SOS, MATCHBOX และ CAMP ขายดีแค่ไหน?
Business

SOS, MATCHBOX และ CAMP ขายดีแค่ไหน?

26 ต.ค. 2020
SOS, MATCHBOX และ CAMP ขายดีแค่ไหน? /โดย ลงทุนเกิร์ล
SOS, MATCHBOX และ CAMP 
เป็นธุรกิจในรูปแบบของ Multi-Brand Store
ที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าจะมีเสื้อผ้าเต็มร้านเหล่านี้ 
แต่ส่วนใหญ่กลับไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าที่เป็นของตัวเอง
ที่สำคัญคือ มีรายได้แตะหลักล้าน กันทุกร้าน

ธุรกิจ Multi-Brand Store คืออะไร และน่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..

เรามาทำความเข้าใจกับธุรกิจ “Multi-Brand Store” กันสักเล็กน้อยนะคะ

ธุรกิจ Multi-Brand Store คือ ร้านที่มีการนำเสื้อผ้าหลายๆ แบรนด์มารวมไว้ที่เดียว

โดยร้าน Multi-Brand จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของสถานที่ และการบริการลูกค้า
ส่วนเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า มีหน้าที่แค่ส่งเสื้อผ้ามาแขวนไว้ที่นี่เท่านั้น

สำหรับร้าน SOS, MATCHBOX และ CAMP สิ่งที่พิเศษมากขึ้นไปอีกก็คือ 
ร้านเหล่านี้จะเลือกเฉพาะ “แบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์” มาวางขายเท่านั้น

ทำให้ร้านแนวนี้กลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่าง
แบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ กับ ลูกค้าทางออฟไลน์

และหลายครั้ง ลูกค้าที่เห็นสินค้าจากทางออนไลน์ ก็จะมาใช้บริการที่ร้านค้าเหล่านี้
เพราะพวกเขาอยากลอง และเห็นสินค้าจริงก่อนจ่ายเงินซื้อ

ในทางกลับกัน ร้านเหล่านี้ ก็ยังตอบโจทย์แบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ ที่ไม่ได้มีทุนมากพอจะมาเช่าหน้าร้านเป็นของตัวเองด้วย

ซึ่งถ้าเราอยากได้ทำเลดีๆ ที่อยู่ในห้าง หรือใจกลางเมือง 
อย่างเช่น สยามสแควร์ ค่าเช่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ “หลักแสน” ต่อเดือน
แต่ถ้าเป็นที่ร้าน Multi-Brand เหล่านี้ ค่าเช่าจะเหลือเพียงประมาณหลักหมื่นต่อเดือน

นอกจากนี้ร้าน Multi-Brand ยังทำการตลาดออนไลน์
โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการให้คนดังมาสวมเสื้อที่มาวางขายที่ร้าน 
ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะเป็นการโปรโมตร้านแล้ว 
ก็ยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์เสื้อผ้าที่มาวางขายไปในตัวด้วย

แล้วร้าน Multi-Brand เหล่านี้ขายดีแค่ไหน?

รายได้ปี 2562 

บริษัท แคมป์ เวิลด์ จำกัด เจ้าของร้าน CAMP BKK 9.3 ล้านบาท
บริษัท เซ้นส์ออฟสไตล์ จำกัด เจ้าของร้าน SOS หรือ Sense of Style 26.2 ล้านบาท
บริษัท แมชบอกซ์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้าน matchbox 46.3 ล้านบาท

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว รายได้ของร้านเหล่านี้ 
จะมาจากการเก็บค่าเช่าแบรนด์เสื้อผ้าที่มาวางขาย ใน 2 รูปแบบ

แบบแรก คือ Fixed rate กำหนดชัดเจนว่าแต่ละเดือน 
ต้องจ่ายค่าเช่าเท่าไร จะขายมากขายน้อยก็จ่ายเท่าเดิม

แบบที่สอง คือ GP หรือการหักเปอร์เซ็นต์
จากยอดขายที่แบรนด์นั้นๆ ขายได้

อย่างไรก็ตาม แม้ร้านพวกนี้จะเป็น Multi-Brand เหมือนๆ กัน
แต่ก็ยังมีเรื่องคอนเซ็ปต์ของร้าน ที่ทำให้มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

SOS จะเน้นสินค้า “สไตล์เรียบหรู” เท่านั้น
ดังนั้นสินค้าทุกชิ้นตั้งแต่หัวจรดเท้าจะมีสไตล์ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด
เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสามารถซื้อเสื้อผ้าไปออกงานได้ครบจบในที่เดียว

ในขณะเดียวกัน SOS ยังขยายไลน์ธุรกิจเป็นร้าน SENSE
ซึ่งจะมีสินค้าราคาเป็นมิตร และดูเข้าถึงง่ายได้มากกว่าSOS
ปัจจุบันมีสาขารวมกัน 10 แห่ง

ส่วน matchbox มีทั้งหมด 8 สาขา
โดยทางร้านจะเน้นไปที่สินค้าราคาย่อมเยา เสื้อผ้าสไตล์น่ารัก สดใส
และยังเป็นราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงง่าย สามารถซื้อได้บ่อยๆ

ในขณะที่ CAMP BKK จะเป็นร้านที่มีเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ 
และการแบ่งโซนตามสไตล์เสื้อผ้า ตอนนี้มีสาขาเพียง 3 แห่ง

แต่จุดที่ต่างจากร้านอื่นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ 
CAMP BKK เริ่มหันมาทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Gentlewoman 
ซึ่งส่วนใหญ่ จะแยกหน้าร้านออกมาเป็นของแบรนด์เองโดยตรง

อ่านมาถึงตรงนี้ กรณีศึกษาของร้าน SOS, matchbox และ CAMP BKK
น่าจะแสดงให้เห็นถึง “ช่องว่าง” ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

ในยุคที่โลกของเรากำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ผู้ต่างพากันคิดว่าหน้าร้านแบบเดิมๆ คงจะถูกแทนที่ด้วยช่องทางออนไลน์

แต่มนุษย์เราก็ยังต้องอาศัยอยู่ในโลกจริง
ร้านเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อช่องว่าง ระหว่างโลกจริง กับโลกบนจอ

ซึ่งไม่ว่าโลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ช่องว่างตรงนี้ก็น่าจะยังคงไม่หายได้ง่าย..

References:
https://www.sossenseofstyle.com/store
https://www.gentlewomanonline.com/about-us
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640814
https://www.campbkk.com/
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.