ทำไม ทัวร์คอนเสิร์ต ของศิลปินระดับโลก ถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
Economy

ทำไม ทัวร์คอนเสิร์ต ของศิลปินระดับโลก ถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

21 ส.ค. 2023
ทำไม ทัวร์คอนเสิร์ต ของศิลปินระดับโลก ถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลายคนคงเคยได้ยินว่า คอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก เป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศผู้จัดเป็นอย่างดี
ตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ต BLACKPINK ที่กรุงฮานอย
ซึ่งทางการเวียดนามเผยว่า คอนเสิร์ตนี้สามารถดึงเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าประเทศได้เกือบ 1,000 ล้านบาท
หรือสิงคโปร์ ที่มีศิลปินระดับโลกทั้ง Coldplay และ Taylor Swift จะบินมาจัดคอนเสิร์ตในปีหน้า ก็ถูกคาดการณ์ว่า จะมีเม็ดเงินมหาศาล เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ของแถมที่ใครหลายคนอาจนึกไม่ถึง ที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับเม็ดเงินเหล่านั้น ก็คือ “อัตราเงินเฟ้อ” ที่อาจจะถูกดึงให้สูงขึ้นตามไปด้วย..
โดยมีกรณีศึกษา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อ Beyoncé ได้เปิดฉากทัวร์คอนเสิร์ต ที่กรุงสตอกโฮล์ม เป็นที่แรก
ทำให้แฟนเพลงทั่วยุโรป แห่เข้ามายังเมืองหลวงของสวีเดน จนทำให้ทั้งราคาตั๋ว และค่าที่พัก “พุ่งกระฉูด”
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนั้นของสวีเดน เพิ่มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.2%
แล้วคอนเสิร์ตใหญ่ของศิลปินระดับโลกนั้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อจริงหรือไม่ ? และเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเลย ต้องอธิบายกลไกของเงินเฟ้อกันก่อน
ภาวะเงินเฟ้อ เกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เงินจำนวนเท่าเดิม สามารถซื้อของได้น้อยลง
ซึ่งแปลว่า มูลค่าของเงิน และกำลังซื้อของผู้บริโภคน้อยลง
เช่น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ข้าวกะเพราไก่ ราคาจานละ 40 บาท แต่ทุกวันนี้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาท
ทำให้เงิน 40 บาทเท่าเดิม ไม่สามารถซื้อข้าวกะเพราไก่ได้อีกแล้ว
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ มีหลายปัจจัย ตั้งแต่ต้นทุนของสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาขายต้องเพิ่มตาม เช่น มีต้นทุนค่าพลังงาน ค่าแรง และค่าวัตถุดิบ ปรับตัวสูงขึ้น
หรืออาจมาจากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าสูง แต่ปริมาณสินค้าอาจมีไม่มากพอหรือมีจำกัด ทำให้ผู้ขายสามารถปรับเพิ่มราคาขึ้นได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ หรือ Inflation Rate ที่เป็นเปอร์เซ็นต์นั้น คำนวณมาจาก อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค หรือพูดง่าย ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศ ที่กระทรวงพาณิชย์ไปเก็บข้อมูลมา
สมมติ ดัชนีราคาผู้บริโภค ปีที่แล้ว เท่ากับ 100 และปีนี้ เพิ่มขึ้นมา 1 หน่วย เป็น 101 แปลว่า อัตราเงินเฟ้อก็จะเท่ากับ 1%
ในส่วนของราคาสินค้าและบริการ ที่กระทรวงพาณิชย์ไปเก็บข้อมูลมานั้น ก็จะมีหลายหมวดหมู่ ซึ่งแต่ละหมวดก็มีหลายชนิด เช่น หมวดหมู่อาหาร ก็จะมีทั้งข้าวสาร น้ำตาล เกลือ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ฯลฯ
แล้วการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างไรนั้น กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ได้อธิบายไว้หลายเหตุผล ดังนี้
1.ความต้องการของผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่อุปทานมีจำกัด ทำให้ราคาสินค้าและบริการ พุ่งขึ้นตาม
อย่างที่รู้กันว่า งานคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดัง ที่มีฐานแฟนคลับจากทั่วโลกนั้น
ต่างมีคนจำนวนมาก ต้องการที่จะได้ตั๋ว และพร้อมที่จะจ่าย
ดังนั้น ด้วยจำนวนตั๋ว (อุปทาน) ที่มีจำนวนจำกัดเพียงหลักหมื่น หรือหลักแสนใบ ซึ่งไม่เพียงพอต่ออุปสงค์อันมหาศาลของแฟนเพลง ทั้งจากคนในพื้นที่และต่างประเทศ
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไม่ว่าราคาตั๋วจะสูงแค่ไหน ศิลปินจะไปกี่ประเทศ จะเปิดการแสดงกี่รอบ ราคาตั๋วขายต่อ (รีเซล) จะถูกอัปราคาไปเท่าไร ตั๋วก็ขายหมดเกลี้ยง..
