รู้จัก “ธนาคารเวลา” ที่เราสามารถนำ เวลาไปฝาก และถอนออกมาใช้ได้
Business

รู้จัก “ธนาคารเวลา” ที่เราสามารถนำ เวลาไปฝาก และถอนออกมาใช้ได้

19 ส.ค. 2022
รู้จัก “ธนาคารเวลา” ที่เราสามารถนำ เวลาไปฝาก และถอนออกมาใช้ได้ /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อพูดถึงธนาคาร หลายคนอาจนึกถึงการฝาก, ถอน หรือกู้เงิน
แต่ปัจจุบัน มีธนาคารรูปแบบใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า “ธนาคารเวลา”
ซึ่งเราสามารถใช้ เวลาเป็นตัวกลาง ในการแลกเปลี่ยน แทนเงินได้
โดยในปัจจุบัน คอนเซปต์ของธนาคารเวลา ถูกแพร่ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก
แล้วแนวคิดของ ธนาคารเวลา น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คอนเซปต์ของ ธนาคารเวลา หรือ Time Bank
เกิดจากแนวคิดแบบ “สังคมนิยม”
ที่ต้องการทำให้ เวลากลายมาเป็น ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน แทนการใช้เงินตรา
ซึ่งในบริบทนี้ จะยึดตาม “เวลาที่เราใช้แรงงาน” แล้วนำมาบันทึกเป็น “เครดิตเวลา” ของแต่ละคน
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพของคอนเซปต์นี้ง่าย ๆ ก็คือ
A ถนัดทำอาหาร ส่วน B ถนัดทำงานช่าง
ซึ่ง A อาจต้องการซ่อมบางอย่างภายในบ้าน จึงขอให้ B มาช่วยซ่อม เป็นเวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมง และ B ก็จะบันทึกเครดิตเวลาได้ 1 ชั่วโมง ที่สามารถขอให้ผู้อื่นมาช่วยเขาคืนได้
โดยคอนเซปต์ของธนาคารเวลา เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980
และมีผู้บุกเบิกคนสำคัญ ก็คือ ศาสตราจารย์ ด้านกฎหมาย ชาวอเมริกัน ที่ชื่อว่า “คุณเอ็ดการ์ คาห์น” ซึ่งเขาอุทิศชีวิตให้กับการใช้กฎหมาย เพื่อคนยากจน และสร้างความยุติธรรมในสังคม
คุณคาห์น ใฝ่ฝันถึง โลกการเงินแบบใหม่
ที่ใช้ “เวลาเป็นสกุลเงิน”
และไม่ว่าใคร ก็จะมีเงินสกุลเวลานี้เท่ากัน
เพราะเวลา 1 ชั่วโมงของเรา = 1 ชั่วโมงของทุกคน
แต่ก็มีหลายฝ่าย ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
เพราะหากมูลค่าของเครดิตเวลา
ถูกกำหนดไว้ให้ “ทุกแรงงานมีค่าเท่ากัน”
เพื่อสร้างความเท่าเทียม
สุดท้ายมันก็จะนำไปสู่ปัญหา
เช่น ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
เพราะไม่ว่าจะ ทำงานยากหรือง่าย เวลาที่เสียไปก็มีค่าเท่ากัน..
แม้ว่าแนวคิดของคุณคาห์น จะออกไปทางอุดมคติมาก ๆ
แต่ผู้คนในปัจจุบัน ก็ได้ต่อยอดแนวคิดนี้ และนำมาปรับให้เข้ากับความเป็นจริงมากขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่ ธนาคารเวลา จะอยู่ในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
อย่างใน สวิตเซอร์แลนด์
รัฐบาลสวิส ได้เปิดธนาคารเวลา ในรูปแบบ “การดูแลผู้สูงอายุ”
โดยจะเป็นการให้ อาสาสมัครวัยหนุ่มสาว ไปดูแลผู้สูงอายุ และนับจำนวนชั่วโมงที่อาสาสมัครคนนั้นทำงาน แล้วบันทึกเป็นเครดิตเวลาของแต่ละคน
เมื่ออาสาสมัครคนนั้นมีอายุมากขึ้น ก็สามารถนำจำนวนชั่วโมงเหล่านั้น มาเบิกเป็น เวลา ที่ให้อาสาสมัครคนอื่น ๆ เข้ามาดูแลได้ เช่น พาไปเดินเล่น, พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด, ทานอาหารกลางวันร่วมกัน หรือแม้กระทั่งตัดแต่งทรงผม
เรียกได้ว่า คอนเซปต์ของธนาคารเวลา ก็เหมือนกับการเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคาร ที่เราจะสามารถถอนออกมาใช้ได้ เมื่อครบกำหนด แต่แตกต่างกันตรงที่ สิ่งที่จะได้รับคือ “เวลา” ไม่ใช่เงินฝาก นั่นเอง
ซึ่งนอกจากในสวิตเซอร์แลนด์แล้ว
โมเดลนี้ก็ยังถูกนำไปใช้ใน ปักกิ่ง ประเทศจีน
เมืองที่มีผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) เกือบ 4.3 ล้านคน
ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดในเมือง
โดยปักกิ่ง เพิ่งเปิดตัวธนาคารเวลา
เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแล ผู้สูงอายุ
ซึ่งอาสาสมัครจะได้รับ 1 เหรียญ เมื่อดูแลผู้สูงอายุครบ 1 ชั่วโมง
และสามารถนำเหรียญไปแลก เป็นเวลาให้ผู้อื่นมาดูแลได้ เมื่อมีอายุครบ 60 ปี
โดยที่เจ้าของเหรียญ สามารถแบ่งปันเหรียญเหล่านั้น ให้กับครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม รูปแบบหรือเงื่อนไขของธนาคารเวลาในแต่ละพื้นที่ ก็จะแตกต่างกันไป และไม่ได้มีแค่ตำแหน่งที่ดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น
แต่ยังมีตำแหน่งอื่นในแผนกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แผนกที่ดูแลด้านเทคโนโลยี, แผนกทำสวน, แผนกให้บริการด้านความงาม หรือแม้กระทั่งแผนกซ่อมบ้าน
ซึ่งอาสาสมัคร จะสามารถเลือกตำแหน่งตามความถนัด หรือความชอบของตนเองได้
ที่สำคัญ คือ โมเดลนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการเปลี่ยนเวลาของเรา ให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า
แต่มันยังช่วยลดภาระให้กับภาครัฐ โดยเฉพาะประเทศที่มีแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ
ยิ่งประชากรผู้สูงอายุ มีจำนวนมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งหมายถึง ภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบมากขึ้นเท่านั้น
โดยมีการประเมินว่า ตอนนี้ 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลก คือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
และภายในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
ดังนั้น ธนาคารเวลาในรูปแบบดังกล่าว จึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐส่วนหนึ่ง ไปให้ประชาชนช่วยกันรับผิดชอบนั่นเอง..
นอกจากนี้ โมเดลธนาคารเวลา ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุเท่านั้น
แต่ธนาคารเวลาในบางแห่ง เราสามารถนำเวลาของเรา ไปแลกเปลี่ยนเป็นบริการอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารเวลาในแต่ละแห่ง
ซึ่งในปัจจุบัน โมเดลเรื่องธนาคารเวลา ได้ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, นิวซีแลนด์, จีน และสิงคโปร์
โดยมีการบันทึกไว้ว่า ในปี 2018 เคยมีธนาคารเวลาในสหรัฐอเมริกา มากถึง 120 แห่ง
แต่ในหลาย ๆ แห่ง ก็มักจะเปิดได้ไม่นาน แล้วก็ต้องปิดตัวลง
เนื่องจาก แนวคิดการนำเวลา มาแลกเปลี่ยนแรงงานกัน ยังเป็นเรื่องที่ยากต่อการประเมินว่า เวลาที่แต่ละคนเสียไปกับการลงแรงบางอย่าง มันเท่ากันจริง ๆ หรือไม่
และในยุคที่ทุกคนยังต้องใช้ เงิน ในแทบทุกเรื่องของชีวิต จะพูดว่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง ก็คงไม่เกินจริง..
เรื่องนี้ก็น่าคิดต่อไปว่า ถ้าเวลาของทุกคน ไม่เท่ากันจริง ๆ
แล้วเราจะใช้อะไรเป็นการประเมิน ?
ความสามารถ, ฐานะทางสังคม หรือ อำนาจ ?
และถ้าเวลา ของเราถูกตัดสินว่า มีค่าน้อยกว่า เวลาของคนอื่นจริง ๆ
เราจะยอมรับได้ไหม ถ้าคนอื่นใช้ข้ออ้างว่า
เวลาของเขามีค่ามากกว่า และเราต้องเป็นฝ่ายยอมเสียเวลา มากกว่าเขา..
Sponsored by JCB
JCB แบรนด์ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตจากประเทศญี่ปุ่น - พิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต JCB พบกับโปรโมชั่นในไทยและต่างประเทศมากมาย สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ www.facebook.com/JCBCardThailandTH และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา #JCBThailand #JCBOwnHappinessOwnStory
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.