ซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่น ที่เก่าแก่สุดในไทย รายได้ 1,500 ล้านบาท
Business

ซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่น ที่เก่าแก่สุดในไทย รายได้ 1,500 ล้านบาท

14 มิ.ย. 2021
ซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่น ที่เก่าแก่สุดในไทย รายได้ 1,500 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ห้างญี่ปุ่นรายใหญ่ ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยมักจะไม่ค่อยราบรื่นนัก
เพราะในปีที่ผ่านมา ทั้ง TOKYU และ ISETAN ต่างก็ประกาศปิดกิจการถาวร
และถอนตัวออกจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว
เนื่องจากบางบริษัทมีปัญหาขาดทุนติดต่อกันหลายปี
หรือบางบริษัทก็อาจได้กำไรเพียงน้อยนิด จนไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินกิจการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสนามธุรกิจค้าปลีกที่เป็นเหมือนโจทย์หินนี้
กลับมีซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่นรุ่นบุกเบิกแห่งหนึ่ง ที่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น 
ซึ่งก็คือ UFM Fuji Super นั่นเอง
เรื่องราวของ UFM Fuji Super น่าสนใจอย่างไร ?
และผลประกอบการของ UFM Fuji Super จะดีแค่ไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
UFM Fuji Super เปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปี 2528 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว
ซึ่งถือเป็นซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่น ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ
โดย UFM Fuji Super เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและบริษัทจากญี่ปุ่น คือ
กลุ่มบริษัท ศรีกรุงวัฒนา จำกัด ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 60%
และบริษัท ฟูจิ ซิตี้โอะ จำกัด ถือหุ้นอยู่ 40%
ซึ่งชื่อ UFM นี้อาจดูคุ้น ๆ กับเบเกอรีในตำนาน ที่มีโลโกสีชมพู อย่าง UFM Bakery House
และเรื่องนี้ก็เป็นเพราะว่า ทั้งสองบริษัทนี้อยู่ภายใต้เครือบริษัท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) นั่นเอง
ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เกต UFM Fuji Super มีทั้งหมด 4 สาขา
ได้แก่ สาขาสุขุมวิท 33/1, สุขุมวิท 39, สุขุมวิท 39 (Express) และสุขุมวิท 49
เราลองมาดูผลประกอบการของบริษัท ยูเอฟเอ็ม ฟูจิ ซูเปอร์ จำกัด
เจ้าของซูเปอร์มาร์เกต UFM Fuji Super กันสักเล็กน้อย
ปี 2561 รายได้ 1,456 ล้านบาท กำไร 100 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,432 ล้านบาท กำไร 88 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 1,558 ล้านบาท กำไร 116 ล้านบาท
โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมานี้ แม้จะมีปีที่รายได้และกำไรลดลงไปบ้าง
แต่ก็สามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง และช่วงที่รายได้ลดลงก็ไม่ได้ส่งผลกระทบจนถึงขนาดขาดทุน 
เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่รักษาระดับของผลประกอบการ ได้เป็นอย่างดี
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้
เราอาจมีคำถามว่าแล้วสถานการณ์ของซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่นในไทยแห่งอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ?
ดอง ดอง ดองกิ (Don Don Donki)
ปัจจุบันมีสาขาในไทยทั้งหมด 2 แห่ง และเพิ่งเข้ามาดำเนินกิจการในไทยเมื่อปี 2562
โดยปี 2563 บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด 
มีรายได้อยู่ที่ 728 ล้านบาท เติบโตขึ้น 354% จากปีก่อนหน้า 
และขาดทุน 147 ล้านบาท
สยาม ทาคาชิมาย่า (SIAM Takashimaya) ที่เปิดให้บริการมาได้ไม่ถึง 3 ปี
และปัจจุบันมีอยู่เพียง 1 สาขาที่ไอคอนสยาม
โดยปี 2563 บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด
มีรายได้อยู่ที่ 327 ล้านบาท ลดลง 27% จากปีก่อนหน้า
และขาดทุนอีก 294 ล้านบาท
จากข้อมูลข้างต้นเราคงจะเห็นแล้วว่า ซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่นในไทยแห่งอื่น ๆ กำลังอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก
เนื่องจากปัญหาทั้งเรื่องโรคระบาด และการแข่งขันอย่างร้อนแรงในตลาดซูเปอร์มาร์เกตที่มีผู้เล่นทั้งรายใหญ่ และรายเล็กที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอด
แล้วอะไรทำให้ UFM Fuji Super แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่นแห่งอื่น ๆ
จนมีผลประกอบการที่ดีสวนกระแสแบบนี้ ?