นอกจากนี้ ผลพวงจากคอนเสิร์ต ยังตามมาด้วย ค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทางภายในประเทศ ค่าอาหารการกิน และค่าช็อปปิง ของคนเรือนแสน
ในหลักการเดียวกันกับตั๋ว เมื่ออุปสงค์ แซงหน้า อุปทานไปไกล ทำให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ปรับตัวขึ้นตามด้วย
อย่างเช่น ค่าที่พักในละแวกใกล้ ๆ ที่จัดคอนเสิร์ตใหญ่ ซึ่งมีจำนวนห้องจำกัด ก็มักจะมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงที่มีงานอิเวนต์
ซึ่งราคาของสินค้าและบริการหลายชนิด ที่แพงขึ้นจากการจัดคอนเสิร์ต ส่งผลต่อดัชนีราคาสินค้าหลายหมวดหมู่ และทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในที่สุด
2.โมเดลการหารายได้ของศิลปินที่เปลี่ยนไป
การมาของยุคดิจิทัล และธุรกิจสตรีมมิงเพลง ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ศิลปินต้องปรับตัว
จากเดิมที่ศิลปิน มีรายได้หลักมาจากการขายเพลง ก็เผชิญกับการที่สัดส่วนรายได้ตรงนี้ลดลง
เลยต้องหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งทำเงินอื่น ๆ มากขึ้น อย่างเช่น คอนเสิร์ตและงานแสดงสด ก็ได้กลายมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับศิลปิน ในยุคนี้แทน
ส่งผลให้ ต้องบวกราคาบัตรคอนเสิร์ตให้แพงขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปของศิลปิน ในส่วนนั้น
ซึ่งราคาตั๋ว ก็อยู่ในหมวดหมู่นันทนาการในดัชนีราคาสินค้า ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ก็มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคน ที่โต้แย้งเรื่องปรากฏการณ์ทัวร์คอนเสิร์ต ของศิลปินระดับโลก ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ ด้วยเช่นกัน
โดยแย้งว่า ภาวะเงินเฟ้อ ที่หลายประเทศทั่วโลกประสบอยู่ตอนนี้ เกิดจากอุปสงค์และอุปทาน ไม่สมดุลกัน จากสถานการณ์โรคระบาด
เพราะ Demand จากฝั่งผู้บริโภคเพิ่มขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด 19 ในขณะที่ภาคการผลิตสินค้าและบริการแทบทุกหมวดหมู่ที่ชะลอตัวลง ยังกลับมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการหลายอย่างปรับตัวขึ้น
จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่า ภาวะเงินเฟ้อ มาจากการจัดคอนเสิร์ตเพียงปัจจัยเดียว
และถึงแม้คอนเสิร์ต จะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นก็จริง แต่ก็เป็นแค่ผลกระทบชั่วคราว เนื่องจากเป็นอิเวนต์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะเวลาสั้น ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็อาจยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า การจัดคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งจริงหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ กิจกรรมที่เป็นที่สนใจของผู้บริโภคจำนวนมากนั้น ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างดี
ไม่ต่างจากเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างเช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเลย..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.