รู้จัก นักสะสมสินค้าสุดเฟล 1,000 ชิ้น ผู้คิดค้นโมเดล วิเคราะห์ความล้มเหลว 6 ประการ
Business

รู้จัก นักสะสมสินค้าสุดเฟล 1,000 ชิ้น ผู้คิดค้นโมเดล วิเคราะห์ความล้มเหลว 6 ประการ

23 ส.ค. 2024
รู้จัก นักสะสมสินค้าสุดเฟล 1,000 ชิ้น ผู้คิดค้นโมเดล วิเคราะห์ความล้มเหลว 6 ประการ /โดย ลงทุนเกิร์ล
นักสะสมทั่วไปที่เรารู้จัก มักจะเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการสะสมสินค้าที่ตนเองชื่นชอบ จัดวางสินค้าหายาก หรือสินค้าลิมิเต็ดเอดิชันต่าง ๆ ราวกับว่าสินค้านั้นเป็นถ้วยรางวัลในตู้โชว์
แต่นี่ไม่ใช่กรณีของคุณ Sean Jacobsohn ผู้ชื่นชอบสะสมสินค้าที่บริษัทดังผลิตออกมา แต่ล้มเหลว..
ซึ่งเขามีมากกว่า 1,000 ชิ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ BlackBerry, ตุ๊กตา Allan จากบริษัท Mattel ผู้ผลิตเดียวกันกับตุ๊กตา Barbie และเครื่องดื่ม Coke สูตรใหม่ของบริษัท Coca-Cola
แม้สินค้าเหล่านี้ จะเปรียบเสมือนสินค้าฝันร้ายที่ไม่น่าจดจำของเหล่าบริษัทชื่อดัง แต่พวกมันกลับกลายเป็นคอลเลกชันของสะสมที่มีเรื่องราวสุดพิเศษของคุณ Sean Jacobsohn
อะไรคือแรงบันดาลใจให้คุณ Sean Jacobsohn สะสมสินค้าสุดเฟลนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เริ่มแรกต้องขอเล่าถึงประวัติที่ไม่ธรรมดาของคุณ Sean Jacobsohn เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการตลาด การเงิน และธุรกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย Wisconsin และจบ MBA จาก Harvard Business School
หลังจากเรียนจบ คุณ Jacobsohn ได้ร่วมก่อตั้ง HBS Alumni Angels ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเขายังได้เข้าสู่การทำงานสายเทคโนโลยี ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายจัดการ ของบริษัทซอฟต์แวร์ Cornerstone OnDemand
โดยคุณ Jacobsohn สร้างผลงานโดดเด่น ด้วยการทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตกว่า 10 เท่า จาก 250 ล้านบาท เป็น 2,700 ล้านบาท และมีผู้สมัครใช้บริการซอฟต์แวร์จาก 300,000 คน เพิ่มเป็นมากกว่า 7.5 ล้านคน
ปัจจุบันคุณ Jacobsohn ดำรงตำแหน่งหุ้นส่วนของบริษัท Norwest Venture Partners ในย่าน Silicon Valley ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัท Venture Capital หรือบริษัทร่วมทุน ที่จะหาโอกาสลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปใหม่ ๆ
จากการสะสมความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี, การขายสินค้า และการพัฒนาธุรกิจของคุณ Jacobsohn ยังทำให้เขาได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาในคณะกรรมการบริหารของบริษัทอีก 13 แห่ง
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จมากมายขนาดนี้ ถึงไม่สะสมถ้วยรางวัลแห่งความสำเร็จ แต่กลับสะสมของที่บริษัทชั้นนำทำพลาดแทน ?
