กรณีศึกษา SecureMyBike บริการจอดจักรยานใต้ดิน ที่ขาดทุน 100 ล้าน ในสิงคโปร์
Business

กรณีศึกษา SecureMyBike บริการจอดจักรยานใต้ดิน ที่ขาดทุน 100 ล้าน ในสิงคโปร์

24 มิ.ย. 2021
กรณีศึกษา SecureMyBike บริการจอดจักรยานใต้ดิน ที่ขาดทุน 100 ล้าน ในสิงคโปร์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าพูดถึงสิงคโปร์ ที่แม้จะเป็นเกาะเล็ก ๆ แต่เรื่องพื้นที่กลับไม่ได้เป็นตัวจำกัดความเจริญ
เพราะถือเป็นประเทศ ที่มี GDP ต่อหัว สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนั้นรัฐบาลยังให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน กับเรื่อง “สมาร์ตซิตี” และ “พื้นที่สีเขียว” 
ทำให้มีธุรกิจเกิดใหม่มากมาย ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับนโยบายนี้
และ SecureMyBike บริการจอดรถจักรยานใต้ดินอัตโนมัติ ก็เป็นหนึ่งธุรกิจในนั้น 
อย่างไรก็ตามมันกลับไม่ประสบความสำเร็จ ใช้เวลาสร้าง 4 ปี แต่ต้องปิดตัวลงภายใน 2 ปี
และยังเป็นโปรเจกต์ ที่ทำให้สูญเสียเงินไปกว่า 100 ล้านบาท 
แล้วทำไม SecureMyBike ถึงไม่ประสบความสำเร็จ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง 
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน คนสิงคโปร์ไม่ได้นิยมขี่จักรยานเท่าไรนัก
เนื่องจากการขี่จักรยานค่อนข้างอันตราย และขาดพื้นที่ในการอำนวยความสะดวก
แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มเอาจริงกับการเป็น “สมาร์ตซิตี” หรือ “เมืองอัจฉริยะ”
ที่พัฒนาทรัพยากรของเมืองอย่างชาญฉลาดผ่านเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง
ดังนั้นในปี 2019 กรมการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ หรือ Land Transport Authority (LTA) 
จึงออกโครงการที่จะผลักดันการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อการขี่จักรยานมากขึ้น
โดยเพิ่มระยะทางขี่จักรยานให้ได้ 190 กิโลเมตร
นอกจากนั้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนสิงคโปร์ เริ่มหันมาขี่จักรยาน ก็คือ ค่าครองชีพ
เพราะการที่จะครอบครองรถยนต์หนึ่งคันในประเทศสิงคโปร์ มีต้นทุนที่สูงมาก 
รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยหลังจากที่รถยนต์เริ่มวิ่งบนท้องถนนอีกด้วย
เช่น ค่าจอดรถที่ราคาสูง และค่าภาษีรถยนต์ต่าง ๆ ที่เก็บตามสภาพเก่าใหม่ของรถ
และสิงคโปร์ใช้ระบบ Electronic Road Pricing (ERP) หรือการเก็บค่าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะหักเงินอัตโนมัติบนท้องถนน จากอุปกรณ์ In-Vehicle Unit (IU) ที่ต้องติดตั้งอยู่บนรถทุกคัน 
โดยระบบ ERP จะเก็บเงินในย่านที่รถหนาแน่นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 
เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้รถในเวลานั้น 
ซึ่งรวมไปถึงเวลาเรานั่งแท็กซี่ในเวลาเร่งด่วน ค่าโดยสารก็จะแพงกว่าปกติอีกด้วย 
ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหันมาใช้การโดยสารสาธารณะแทน เช่น รถประจำทาง, รถไฟฟ้า 
รวมถึงจักรยาน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกด้วยเช่นกัน 
นอกจากนั้นกรมการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ ยังมีนโยบายที่จะสร้างเมืองแห่ง “Smart Mobility” 
หรือเมืองแห่งการสัญจรอัจฉริยะภายในปี 2023
จึงมีการสร้างทางจักรยานใน 26 ย่านบ้านพักจัดสรรโดยรัฐ และเพิ่มชั้นจอดจักรยานที่จอดได้กว่า 3,000 คัน ติดกับรถไฟฟ้ากว่า 32 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องขี่จักรยาน
พออ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจจัยด้านค่าใช้จ่าย หรือโครงสร้างพื้นฐาน 
ก็ดูเหมือนจะเอื้ออำนวยให้คนมาใช้จักรยานกันมากขึ้น 
ซึ่งเมื่อมองเห็นแนวโน้มเช่นนี้ บริการเช่าพื้นที่จอดจักรยาน SecureMyBike จึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 
โครงการนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ และคุณ Bruno Navarra 
เจ้าของ Smartcity Projects บริษัทสตาร์ตอัปในประเทศสิงคโปร์
โดยคุณ Navarra ได้ติดต่อขอซื้อระบบจอดจักรยานอัตโนมัติมาจาก “Biceberg” บริษัทสัญชาติสเปน ซึ่งเคยให้บริการ และประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้ว ในประเทศญี่ปุ่น 
นอกจากนั้น บริการนี้ยังถูกติดตั้งอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก 
อย่างประเทศสเปน, ประเทศออสเตรเลีย, ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป 
คุณ Navarra จึงมองว่า เทคโนโลยีนี้ ก็น่าจะได้รับความนิยมในประเทศสิงคโปร์ไม่แพ้กัน 
เนื่องจากมาตอบโจทย์คนใช้รถจักรยาน ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 
ให้ไม่ต้องกังวลว่าจักรยานจะหายหรือชำรุด หากจอดไว้ระหว่างไปทำงานหรือเรียนหนังสือ
แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นอย่างนั้น 
เพราะหลังจากเปิดบริการได้แค่ 2 ปี SecureMyBike ก็ต้องปิดตัวลง 
ทั้ง ๆ ที่ SecureMyBike มีพื้นที่ให้เช่ามากกว่า 500 คัน แต่ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี
กลับมีคนใช้บริการมากสุดไม่ถึงร้อยคันต่อวัน และขายตั๋วได้ไม่ถึง 5 ใบต่อเดือนอีกด้วย
ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้น ก็น่าจะไม่ครอบคลุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เสียไปเลย
เนื่องจาก SecureMyBike คือบริการจอดจักรยานใต้ดิน 
ทำให้มีระยะเวลาการก่อสร้างนานถึง 4 ปี และยังมีค่าบำรุงรักษาที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ 
เมื่อยอดการใช้งานไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น
สุดท้าย SecureMyBike จึงประกาศปิดตัวลงในปี 2021 พร้อมกับยอมทิ้งเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทไป
แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้บริการของ SecureMyBike ไม่ประสบความสำเร็จ ?
ปัญหาหลัก ๆ คือ ทำเลที่ตั้ง 
ถึงแม้ SecureMyBike จะตั้งห่างจากรถไฟฟ้าประมาณระยะเดินเท้า 5 นาที
แต่สำหรับหลาย ๆ คน ก็ยังมองว่า มันเป็นระยะทางที่ไกล และเสียเวลาพอสมควร 
รวมทั้งแถว ๆ รถไฟฟ้ายังมีที่ว่างสำหรับการจอดจักรยานมากมาย โดยที่ไม่เสียค่าจอดรถ 
ซึ่งบริเวณนั้นก็มีกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว 
ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จอดใกล้ ๆ และฟรี 
มากกว่าเลือกความปลอดภัยมากขึ้นอีกนิด แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
ปัญหาต่อมา คือ ราคาไม่เหมาะสม 
ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะจอดรถจักรยานไว้ก่อนขึ้นรถไฟฟ้าจำนวนมากก็จริง
แต่คนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า คือ นักศึกษา และพนักงานออฟฟิศที่ไม่ได้มีรายได้สูงมากนัก
ซึ่ง SecureMyBike กลับมีตัวเลือกให้เลือกเพียง 2 แพ็กเกจ 
นั่นคือคิดเป็นรายชั่วโมง และเหมาจ่ายรายเดือน 
แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือว่ามีอัตราค่าบริการที่สูงทั้งคู่ 
โดยสำหรับเช่าจ่ายรายเดือนจะมีราคาอยู่ที่ 1,122 บาท หรือตกวันละเกือบ 40 บาท
ซึ่งถ้าหากวันไหนที่เราไม่ได้ไปใช้บริการ ก็เท่ากับว่าในวันนั้นเราจะต้องเสียเงินไปฟรี ๆ
ส่วนค่าบริการรายชั่วโมง จะตกชั่วโมงละ 11 บาท ซึ่งหากเราทำงาน 8 ชั่วโมง 
เท่ากับว่าเราต้องจ่ายวันละ 88 บาทโดยยังไม่รวมค่าเดินทางอื่น ๆ 
ดังนั้นหากแถวรถไฟฟ้า สามารถจอดรถจักรยานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือค่าปรับ
คนส่วนใหญ่ก็คงไม่มาเลือกหนทางที่ต้องเสียเงินอยู่แล้ว
อ่านมาถึงตรงนี้ กรณีศึกษาของ SecureMyBike ก็น่าจะบอกกับเราว่า 
ไม่ว่าสินค้าหรือบริการจะดีแค่ไหน 
แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ก็คงยากที่จะสามารถเดินต่อไปได้ 
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.