รู้จัก Royal Warrant ตรารับรองสินค้า ที่การันตีจากผู้ใช้จริง โดยกษัตริย์
Business

รู้จัก Royal Warrant ตรารับรองสินค้า ที่การันตีจากผู้ใช้จริง โดยกษัตริย์

12 ม.ค. 2024
รู้จัก Royal Warrant ตรารับรองสินค้า ที่การันตีจากผู้ใช้จริง โดยกษัตริย์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
เคยสังเกตกันไหมว่า บนบรรจุภัณฑ์หรือฉลากสินค้าบางแบรนด์ จะมี “ตราอาร์ม” หรือตราแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ปรากฏอยู่
หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองหยิบสินค้าที่หลายคนคุ้นเคยขึ้นมา อย่างขวดซอสมะเขือเทศ (แบบขวดแก้ว) แบรนด์ Heinz, กระป๋องชาแบรนด์ Twinings หรือกระป๋องเครื่องดื่มอัดลมแบรนด์ Schweppes
แล้วสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ามีตราแผ่นดินของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษ ประทับอยู่บนบรรจุภัณฑ์สินค้าเหล่านี้ด้วย
โดยตรานี้เรียกว่า “Royal Warrant” ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพสินค้าของแบรนด์นั้น ๆ ว่าดีเลิศ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ถึงขนาดเป็นที่ไว้วางใจจากกษัตริย์และราชวงศ์ ที่พึงพอใจในการเลือกใช้สินค้าจากแบรนด์ดังกล่าว
แล้วตรา Royal Warrant นี้มีที่มาอย่างไร ?
และแบรนด์เหล่านี้ ทำอย่างไร ถึงได้รับตราพระราชทาน Royal Warrant มาครอบครอง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 12 อันเป็นจุดเริ่มต้นของตรา Royal Warrant แห่งราชวงศ์อังกฤษ
ซึ่งในเวลานั้นตรงกับสมัยการปกครองของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในราชวงศ์แพลนแทเจเนต
ตอนนั้นทางสำนักพระราชวัง ได้มีการริเริ่มออกกฎบัตรใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ Royal Warrant ให้แก่พ่อค้าวาณิชและช่างฝีมือชั้นดีต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นคู่ค้าจัดหาสินค้าและบริการ ส่งให้กับทางราชวัง
การกำเนิดของตราพระราชทาน Royal Warrant ทำให้พ่อค้าและช่างฝีมือทั้งหลาย ต่างพากันแข่งขันพัฒนาสินค้าและบริการของตนเอง ให้มีคุณภาพที่โดดเด่น เพื่อหวังเป็นที่โปรดปรานจากกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ รวมถึงกลุ่มขุนนางชั้นสูง เพื่อให้ได้ตรามาครอบครอง
โดยตลอดศตวรรษที่ 15-18 การแข่งขันดังกล่าว ยังคงทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เหล่าพ่อค้าและช่างฝีมือต่าง ๆ ก็เริ่มนำตราพระราชทาน Royal Warrant ออกมาประดับตามหน้าร้าน เพื่อโปรโมตกิจการของตนเองว่าดี มีคุณภาพ และมีระดับ จนได้ทำการค้าขายกับทางราชวงศ์
ในขณะเดียวกัน ทางสำนักราชวังเอง ก็เริ่มเข้มงวดกับการคัดเลือกคู่ค้ามากขึ้น ถึงขนาดที่ว่าหากสินค้าและบริการของพ่อค้า หรือช่างฝีมือคนใด ไม่เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน ทางราชวังก็มีสิทธิ์เพิกถอนตราพระราชทานดังกล่าวได้ทันที
และกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ถูกยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา กระทั่งในปี 1840 ซึ่งตรงกับสมัยการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ได้ปรับปรุงแนวทางการพระราชทานตรา Royal Warrant ให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
พร้อมกับรับสั่งให้มีการก่อตั้ง Royal Warrant Holders Association (RWHA) ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล และบริหารจัดการเรื่องการออกตรา Royal Warrant โดยเฉพาะ
โดยปัจจุบัน หากกิจการใดต้องการขอพระราชทานตรา Royal Warrant กับทาง RWHA
บริษัทหรือคู่ค้านั้น ๆ จะต้องทำงานถวายราชพระวงศ์อังกฤษ เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี