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2022 ในตอนที่คุณ Jacobsohn เข้าชมการแข่งขันบาสเกตบอลของทีม Golden State Warriors และได้รับตุ๊กตาโยกหัวที่เลียนแบบนักบาสเกตบอล เป็นของสมนาคุณ
ซึ่งตุ๊กตานี้เป็นของผู้สนับสนุนทีมบาสเกตบอล บริษัท FTX แพลตฟอร์มคริปโทและ NFT แต่อยู่ในช่วงที่บริษัท FTX กำลังมีข่าวประกาศล้มละลายพอดี
คุณ Jacobsohn สังเกตเห็นว่าสินค้านี้แม้จะมีเจตนาที่ดี ด้วยการสร้างสรรค์ตุ๊กตาเป็นของที่ระลึกจากการแข่งขันบาสเกตบอล เพื่อโปรโมตบริษัทไปในตัว แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่าไร
จากเหตุการณ์นี้ทำให้คุณ Jacobsohn จุดประกายไอเดียตามซื้อสินค้าที่มีเรื่องราวของความล้มเหลวแฝงอยู่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เป็นสินค้าที่ใครหลายคนไม่ต้องการจนอยากขายทิ้ง ซึ่งมีหลากหลายแคเทอกอรีไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์เทคโนโลยี, ตุ๊กตา, เครื่องดื่ม ไปจนถึงสินค้าความงาม
มุมมองที่น่าสนใจของคอลเลกชันสะสมสุดแปลกนี้ ไม่ใช่การนำสินค้าของบริษัทดังมาแขวนประจานให้เกิดความอับอาย แต่คือการชักชวนให้ผู้คนที่เห็นสินค้า ได้คิดวิเคราะห์ว่า ทำไมสินค้าเหล่านี้ถึงไม่ประสบความสำเร็จ
ซึ่งคุณ Jacobsohn มักจะเขียนอธิบายเรื่องราวสั้น ๆ จากการวิเคราะห์สินค้าเอาไว้
ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จระดับโลกอย่าง Apple เคยออกขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดเล็กในชื่อ Power Mac G4 Cube ถูกคิดค้นโดยคุณ Steve Jobs ในปี 2000 แต่ถูกยกเลิกการผลิตในปีต่อมา
เนื่องมาจากเหตุผลหลายข้อเช่น ราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ, ความสามารถในการอัปเกรดที่จำกัด และข้อถกเถียงในเรื่องความสวยงามของการดิไซน์รูปแบบคอมพิวเตอร์ในยุคสมัยนั้น
จนปัจจุบันคอลเลกชันของสะสมของคุณ Jacobsohn มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 1,000 ชิ้น จากของโชว์ในตู้ห้องทำงาน ได้ขยายจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวที่อยู่ภายในบ้านของตัวเขาเอง
อย่างไรก็ตาม คุณ Jacobsohn ไม่ได้เปิดขายตั๋วให้คนทั่วไปเข้าชม แต่เขาเลือกเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้ประกอบการมาเข้าชมทุกสัปดาห์ และยังเปิดเว็บไซต์ออนไลน์ในชื่อ Failure Museum ให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเรื่องราวสินค้าทั้งหมดได้
นอกจากนี้คุณ Jacobsohn ยังพัฒนากรอบแนวคิดของตัวเอง ถอดบทเรียนจากสินค้าล้มเหลวที่สะสมมาทั้งชีวิต จนสร้างเป็นทฤษฎีชื่อว่า "6 Forces of Failure" ดังนี้
ผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด การเงินของบริษัทที่ไม่มั่นคง ขาดการวางแผน การละเลยข้อเสนอแนะของลูกค้า สินค้าอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง จังหวะเวลาไม่ดี ข้อผิดพลาดของบริษัทหรือทีมงานภายใน
อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจเข้าใจเจตนาของคุณ Jacobsohn มากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่การสะสมสินค้าสุดเฟลไว้ในตู้โชว์ธรรมดาทั่วไป
แต่เป็นการสะสมเรื่องราวความล้มเหลวผ่านตัวสินค้า ที่สามารถถ่ายทอดบทเรียน และกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการหลายคนนั่นเอง
สุดท้ายนี้คุณ Jacobsohn ได้ให้ข้อคิดว่า เราทุกคนไม่ควรกลัวความล้มเหลว และไม่ควรกลัวที่จะเสี่ยงลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้นแล้ว อาจเป็นสปริงบอร์ดไปสู่ความสำเร็จในอนาคต..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.