สองพี่น้องที่มีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ สู่ “Hangles” แอปขายเสื้อผ้ามือสอง ที่เติบโต 150% ใน 2 เดือน
Business

สองพี่น้องที่มีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ สู่ “Hangles” แอปขายเสื้อผ้ามือสอง ที่เติบโต 150% ใน 2 เดือน

1 ส.ค. 2023
สองพี่น้องที่มีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ สู่ “Hangles” แอปขายเสื้อผ้ามือสอง ที่เติบโต 150% ใน 2 เดือน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ไม่อยากใส่เสื้อผ้าซ้ำ เสื้อผ้าล้นตู้ แต่กลับรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรจะใส่
อยากส่งต่อ แต่ไม่มีเวลาลงขาย ขี้เกียจส่ง และอีกสารพัดความน่าเบื่อ เวลาที่อยากจะส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง
ปัญหาเหล่านี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “Hangles” สตาร์ตอัปไทย จากฝีมือของสองสาวที่เคยมีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้
จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง ที่ช่วยให้ทุกคนยังสามารถสนุกกับการแต่งตัวได้ แบบไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม ในคอนเซปต์ “สายแฟแคร์โลก”
แถมแพลตฟอร์มนี้ ยังได้รับรางวัลการันตี จากเวทีด้านสตาร์ตอัปมาแล้ว หลายต่อหลายเวที
โดยวันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณลูกน้ำ-เพ็ญพิชชา สันตินธรกุล และคุณนุ่น-พิชชาธร สันตินธรกุล สองพี่น้องผู้ปลุกปั้น Hangles มากับมือ ที่จะมาไขทุกข้อสงสัยว่า Hangles ช่วยให้การส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง เป็นเรื่องง่ายแค่ไหน และสามารถช่วยโลกได้อย่างไร ?
จุดเริ่มต้นของ Hangles เกิดขึ้นในปี 2019
เมื่อสองพี่น้องชอบซื้อเสื้อผ้าและแต่งตัวเอามาก ๆ ถึงขั้นเปลี่ยนจากตู้เสื้อผ้า เป็นห้องเสื้อผ้า แต่ก็ยังมีที่เก็บไม่พอ
เมื่อลองโละตู้ไปเปิดท้ายขายเสื้อผ้ามือสอง หรือขายใน Social Media ก็ไม่ได้ขายง่ายอย่างที่คิด
สองสาวจึงเริ่มระดมสมองเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยตั้งต้นจากความสนใจของทั้งคู่
เริ่มจากพี่สาวอย่างคุณลูกน้ำ ที่เรียนจบด้าน Entrepreneurship จาก Bayes Business School (Cass) ประเทศอังกฤษ​ ซึ่งมีแพสชันในการทำธุรกิจสตาร์ตอัปเป็นทุนเดิม
บวกกับน้องสาว คือคุณนุ่น ที่ตอนนั้นกำลังไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ ซึ่งที่นั่นให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainability เธอจึงเริ่มรีเซิร์ชและทำทีซิสเรื่องนี้ ทำให้อินกับเรื่องความยั่งยืนเอามาก ๆ
เมื่อมารวมกับความคลั่งไคล้แฟชั่น และแพสชันในการทำธุรกิจ ที่ทั้งสองคนชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้งสองจึงเริ่มรีเซิร์ชข้อมูล เพื่อทำสตาร์ตอัปด้านแฟชั่นยั่งยืน
จนในที่สุดก็พัฒนาออกมาเป็น “Hangles” แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองครบวงจร ที่เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2020 ในรูปแบบของเว็บไซต์ และพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชันในปัจจุบัน
แล้วทำไมต้องชื่อแบรนด์ว่า Hangles ?
