Bombas ขายถุงเท้าอย่างไร ให้ได้ยอดขาย 7,000 ล้าน
Business

Bombas ขายถุงเท้าอย่างไร ให้ได้ยอดขาย 7,000 ล้าน

10 ม.ค. 2022
Bombas ขายถุงเท้าอย่างไร ให้ได้ยอดขาย 7,000 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ ดีลที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับรายการ Shark Tank คือ “ธุรกิจขายถุงเท้า” ที่แทบไม่ได้เป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมสุดล้ำอะไร แต่กลับสร้างยอดขายรวมได้ถึงกว่า 7,500 ล้านบาท
แล้วอะไรทำให้ถุงเท้าธรรมดา กลายเป็นธุรกิจพันล้านได้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Shark Tank เป็นรายการโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ มาพิชิตธุรกิจของตัวเอง เพื่อแลกกับเงินลงทุนจากกรรมการ เริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2009
ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีผู้ที่เข้ามานำเสนอธุรกิจแล้ว มากกว่า 1,100 ราย
โดยในปี 2020 ก็ได้มีการจัดอันดับธุรกิจจาก Shark Tank ที่ทำ “ยอดขายสูงสุด”
และผู้ที่ได้อันดับ 1 ก็คือ Bombas ธุรกิจขายถุงเท้านั่นเอง..
เรื่องราวของ Bombas เริ่มต้นขึ้นในปี 2013 โดยคุณ Randy Goldberg และคุณ David Heath ที่ได้สะดุดตากับโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ความขาดแคลนถุงเท้าขั้นรุนแรงของคนไร้บ้าน
จนนำไปสู่ธุรกิจ ที่เข้าตากรรมการอย่างคุณ Daymond John ซึ่งยอมให้เงินลงทุนกว่า 6.7 ล้านบาท แลกกับหุ้น 17% ในรายการ Shark Tank ปี 2014
ทำไม “ถุงเท้า” ถึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไร้บ้าน ?
ข้อมูลจากสถานพักพิงสำหรับเยาวชนไร้บ้านแห่งหนึ่งระบุว่า บ่อยครั้งที่พวกเขาพบกับคนไร้บ้าน เดินเข้ามาด้วยเท้าซึ่งเต็มไปด้วยแผลพุพอง โดนหิมะกัด เลือดไหล หรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ โดยสาเหตุก็มาจากการที่คนเหล่านี้ ไม่มีถุงเท้าที่สะอาดสวมใส่
และด้วยความที่ว่า ทางสถานที่พักพิง ไม่มีนโยบายการรับบริจาคถุงเท้าใช้แล้ว ประกอบกับด้านของเหล่าคนไร้บ้านเอง ที่ถุงเท้าก็มักจะชำรุดง่าย เพราะพวกเขาต้องเดินไปมาบ่อย ๆ แถมยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องซักผ้า สำหรับทำความสะอาดถุงเท้าเหล่านี้ด้วย
จึงเป็นเหตุให้ ถุงเท้าสะอาด กลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอยู่บ่อย ๆ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Goldberg และคุณ Heath จึงเกิดไอเดียธุรกิจ Bombas ที่เมื่อลูกค้าจ่ายเงินซื้อถุงเท้า 1 คู่ สิ่งที่จะได้รับก็คือ ถุงเท้า 1 คู่ และการได้บริจาคถุงเท้าอีก 1 คู่ให้กับคนไร้บ้าน
ที่น่าสนใจคือ Bombas ไม่ใช่องค์กรการกุศล ดังนั้น ธุรกิจที่ทำจึงต้องได้กำไร
ซึ่งบริษัทก็สามารถคืนทุน และทำกำไรได้ในปี 2016
ในเมื่อทุก ๆ การสั่งซื้อ บริษัทจะต้องบริจาคสินค้าในปริมาณที่เท่ากัน แล้ว Bombas จะทำกำไรได้อย่างไร ?
คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะรวมอยู่ในราคาขาย ที่ลูกค้าต้องจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งถุงเท้าของ Bombas มีราคาสูงถึง 400-600 บาทเลยทีเดียว
แต่ถ้าเป็นถุงเท้าธรรมดา และขายในราคานี้ ถึงแม้ซื้อแล้วจะเหมือนเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไปในตัว ธุรกิจก็คงไม่ยั่งยืนจนเข้าสู่ปีที่ 9 แบบนี้
สิ่งที่ลูกค้าได้รับ เมื่อเทียบกับตัวเงินแล้ว ต้องทำให้พวกเขารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปด้วย ดังนั้น Bombas จึงขายถุงเท้าที่พัฒนาจนมีคุณภาพ สวมใส่สบาย และคงทน รวมถึงมีฝ่ายบริการลูกค้า ที่คอยตอบคำถามลูกค้า ที่ต้องการคำแนะนำหรือติดปัญหาอะไร
ปัจจุบัน Bombas ได้บริจาคสินค้ารวมแล้วกว่า 50 ล้านชิ้น ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่ถุงเท้า เพราะแบรนด์ได้มีการขยายสู่สินค้าประเภทอื่นด้วย เช่น เสื้อยืดหรือชุดชั้นใน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ใช้คอนเซปต์เดียวกัน คือ “1 การซื้อ = 1 การบริจาค”
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในตอนแรก Bombas ต้องการจะบริจาคสินค้าที่หน้าตาเหมือนกับที่ลูกค้าซื้อทุกประการ แต่ปรากฏว่าจริง ๆ แล้ว สำหรับคนไร้บ้านกลับมีความต้องการที่ต่างออกไป
อย่างถุงเท้า ถ้าเป็นสินค้าสำหรับคนทั่วไป ก็จะเป็นการตัดเย็บที่คำนึงถึงความสบายและความสวยงาม แต่หากเป็นสินค้าสำหรับบริจาค กลับใช้ตะเข็บที่แน่นขึ้นและสีดำ เพื่อความคงทน รวมถึงใช้เทคโนโลยีผ้าที่ไม่ต้องทำความสะอาดบ่อย และยับยั้งเชื้อรา
นอกจากนั้น Bombas ยังทำตัวเป็นสื่อกลาง ชักชวนคนอื่น ๆ ให้มาร่วมแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา เพื่อนสตาร์ตอัป หรือองค์กรใหญ่ ๆ นำเสนอวิธีการเข้าถึงกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งต้องใช้ทักษะในการสื่อสารโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้พูดอะไรที่กระทบกระเทือนจิตใจคนเหล่านี้ รวมถึงการจัดกิจกรรม ให้องค์กรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม
จนกลายเป็นโมเดลการกุศลที่ทุกคนแบ่งปันในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว
ซึ่งหากมีองค์กรการกุศลใด ที่ต้องการรับบริจาคจาก Bombas ก็สามารถติดต่อแบรนด์เข้าไปได้ด้วยเช่นกัน
แล้วถ้าถามว่าโมเดลธุรกิจอย่าง Bombas ที่ต้องบริจาคสินค้าเท่ากับยอดที่ขายได้ จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ?
ก็คงดูได้จากยอดบริจาคที่มากกว่า 50 ล้านชิ้น ซึ่งก็หมายถึง Bombas ขายสินค้าไปได้แล้วมากกว่า 50 ล้านชิ้นเช่นกัน รวมถึงสร้างยอดขายไปกว่า 7,500 ล้านบาท กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดในรายการ Shark Tank
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ถ้าหากดูที่สินค้าของ Bombas ก็ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีล้ำยุคอะไรเลย แต่เป็น “ถุงเท้า” ที่อาจจะใส่สบายมากกว่าถุงเท้าในท้องตลาดเล็กน้อย
นอกจากนั้น ในส่วนของโมเดลธุรกิจ Bombas เอง ก็ไม่ได้เป็นคนแรกอีกเช่นกัน ที่คิดค้นคอนเซปต์ “1 การซื้อ = 1 การบริจาค” เพราะรองเท้าแบรนด์ Toms ก็เคยใช้โมเดลธุรกิจนี้ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ “สินค้าที่มีคุณภาพ” มาประกอบกับ “โมเดลธุรกิจที่ใช่”
แม้มันจะเรียบง่ายแค่ไหน ก็คงยากที่จะหนีจากความสำเร็จไปได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.