“อาหารปลอม” ธุรกิจร้อยปี สู่ อุตสาหกรรมมูลค่า 3,000 ล้านบาทในญี่ปุ่น
Business

“อาหารปลอม” ธุรกิจร้อยปี สู่ อุตสาหกรรมมูลค่า 3,000 ล้านบาทในญี่ปุ่น

9 พ.ค. 2024
“อาหารปลอม” ธุรกิจร้อยปี สู่ อุตสาหกรรมมูลค่า 3,000 ล้านบาทในญี่ปุ่น /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ อุตสาหกรรมโมเดลอาหารจำลอง หรืออาหารที่ตั้งโชว์ตามร้านอาหาร ที่ประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าตลาดสูงถึง 3,000 ล้านบาทในปี 2019
ซึ่งจริง ๆ แล้ว การประดิษฐ์อาหารจำลองมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 และแม้จะผ่านกาลเวลามาเกือบ 100 ปี ธุรกิจอาหารจำลองในประเทศญี่ปุ่น ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังส่งออกไปสู่หลายประเทศทั่วโลก
เรื่องราวของธุรกิจอาหารจำลองเหล่านี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
อาหารจำลอง คือ โมเดลอาหารของปลอม ที่ถูกทำให้เหมือนกับของจริงมากที่สุด มักจะโชว์เป็นเมนูตัวอย่างตามร้านอาหารต่าง ๆ
ซึ่งหากใครเคยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่เดินผ่านหน้าร้านจากญี่ปุ่นในประเทศไทย ก็น่าจะต้องเห็นโมเดลอาหารจำลองอย่าง ซูชิ, เครปเย็น, ราเม็น และขนมโมจิ ผ่านตามหน้าร้านอาหาร ร้านขนม หรือแม้แต่ร้านขายของฝากในสนามบิน
สาเหตุของเรื่องนี้ก็เป็นเพราะว่าประเทศญี่ปุ่น คือ ต้นกำเนิดของอาหารจำลอง โดยในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ซัมปุรุ” (Sampuru) ซึ่งก็ผันมาจากคำว่า “Sample” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
จริง ๆ แล้ว อาหารจำลองมีมาตั้งแต่ปี 1917 และถูกคิดค้นโดยคุณ Soujiro Nishio
ซึ่งเขาได้นำขี้ผึ้ง ที่ปกติจะใช้ในการประดิษฐ์อวัยวะจำลอง มาทำเป็นอาหารจำลอง สำหรับตั้งโชว์หน้าร้าน
แม้ว่าคุณ Soujiro Nishio จะเป็นผู้คิดค้นคนแรก
แต่คนที่บุกเบิกอาหารจำลองอย่างจริงจัง จนถูกขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งอาหารจำลอง” ก็คือคุณ Takizo Iwasaki ช่างฝีมือชาวญี่ปุ่น จากกุโจฮาจิมัง เมืองเล็ก ๆ ที่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีเวิร์กช็อปสอนทำอาหารจำลองหลายแห่ง
ในสมัยนั้นคุณ Iwasaki มีฐานะทางบ้านและสภาพการเงินที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากภรรยาของเขาไม่ค่อยสบาย ทำให้เขาต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก จนไม่มีเงินเหลือมากพอในการจ่ายค่าสาธารณูปโภคภายในบ้าน
“เทียนไข” จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญเดียวที่ช่วยให้แสงสว่าง และความอบอุ่นยามค่ำคืนของครอบครัว Iwasaki
ซึ่งกลับกลายเป็นว่า เรื่องนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจอาหารจำลอง ที่ใหญ่สุดในญี่ปุ่นและสามารถส่งออกสินค้าไปทั่วโลก
โดยค่ำคืนหนึ่งที่คุณ Iwasaki กำลังทำความสะอาดเศษขี้ผึ้งจากเทียนที่หลอมละลายแล้ว เขาสังเกตเห็นว่าเทียนมีรอยนิ้วมือของเขาอยู่ จึงทำให้เขาเกิดความสงสัยว่า นอกจากลายเล็ก ๆ เหล่านี้ เทียนไขยังสามารถคัดลอกลวดลายใหญ่ ๆ ได้ด้วยหรือไม่
คุณ Iwasaki จึงลองนำไขเทียนไปหยดลงบนเสื่อญี่ปุ่นที่มีลวดลาย รอจนขี้ผึ้งแห้งและค่อย ๆ ลอกเทียนออกมาจากเสื่อ ซึ่งผลปรากฏว่าเทียนสามารถคัดลอกลวดลายของเสื่อได้ทั้งหมด
ทำให้คุณ Iwasaki เกิดไอเดียในการทำอาหารจำลองด้วย “ไขเทียน”
โดยอาหารจำลองชิ้นแรกที่เขาเนรมิตขึ้นมา คือ เมนูธรรมดา ๆ อย่าง โอมุ หรือข้าวห่อไข่ ด้วยการนำไขเทียนที่ละลายหยดลงในกะละมังที่ใส่น้ำไว้ และค่อย ๆ ใช้มือจุ่มลงไปในน้ำ และจัดรูปทรงของไขเทียนให้มีรูปร่างเหมือนกับโอมุของจริงให้ได้มากที่สุด
ซึ่งหลังจากคุณ Iwasaki ฝึกฝนนานหลายเดือน จนมั่นใจว่าโอมุจานนี้คล้ายกับของจริงแล้ว เขาจึงนำโอมุของจริงและของปลอมมาวางเทียบกัน และให้ภรรยาเลือกว่าจานไหนที่ดูเหมือนของจริงมากที่สุด
ผลปรากฏว่าโอมุจำลองกลับเหมือนจริง จนภรรยาของเขาไม่สามารถแยกออกว่าจานไหนถูกประดิษฐ์ขึ้นมา
ซึ่งเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้คุณ Iwasaki เริ่มมีความมั่นใจในฝีมือ และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์อาหารจำลองเมนูอื่น ๆ ตามมาเรื่อย ๆ
หลังจากผ่านการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือ ในปี 1923
เมนูอาหารจำลองของคุณ Iwasaki ก็ไปสะดุดตาเจ้าของร้านอาหาร จนได้ไปประดับอยู่ที่หน้าร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า