Hangles มาจากคำว่า “Hanger” ที่แปลว่า ไม้แขวนเสื้อ รวมกับคำลงท้ายของคำว่า “Circle/Recycle”
ที่ซ่อนความหมายว่า ไม้แขวนเสื้อผ้าเหล่านี้ จะถูกใช้หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ นั่นเอง
ต้องบอกว่า Hangles ไม่ได้เป็นแค่ตัวกลางที่ให้คนมาส่งต่อเสื้อผ้าทั่ว ๆ ไป แต่ยังเป็นคอมมิวนิตี ที่สื่อสารกับทุกคนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และแก้ไขความเข้าใจผิดต่อความเชื่อเดิม ๆ ด้วย
คุณนุ่นเล่าว่า “เราตั้งใจทำแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ Trendy เข้าถึงง่าย
เพื่อให้คนเห็นว่า จริง ๆ แล้วเสื้อผ้ามือสองไม่ใช่ของสกปรก โดยจะได้เห็นเจ้าของเสื้อผ้ามาโพสต์ด้วยตัวเอง ที่เสื้อผ้าบางชิ้นคือใส่ไปแค่ไม่กี่ครั้งเอง
ตอนเริ่มต้น กับตอนนี้ คำถามของลูกค้าเปลี่ยนไปมาก
พวกเขาไม่ได้ถามว่า เสื้อผ้าเป็นของใครแล้ว แต่ถามว่า เสื้อผ้าของคนนี้ จะโพสต์อีกเมื่อไรแทน”
ที่น่าสนใจไม่แพ้คอนเซปต์ของแบรนด์ Hangles คือการเติบโต..
เพราะหลังจากที่เปิดบริการบนเว็บไซต์ ก็ได้รับฟีดแบ็กและคำติชมจากลูกค้า จึงนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และตัดสินใจพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชัน
ซึ่งภายใน 2 เดือน หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชัน ก็มียอดผู้ใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 150%
มีเสื้อผ้ามือสองสารพัดแบรนด์ ​ตั้งแต่ราคาหลักร้อย ถึงหลักหมื่นบาท หมุนเวียนในระบบแล้วมากกว่า 40,000 ตัว
ซึ่งจากการพูดคุย กับคุณลูกน้ำและคุณนุ่น สามารถสรุปเบื้องหลังการเติบโตของ Hangles ได้ดังนี้
1) แพลตฟอร์มใช้ง่าย คนขายก็สะดวก คนซื้อก็สนุก
สำหรับผู้ที่เข้ามาซื้อของ
Hangles ตั้งใจดิไซน์แพลตฟอร์มให้ดูน่ารัก และใช้งานง่ายเหมือนเล่น Social media
แถมยังดิไซน์การจัดหมวดหมู่สินค้าให้หาง่าย เช่น แบ่งตามไซซ์ แบ่งตามสี แบ่งตามเทศกาล หรือการจัดหมวดหมู่รวมเสื้อผ้า จากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งจะช่วยหาเสื้อผ้าที่แมตช์กับตัวเองได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้ ยังวางระบบชำระเงินให้สะดวกสบาย แถมกรณีที่เสื้อผ้าไม่ตรงปก ก็สามารถขอคืนเงินได้ 100% อีกด้วย
หรือถ้าใครอยากลองเสื้อผ้า hangles เองก็มีหน้าร้านที่ลูกค้าสามารถเข้าไปช็อปที่ตึก Circular สยามสแควร์ ซอย 2 ได้เช่นกัน
ในด้านผู้ขายเอง ก็สะดวกไม่แพ้กัน โดยสามารถเลือกขายเสื้อผ้าได้ 2 แบบ
แบบแรก คือ โพสต์ขายบนแพลตฟอร์มเอง โดยจะถูกเก็บค่าบริการรวม 7% ของราคาขาย
เพียงแค่โพสต์รูปเสื้อผ้าลงบนแพลตฟอร์ม เมื่อปิดการขายได้ ก็แค่พรินต์ใบปะหน้าจากระบบ
และรอให้ขนส่ง เข้ามารับสินค้าที่บ้าน หรือจะไปส่งเองกับผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็เลือกได้ตามความสะดวก
ส่วนแบบที่สอง เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา เพียงแค่ส่งเสื้อผ้ามาให้ Hangles ช่วยทำความสะอาด ถ่ายรูป และลงขายให้ ผ่านช่องทางคือ ออนไลน์, หน้าร้าน และการออกบูทในงานต่าง ๆ
โดยจะถูกเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นจากแบบแรก อยู่ที่ 8-50% ขึ้นอยู่กับราคาสินค้า (ยิ่งราคาสูง อัตราค่าบริการยิ่งน้อย)
ขณะที่ราคาเสื้อผ้า ที่จะขายให้แก่ลูกค้า จะตั้งราคาเองหรือจะให้ Hangles ช่วยตั้งราคาให้ก็ไม่มีเกี่ยง
2) สื่อสารตรง Pain Point ของผู้บริโภค
บางคนอาจมองว่า การแต่งตัวจัดจ้าน ใส่เสื้อผ้าไม่เคยซ้ำ เป็นการทำลายโลก เพราะสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ใช้ทรัพยากรโลกมากเกินความจำเป็น