เรื่องแรกที่น่าคิดคือ “ทำเลที่ตั้ง” ของ UFM Fuji Super 
ทุกสาขาจะตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองอย่าง “สุขุมวิท” 
ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นจุดที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่นที่เป็น “Residence” จริง ๆ ไม่ใช่แค่เป็นนักท่องเที่ยวที่แวะมาอยู่ไม่กี่วันก็เดินทางกลับประเทศ
ดังนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมีโอกาสเดินทางมาใช้บริการที่ UFM Fuji Super ได้บ่อย
เนื่องจากเดินทางสะดวกและอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย
อีกทั้งย่านสุขุมวิท ยังเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวไทย ที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง
และในช่วงสถานการณ์ปกติก็ยังมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอยู่เป็นประจำ
ในขณะที่ ห้างหรือซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่นแห่งอื่น ๆ 
มักจะตั้งอยู่ตามย่านสถานที่สำคัญ ๆ ของกรุงเทพฯ 
เช่น ไอคอนสยาม, เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ย่านราชประสงค์, ทองหล่อ หรือแม้กระทั่งห้างญี่ปุ่นที่เพิ่งปิดตัวไปอย่าง TOKYU และ ISETAN ก็ตั้งอยู่ในย่านใกล้ ๆ กันซึ่งก็คือ เซ็นทรัลเวิลด์ และ MBK นั่นเอง
ดังนั้นกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการ ก็อาจจะแวะเวียนมาเป็นบางครั้งบางคราว
และความถี่ในการไปใช้บริการของลูกค้าแต่ละคน ก็อาจจะไม่ได้บ่อยมากนัก
นอกจากนี้ ด้วยความที่ดอง ดอง ดองกิ และสยาม ทาคาชิมาย่า เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยได้ไม่นานนัก 
อาจทำให้บริษัทยังต้องใช้เวลาเรียนรู้และเข้าใจผู้บริโภคในไทยมากขึ้น 
แถมบริษัทก็ยังต้องทำการโฆษณาอยู่ไม่น้อย เพื่อโปรโมตตัวเองให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น 
ซึ่งจุดนี้ก็ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่บริษัทต้องจ่ายไป
ซึ่งแตกต่างจาก UFM Fuji Super ที่เปิดให้บริการมาแล้วตั้ง 35 ปี
บริษัทจึงมีกลุ่มลูกค้าประจำ และอยู่ตัวแล้ว ทำให้บริษัทอาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนโตไปทุ่มกับการโฆษณามากนัก
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งดอง ดอง ดองกิ และสยาม ทาคาชิมาย่า
ที่แม้ว่าในตอนนี้อาจจะยังขาดทุนอยู่ แต่หากพิจารณาจากรายได้ และเทียบกับจำนวนสาขาแล้ว ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย
ที่สำคัญ ดอง ดอง ดองกิ ซึ่งแม้จะเปิดมาหลังสุด แต่ถ้าลองหารเฉลี่ยเป็นรายได้ต่อจำนวนสาขา
ก็เรียกได้ว่า “กำลัง” ไล่หลัง UFM Fuji Super มาติด ๆ แล้ว
ดังนั้นนี่อาจเป็นความท้าทายสำคัญ ที่กำลังรอ UFM Fuji Super อยู่ข้างหน้า
บริษัทจะสามารถรักษาความนิยมนี้ไว้ให้อยู่กับบริษัทไปได้นานแค่ไหน 
และผู้เล่นหน้าใหม่จะแข็งแกร่งแค่ไหน เราคงจะต้องรอดูกันต่อไป..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.