มนี้ยังเข้าตานักลงทุน จนสามารถระดมทุนรวมไปได้ 200 ล้านบาท
เรื่องราวของ Female Invest น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
“อยากลงทุน แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี”
นี่คงเป็นคำถามในใจของใครหลาย ๆ คน และหนึ่งในนั้นก็คือคุณ Camilla Falkenberg ในวัย 19 ปี
เรื่องนี้ทำให้เธอต้องใช้เวลาในการศึกษาเป็นแรมปี กว่าที่จะเริ่มต้นลงทุนได้
ซึ่งในเวลาต่อมา เธอก็ได้ค้นพบว่า เธอไม่ได้ประสบปัญหานี้เพียงลำพัง
โดยหลังจากที่คุณ Falkenberg เข้าศึกษาต่อที่ Copenhagen Business School ในปี 2017 เธอได้พบกับเพื่อนอีก 2 คน ที่เจออุปสรรคเดียวกับเธอ แม้ว่าพวกเธอจะมีพื้นหลังที่แตกต่างกัน
คุณ Camilla Falkenberg ทำงานในธุรกิจซื้อมา-ขายไป
คุณ Emma Bitz ทำงานในธนาคาร เป็นโบรกเกอร์
คุณ Anna Hartvigsen ทำงานเกี่ยวกับการหาคน มาทำงานในสายการเงิน
พวกเธอทั้ง 3 คนจึงมีความคิดร่วมกัน ในการแสดงให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ เห็นว่า “การลงทุน” เป็นเรื่องที่ง่ายมาก แถมยังน่าตื่นเต้น
ซึ่งเมื่อมองไปในแวดวงการลงทุน พื้นที่การพูดคุยส่วนใหญ่ก็จะครองโดยผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงหลาย ๆ คนอาจไม่รู้ว่าจะหันไปปรึกษาใครดี
และนี่เองที่ทำให้ไอเดียของ Female Invest เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ในปี 2019
ปัจจุบัน Female Invest เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ ด้านการเงินส่วนบุคคล และการลงทุน ที่จับกลุ่มผู้หญิง แบบ “จบ ครบ ในที่เดียว” ซึ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ
เพื่อให้ผู้หญิงได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องการเงิน
โดยที่พวกเธอไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็ได้ และปล่อยให้ Female Invest ค่อย ๆ สอนสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้
ซึ่งการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม Female Invest จะมีค่าบริการประมาณ 425 บาทต่อเดือน เทียบแล้วก็แทบไม่ต่างจากค่าสมาชิกของบริการสตรีมมิงอื่น ๆ เลย
แลกกับพื้นที่สำหรับตั้งคำถามที่เป็นมิตรสำหรับผู้หญิง การเข้าถึงการสัมมนาออนไลน์ วิดีโอ และบทความให้ความรู้ รวมถึงแพลตฟอร์มการลงทุน Nordnet ที่มีค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำ
โดยตอนนี้ Female Invest มีผู้ใช้งานที่จ่ายเงินสมัครสมาชิกกว่า 20,000 ราย ครอบคลุมถึง 67 ประเทศ เป็นที่เรียบร้อย
นอกจากนั้น แพลตฟอร์มนี้ ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน จนระดมทุนรวมไปได้แล้ว 200 ล้านบาท
โดยหนึ่งในนักลงทุน ก็คือ คุณ Fiona Pathiraja พาร์ตเนอร์ของบริษัทเงินทุน Crista Galli Ventures ที่รู้จักแพลตฟอร์มนี้จากการเป็นผู้ใช้งาน
เนื่องจากที่ผ่านมาสามีของเธอ เป็นคนดูแลเรื่องการลงทุนมาโดยตลอด พอทั้งคู่หย่าร้างกันแล้ว แม้ว่าเธอจะมีดีกรีถึงปริญญาโทด้านการจัดการ หรือ MBA แต่เธอก็ยังไม่กล้าลงทุนด้วยตัวเอง ดังนั้นพอเธอได้มาพบกับ Female Invest จึงแสดงความสนใจที่จะสนับสนุนทันที
ซึ่งถ้าถามว่า เป้าหมายสูงสุดของ Female Invest คืออะไร ?
คำตอบของผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คน กลับไม่ใช่การทำให้ผู้หญิงรวยขึ้น แต่เป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้หญิงทุกคน ด้วยการทำให้พวกเธอสามารถพึ่งพาตัวเองได้
เนื่องจากปัจจุบัน ช่องว่างทางการเงินระหว่างผู้ชายและผู้หญิงยังมีอยู่ และหลาย ๆ ปัจจัย ก็เป็นปัญหาเชิงระบบ อย่างเรื่องเงินเดือนเฉลี่ยของผู้หญิง ที่มักจะต่ำกว่าผู้ชาย ส่งผลให้ผู้หญิงลงทุนน้อยกว่า รวมถึงมีเงินเก็บหลังเกษียณน้อยกว่าผู้ชาย
ซึ่งถ้าจะไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เราอาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิต
แต่ทาง Female Invest ไม่ต้องการให้ผู้หญิงทุกคน รออย่างเสียเปล่า เพราะทุกคนสามารถเริ่มแก้ปัญหาการเงินตั้งแต่วันนี้ โดยการอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า “การลงทุน”
ปิดท้ายด้วยคำแนะนำในการจัดการเงินเบื้องต้น จากผู้ก่อตั้ง Female Invest
ก่อนอื่นให้ตรวจรายรับ-รายจ่ายในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเรามีเงินเข้า-ออกรวมทั้งหมดเท่าไร หลังจากนั้นจึงกำหนดงบประมาณที่เหมาะสม
สำหรับผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คน ชื่นชอบการแบ่งรายรับออกเป็น 50-30-20
50% แยกเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ชำระหนี้สิน จ่ายค่าเช่า อาหารการกิน ค่าเดินทาง รวม ๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เรา “ต้อง” จ่าย
30% ต่อมา คือส่วนที่เอาไว้สร้างความสุขให้ชีวิต เช่น ทริปท่องเที่ยว อาหารหรือเครื่องดื่มดี ๆ สักมื้อ หรือแม้แต่ค่าสมาชิก Netflix เพราะแม้สิ่งพวกนี้จะ “ไม่จำเป็น” แต่งบประมาณของเรา จะเคร่งเครียดเกินไป หากไม่มีช่องว่างให้เรามีความสุขบ้าง
20% สุดท้าย คือเงินสำหรับ “อนาคต” ประกอบด้วย การจ่ายหนี้สินที่เกินกว่าขั้นต่ำที่กำหนด เงินเก็บยามฉุกเฉิน และการลงทุน
ไม่ยากเลยใช่หรือไม่คะ หากใครไม่รู้จะเริ่มจัดการเงินของตัวเองอย่างไร ลองเอาวิธีข้างบนนี้ไปทดลองใช้กันได้
ใช้แล้วได้ผลหรือไม่ หรือมีเทคนิคอะไร สามารถแชร์ความคิดเห็นในคอมเมนต์ได้เลย ลงทุนเกิร์ลหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ดี ๆ สำหรับให้ทุกคนได้เริ่มต้นลงทุน ไม่มากก็น้อยค่ะ..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.