แต่สำหรับ Hangles มองว่า ทุกคนสามารถบาลานซ์ ระหว่างความสนุกในการแต่งตัว และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้ ด้วย “แฟชั่นหมุนเวียน”
คุณนุ่น อธิบายว่า “ของมือสอง เป็นแค่ของเก่าสำหรับอีกคน แต่เป็นของใหม่สำหรับบางคน
ทุกคนยังสามารถที่จะเป็นสายแฟชั่นได้ โดยถ้าไม่อยากใส่เสื้อผ้าซ้ำ อยากให้เสื้อผ้ามือสองเป็นทางเลือกแรก และนำเสื้อผ้าที่เบื่อแล้วสำหรับคุณ กลับมา Circulate ใน hangles อีกครั้ง เพื่อยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า ทั้งสร้างรายได้ แล้วยังช่วยโลกด้วย”
3) Zero Waste ได้จริง
Hangles ไม่ได้อยากเป็นแค่ตัวกลางในการซื้อขายเสื้อผ้ามือสองเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น
นั่นก็คือ “Make Zero Waste Fashion Possible ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไม่มีขยะ”
เริ่มตั้งแต่การจัดการกับเสื้อผ้าที่มีตำหนิ ที่ไม่สามารถนำไปขายต่อได้ หากลูกค้าเลือกที่จะไม่รับคืน เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกคัดเลือกไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมที่สุด
-เสื้อผ้าที่มีตำหนิไม่มาก จะถูกนำไปบริจาคหรือถูกส่งต่อให้ดิไซเนอร์ นำไปตัดแต่งเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่
-เสื้อผ้าที่มีตำหนิเยอะมาก ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้แล้ว จะถูกส่งไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ โดยมีแบรนด์ “CIRCULAR” เป็นพาร์ตเนอร์ในการผลิต
หมายความว่า เสื้อผ้ามือสอง ที่มาถึงมือ Hangles จะถูกนำไปเพิ่มมูลค่าให้กลับมามีชีวิตเหมือนใหม่อีกครั้ง และไม่กลายเป็นขยะเลยแม้แต่ตัวเดียว..
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังมีฟีเชอร์ “Officials” ที่ร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นร้านดังใน Instagram ลงขายสินค้ามือหนึ่งที่ค้างสต็อก ในราคาเป็นมิตรอีกด้วย
เพราะในแต่ละปีมีสินค้าค้างสต็อกที่ต้องจบลงที่กองขยะทั่วโลกมากกว่า 30,000 ล้านชิ้นเลยทีเดียว
โมเดลธุรกิจที่ครบวงจรขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Hangles จะเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัปไทยที่น่าจับตามอง
สะท้อนจากรางวัลด้านสตาร์ตอัปมาแล้วหลายเวที เช่น
-รางวัล "Best Performance Startup Award" จากโครงการ True Digital Park Startup Garage
-รางวัลรองชนะเลิศจาก Krungsri UPcelerator โครงการค้นหาที่สุดของสตาร์ตอัป
-Top 100 Startups ในเวที Echelon Asia Summit 2023 ที่ได้ไป Pitching ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วย
เรียกได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัปไทย ที่เริ่มต้นจากปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ของผู้ก่อตั้ง
แต่พัฒนาจนสามารถช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่น ๆ ที่ประสบ Pain Point ในแบบเดียวกัน
และเป็นส่วนหนึ่งในการทะนุถนอมโลกใบนี้ได้พร้อม ๆ กัน
แบบไม่ต้องเบียดความสุขของคนรักการแต่งตัว มากจนเกินไป
สมกับสโลแกนที่ว่า “สายแฟแคร์โลก” จริง ๆ..
References:
-สัมภาษณ์พิเศษกับคุณเพ็ญพิชชา สันตินธรกุล และคุณพิชชาธร สันตินธรกุล Co-founder, Hangles
-https://www.facebook.com/TrueDigitalPark/photos/a.1744516322257019/5604750769566869/?type=3
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.