ถึงจะมีสิทธิ์ขอพิจารณาพระราชทานตราดังกล่าว และมีสิทธิ์นำตราอาร์ม หรือตราแผ่นดินของกษัตริย์ มาใช้ร่วมบนโฆษณาและบรรจุภัณฑ์สินค้าและบริการของตนได้
นอกจากนี้ เมื่อได้ตรา Royal Warrant มาครอบครองแล้ว ก็ใช่ว่าธุรกิจนั้น จะสามารถใช้ตรานี้ได้ตลอดไป เพราะตรานี้จะมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 5 ปี และเมื่อตราหมดอายุลง กิจการนั้น ๆ ก็ต้องทำเรื่องขอเข้ารับการพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทหรือคู่ค้า ยังคงรักษาเอกลักษณ์ คุณภาพสินค้า และบริการที่ดีของตนเองเอาไว้ เพราะหากตกมาตรฐานเมื่อใด ตรา Royal Warrant จะถูกยกเลิกทันที
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องการันตีคุณภาพแล้ว การได้ตราพระราชทาน Royal Warrant มาครอง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการตลาด ที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างคุณค่าในสายตาของผู้บริโภค ให้กับแบรนด์นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยข้อมูลจาก Brand Finance ได้เปิดเผยผลสำรวจว่า ผู้บริโภคชาวอังกฤษส่วนใหญ่ คุ้นเคยและเข้าใจเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าและบริการ ที่ได้รับตรา Royal Warrant เป็นอย่างดี
และหลายคนได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สินค้าและบริการจากแบรนด์ที่มีตรา Royal Warrant ประดับอยู่ แลดูมีความน่าเชื่อถือเหนือกว่าแบรนด์ที่ไม่มี
อีกทั้งยังให้ความรู้สึกพรีเมียม จากการที่ได้ใช้สินค้าและบริการ ที่แม้แต่กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูงยังให้การรับรอง
ที่สำคัญ พวกเขายินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อซื้อแบรนด์สินค้าและบริการ ที่มีตรา Royal Warrant ประดับอยู่อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า มีแบรนด์ดังอะไรบ้าง ที่ได้รับตราพระราชทาน Royal Warrant ?
ปัจจุบันทาง RWHA ได้ออกตรารับรองพระราชทาน Royal Warrant ให้แก่บริษัท ห้างร้าน รวมถึงแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งในกิจการระดับท้องถิ่น ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาจดทะเบียนในประเทศอังกฤษ รวมกันแล้วกว่า 800 ราย
โดยแบรนด์ดังที่ได้รับตรานี้ ยกตัวอย่างเช่น..
หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น แบรนด์ Coca-Cola, Cadbury, Kellogg's, Marmite, Tabascoหมวดสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ เช่น แบรนด์ Burberry, Cartier, Garrardหมวดสินค้าแอลกอฮอล์ เช่น แบรนด์ Johnnie Walker, Champagne Moët & Chandonหมวดห้างร้านและบริการ เช่น ห้างหรู Selfridges, ห้างหรู Fortnum & Mason
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงประเทศอังกฤษเท่านั้น ที่พระมหากษัตริย์มีการพระราชทานตรา Royal Warrant รับรองคุณภาพสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ แต่ยังมีประเทศอื่นอีก เช่น ประเทศเบลเยียม, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์ รวมถึงไทย
สำหรับตรา Royal Warrant ของไทย จะอยู่ในรูปแบบตราตั้งห้าง “ตราครุฑพ่าห์” ซึ่งเป็นตราแผ่นดินของไทย ที่กษัตริย์จะพระราชทานให้แก่บริษัทหรือห้างร้าน ที่ประกอบกิจการ กับทางสำนักราชวังเป็นหลักอยู่แล้ว
และมีคุณสมบัติคือ ต้องประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย มีฐานะการเงินดี ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงสร้างงานที่เป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดินไทย
โดยตัวอย่างธุรกิจและแบรนด์ไทย ที่ได้รับตราตั้งห้างนี้ ก็อย่างเช่น
C.P. Group, King Power, ไทยเบฟ, บุญรอดบริวเวอรี่, ศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล, โอสถสภา, ยาสีฟันวิเศษนิยม เป็นต้น
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.