เมื่ออาหารจำลองสามารถทำเป็นธุรกิจจริงจังได้ คุณ Iwasaki จึงได้ตัดสินใจก่อตั้ง Iwasaki Be-I บริษัทผลิตอาหารจำลองขึ้นในปี 1932 ที่จังหวัดโอซากะ และกลายเป็น “บิดาแห่งอาหารจำลอง” ที่หลายคนยกย่อง
โดยช่วงที่ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมอาหารจำลอง คือ ช่วงทศวรรษ 1950 ที่หลายร้านค้าเริ่มหันมาซื้อตัวอย่างอาหารจำลองไว้ตั้งโชว์ที่หน้าร้าน
ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเติบโตธุรกิจนี้ เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ทหารอเมริกันเข้ามาในญี่ปุ่น แต่มีปัญหาในการสั่งอาหาร เนื่องจากไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น และในตอนนั้นไม่มีภาพถ่ายเมนูอาหารต่าง ๆ
ดังนั้น อาหารจำลองจึงจำเป็นอย่างมาก ที่ช่วยให้พ่อค้าและลูกค้าชาวต่างชาติสามารถสั่งอาหารได้ แม้ว่าจะไม่ได้สื่อสารในภาษาเดียวกันก็ตาม
ซึ่งในช่วงปี 1950 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่บริษัท Iwasaki Be-I เติบโตขึ้นอย่างมากจนสามารถขยายสาขาไปตั้งที่โตเกียว และค่อย ๆ เพิ่มสาขาในจังหวัดอื่น ๆ ตามมา
และในปี 1960 ก็เป็นครั้งแรกที่บริษัท Iwasaki Be-I เริ่มส่งออกอาหารจำลองไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเมนูแรกคือ เมนูสเต๊ก
และในปีเดียวกันนั้นเองบริษัท Iwasaki Be-I ได้นำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาบริษัท โดยได้เปลี่ยนเทคนิคและวัสดุ ในการผลิตอาหารจำลองให้ดูสมจริงมากขึ้น
เนื่องจาก ไขเทียนที่ใช้ในการสร้างผลงานตอนแรก หากนำไปวางไว้ในที่ที่มีอากาศร้อน หรือตั้งไว้บริเวณที่มีแสงแดดส่องเป็นเวลานานสีจะค่อย ๆ จางลง
ทำให้บริษัทเปลี่ยนมาใช้พลาสติกพีวีซี ที่มีคุณสมบัติเป็นของเหลว และปั้นเป็นรูปร่างได้เหมือนกัน แต่มีความคงทนมากกว่า
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนวัสดุ สำหรับผลิตอาหารจำลอง แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก็ยังต้องอาศัยช่างฝีมือในการทำแบบชิ้นต่อชิ้น เพื่อเนรมิตทุกชิ้นงานออกมาให้สมจริงมากที่สุด
เช่น เมนูซูชิ ที่ต้องใช้แม่พิมพ์ข้าวโดยเฉพาะ และนำมาขึ้นรูปด้วยการปั้นด้วยมือทีละก้อน และใช้มีดเหมือนกับที่เชฟใช้แล่เนื้อปลาทีละชิ้น ๆ
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราคาของอาหารจำลองเหล่านี้ จะมีราคาสูงกว่าราคาอาหารจริงถึง 10 เท่า เช่น เบียร์จำลองตกราคาแก้วละ 2,470 บาท หรืออาหารบางเซตมีราคาสูงถึง 300,000 บาทเลยทีเดียว
และตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 จนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารจำลองก็มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
โดยอาหารจำลองไม่ได้ยึดติดกับรูปลักษณ์ที่เหมือนจริง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลายเป็นเหมือนองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมการขาย ให้กับร้านค้าอีกด้วย
ดังนั้น การทำอาหารจำลองให้ดูอร่อย น่ารับประทาน และดึงเสน่ห์ของร้านค้าแต่ละร้านออกมา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางบริษัทใส่ใจมากเป็นพิเศษ
ซึ่งนอกจากอาหารจำลองจะถูกตั้งโชว์อยู่เกือบทุกร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้ว มันยังเป็นงานศิลปะที่ใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้
รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวแทนวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มนิยมที่จะมาทำอาหารจำลอง ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นของฝากด้วย
เพราะแม้ปัจจุบัน โลกจะมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีไปมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารจำลอง ก็คือ ทุกชิ้นงานยังเป็นงานทำมือ ที่ต้องการช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญสร้างสรรค์ขึ้นชิ้นต่อชิ้น
ทำให้อาหารจำลองเหล่านี้มากด้วยคุณค่าทางศิลปะ และยังคงเป็นงานหัตถกรรมที่มีราคาสูงอย่างทุกวันนี้
และแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 70 ปี ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
จนปัจจุบันก็ไม่ได้มีทหารอเมริกันในประเทศญี่ปุ่นแล้ว
แต่อาหารจำลอง ก็ยังคงได้รับความสำคัญ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ก็อ่านเมนูภาษาญี่ปุ่นไม่ออกเช่นกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.