Dupe Phenomena ปรากฏการณ์ Gen Z แห่ใช้สินค้าเทียบเคียงแบรนด์หรูไฮเอนด์ เวอร์ชันราคาถูกกว่า
Business

Dupe Phenomena ปรากฏการณ์ Gen Z แห่ใช้สินค้าเทียบเคียงแบรนด์หรูไฮเอนด์ เวอร์ชันราคาถูกกว่า

12 ก.ค. 2024
Dupe Phenomena ปรากฏการณ์ Gen Z แห่ใช้สินค้าเทียบเคียงแบรนด์หรูไฮเอนด์ เวอร์ชันราคาถูกกว่า /โดย ลงทุนเกิร์ล
คุณจะเลือกอะไร ระหว่างลิปสติกสีดังของแบรนด์ X ในราคาหลักพัน หรือลิปสติกแบรนด์ Y ที่มีสีและผลลัพธ์ใกล้เคียงราวกับฝาแฝด แต่ราคาต่ำกว่าเกือบ 10 เท่า ?
ไม่ว่าคุณจะเลือกแบรนด์ X หรือ Y ก็ไม่ใช่เรื่องผิด
แต่ถ้าถามกลุ่ม Gen Z จำนวน 100 คน
เราอาจได้คำตอบว่าเลือกแบรนด์ Y เกือบครึ่ง อย่างมีนัยสำคัญ
เรากำลังพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บนปรากฏการณ์ “Dupe Phenomena” ที่เกิดขึ้นในอเมริกา และดูเหมือนว่าในประเทศไทยก็มีแนวโน้มแบบเดียวกัน
แล้ว Dupe Phenomena คืออะไร ?
มีความสำคัญอย่างไร กับคนที่อยากทำธุรกิจในยุคนี้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
สำหรับคำว่า “Dupe” มาจากคำว่า “Duplicate” ที่หมายถึง “จำลอง, สำเนา, เหมือนกัน”
ซึ่ง Dupe Phenomena ก็หมายถึงปรากฏการณ์ของคนที่หันมาค้นหาสินค้าเทียบเคียง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าความงาม เครื่องสำอาง สกินแคร์ น้ำหอม เสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน มาใช้ทดแทนสินค้ายอดนิยมจากแบรนด์ไฮเอนด์
อย่างไรก็ตามสินค้า Dupe ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงสินค้าลอกเลียนแบบ หรือของก๊อบปี้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมาแบบเป๊ะ ๆ ที่เป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย
แต่ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญ หรือความตั้งใจ ทำให้สินค้า Dupe ส่วนใหญ่มีบรรจุภัณฑ์ รูปร่างหน้าตา หรือฟังก์ชันที่คล้ายคลึงกัน ให้ผลลัพธ์การใช้งานใกล้เคียงกัน ถึงขั้นใช้แทนกันได้ หรือต่างกันเพียงเล็กน้อยจนน่าพอใจ ในราคาที่สบายกระเป๋ากว่า
แม้ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยกลุ่มคนที่สนใจและยอมรับการใช้สินค้า Dupe มากที่สุด คือกลุ่ม Gen Z
สาเหตุหลักที่ทำให้ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับความนิยม เนื่องจากคนรุ่น Gen Z มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยมาเติมเต็มให้กับตัวเองได้ จึงมองหาวิธีที่คุ้มค่าเพื่อให้ตามเทรนด์อยู่เสมอ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก
ขณะเดียวกันหลายคนก็รู้สึกท้าทาย และสนุกที่ได้หาสินค้า Dupe ได้ก่อนใคร จนกลายเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการรีวิวอีกทางหนึ่ง
หากยกตัวอย่าง ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก Dupe Phenomena คงหนีไม่พ้น e.l.f. Beauty ธุรกิจเครื่องสำอางสัญชาติอเมริกัน ที่มีลิปสติกที่สีและเนื้อผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับ Clinique แบรนด์ในเครือ Estée Lauder ในราคาถูกกว่า 4 เท่า
หรือคอนซีลเลอร์ที่ให้การปกปิดใกล้เคียงกับคอนซีลเลอร์ตัวดังของ Tarte เครือ KOSÉ ในราคาถูกกว่า 4 เท่า
ทำให้เครื่องสำอาง e.l.f. Beauty ถูกบอกต่อ ลูกค้ารีวิวความประทับใจในคุณภาพที่ได้รับ เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป และส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทโตระเบิด จนดันให้ e.l.f. Beauty แม้จะเป็นธุรกิจเครื่องสำอางน้องใหม่ แต่ก็มีมูลค่ากิจการ 420,000 ล้านบาท เป็นหุ้น 10 เด้ง ใน 5 ปี
ซึ่งถ้ามองในมิติทางการตลาด กลุ่ม Gen Z ก็มีพฤติกรรมที่ไม่ได้จงรักภักดีกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมานานแล้ว
เพราะพวกเขากล้าที่จะลองใช้ และเปิดใจให้กับแบรนด์ใดก็ตามที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ แม้จะเป็นแบรนด์เกิดใหม่ไม่นานก็ตาม
ที่สำคัญคือกลุ่ม Gen Z ไม่ได้มองว่าการใช้ของ Dupe เหล่านี้เป็นเรื่องน่าอาย หรือไม่ได้กลัวถูกมองว่าใช้ของธรรมดา ๆ ราคาไม่แพงเลยสักนิด
เพราะหากเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเป็นอันตราย กลุ่ม Gen Z ก็มีแนวโน้มควักกระเป๋าซื้อได้ไม่ยาก แถมยังยินดีที่จะบอกต่อหรือแนะนำคนอื่น ๆ ให้ได้รู้จักอีกด้วย
การเกิดขึ้นของ Dupe Phenomena ก็ดูเป็นทิศทางเดียวกับอีกหลาย ๆ เทรนด์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม Gen Z เพราะที่ผ่านมาเรามักจะได้เห็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ที่สวนทางกับบรรทัดฐานเดิมอยู่บ่อย ๆ
เช่น เทรนด์ Deinfluencer หรือการรีวิวสินค้าที่ “ไม่ควรซื้อ” แทนที่จะรีวิว “สินค้าน่าซื้อ” เพื่อเตือนสติผู้บริโภคที่มักถูกเหล่า Influencer ป้ายยาของต้องมี จนใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อของที่ไม่จำเป็น
หรือแม้แต่ Loud Budgeting เทรนด์ใช้ชีวิต “อวดความประหยัด” ที่เป็นทิศทางตรงกันข้ามกับคนรุ่นก่อน ๆ ที่นิยมโชว์ความหรูหรานั่นเอง
ดังนั้น Dupe Phenomena จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสของแบรนด์ใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างการเติบโตได้ในยุคนี้ หากสามารถตอบโจทย์คน Gen Z ได้ตรงจุด
ในทางตรงกันข้าม ก็ต้องหาวิธีประคับประคองให้กลุ่มคนเหล่านี้ยังใช้บริการต่อไป เพราะพวกเขาพร้อมเปลี่ยนไปทดลองแบรนด์ใหม่ได้เสมอ ถ้าไม่ถูกใจเช่นกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.