Olio แอปแชร์อาหารเหลือให้เพื่อนบ้าน ที่ระดมทุนได้ 300 ล้าน
Business

Olio แอปแชร์อาหารเหลือให้เพื่อนบ้าน ที่ระดมทุนได้ 300 ล้าน

8 ก.ย. 2021
Olio แอปแชร์อาหารเหลือให้เพื่อนบ้าน ที่ระดมทุนได้ 300 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
Zero Waste เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และกำลังร่วมมือกันเพื่อหาทางออก
อย่างในเรื่องของ “อาหาร” ที่ต่อปี จะมีปริมาณกว่า 1,300 ล้านตัน ถูกทิ้งให้เน่าเสีย
ซึ่งอาหารจำนวนมากขนาดนี้ เพียงพอที่จะเลี้ยงคนได้เกือบ 3,000 ล้านคน เลยทีเดียว
Olio เองก็เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัป ที่ตระหนักได้ถึงปัญหาเหล่านี้ จึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เปิดโอกาสให้คนสามารถแชร์อาหารกัน โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลยแม้แต่บาทเดียว
ช่วยลดการทิ้งอาหารเหลือ ๆ ของแต่ละบ้าน และช่วยให้คนที่ต้องการอาหาร ได้มีอาหารทาน
ที่น่าสนใจคือ Olio ยังสามารถระดมเงินไปได้แล้วกว่า 330 ล้านบาท
แอปพลิเคชัน Olio น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชัน Olio นี้มาจากผู้ก่อตั้งสองคน ได้แก่ คุณ Tessa Clarke และคุณ Saasha Celestial
โดยเจ้าของไอเดียก็คือคุณ Tessa Clarke ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์จากนม
ทำให้ตั้งแต่เด็กเธอได้เห็นขั้นตอนในการเก็บเกี่ยว และผลิตวัตถุดิบต่าง ๆ นั้นลำบากมากแค่ไหน ส่งผลให้เธอกลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าของอาหารทุก ๆ อย่าง
ซึ่งไอเดียของแอปพลิเคชันแชร์อาหารนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อตอนที่เธอกำลังจะย้ายออกจากหอพัก แล้วพบว่าในตู้เย็นของเธอมีอาหารเหลืออยู่หลายอย่าง
และเป็นที่น่าเสียดายที่ในตอนนั้นเธอก็ต้องจำใจทิ้งอาหารทุกอย่างไป เพราะไม่รู้จะเอาไปให้ใคร
ครั้นจะให้ไปเคาะตามห้องข้าง ๆ เพื่อถามก็อาจจะไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากเธอก็ไม่ได้สนิทกับพวกเขา
ในขณะเดียวกันอาหารที่เอาไปให้ก็อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของคนเหล่านั้น และจะทำให้
สถานการณ์ตอนนั้นน่าอึดอัดเสียมากกว่า
ตอนนั้นเองคุณ Tessa Clarke ก็มีความคิดว่า มันคงจะดี ถ้ามีแอปพลิเคชัน
ที่ให้เราสามารถแชร์อาหารและหาคนที่กำลังต้องการอาหารแบบเดียวกันได้
ซึ่งเธอก็ได้บอกไอเดียนี้กับคนรอบตัว แต่ก็ไม่มีใครสนใจนอกจากคุณ Saasha Celestial
หนึ่งในเพื่อนสนิทของคุณ Tessa Clarke ที่เมื่อได้ฟังก็ชื่นชอบไอเดียนี้เป็นอย่างมาก
เพราะคุณ Saasha Celestial นั้นเติบโตมาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีมากนัก ทำให้เธอเข้าใจดี
ว่าอาหารเหล่านี้นั้นจะช่วยคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านอาหารได้เป็นอย่างดี
ทำให้ในปี 2015 คุณ Tessa Clarke และคุณ Saasha Celestial จึงได้มาร่วมมือกัน
และกลายเป็นจุดกำเนิดของแอปพลิเคชันแชร์อาหารชื่อ Olio และเปิดตัวในปีเดียวกัน
แล้วการทำงานของแอปพลิเคชัน Olio เป็นอย่างไร ?
ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ “ผู้ที่จะแชร์อาหาร” และ “ผู้ที่หาอาหาร”
โดยผู้ที่จะแชร์อาหารนั้นสามารถโพสต์รูปอาหาร และบอกรายละเอียดอาหารลงในแอปพลิเคชัน จากนั้นก็รอให้ผู้ที่สนใจในอาหารเดียวกันทักแช็ตมาหา
ซึ่งทั้งคู่ก็สามารถอ่านรีวิวหรือประวัติ รวมถึงรายละเอียดของคนที่ตนสนใจ เพื่อเช็กความปลอดภัยได้ทั้งสองฝ่าย
และเมื่อตกลงกันได้ ก็สามารถตกลงสถานที่นัดรับอาหารได้เลย
ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่อาหารเท่านั้นที่ถูกแชร์ผ่านแอปพลิเคชันนี้ แต่ของใช้ต่าง ๆ
เช่น แชมพู ซอสที่เหลือจากการสั่งอาหาร ก็ถูกนำเอามาแชร์ด้วยเช่นกัน
หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะเกิดข้อสงสัยว่า แล้วแบบนี้แอปพลิเคชัน
จะมีรายได้จากส่วนไหน ในเมื่อตัวแอปพลิเคชันก็เป็นเหมือนแค่ “ตัวกลาง” เท่านั้น
ซึ่งเมื่อเรามาลองดูรูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชัน Olio แล้ว ก็ไม่ได้ต่างจากแอปพลิเคชันอื่น ๆ อย่าง
Airbnb หรือ Grab ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือเป็นธุรกิจแบบ Sharing Economy
อย่าง Airbnb ก็เปิดให้คนที่มีห้องว่างเหลือ ๆ มาปล่อยเช่าเป็นที่พัก
กับผู้ที่กำลังมองหาห้องพักราคาถูก และได้อยู่กันแบบ Local เป็นต้น
โดยบริษัทก็จะได้รายได้จากการหักค่าใช้จ่ายจากราคาห้องที่พัก
โดยทาง Olio เองนอกจากจะมีบริการสำหรับแชร์อาหารแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว
ก็ยังมีบริการขายอาหาร หรือสินค้าประเภทอื่น ๆ บนแอปพลิเคชันด้วยเช่นกัน
เช่น บ้านไหนที่ทำอาหาร หรือซื้อของมามากเกินที่ตัวเองใช้ ก็สามารถใช้ Olio
เป็นตัวกลางเพื่อหาคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และต้องการของประเภทเดียวกันเพื่อซื้อขายได้
และไม่ใช่แค่คนทั่วไปเท่านั้นที่สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ เพราะร้านอาหารตามเมืองต่าง ๆ
ที่ต้องการหาพื้นที่ในการปล่อยอาหารที่ขายไม่หมด ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้
ซึ่ง Olio ก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากคนที่มาขายของในแอปพลิเคชัน
นอกจากนั้นในอนาคตทาง Olio มีแผนจะเพิ่มช่องทางรายได้ อย่างการเก็บค่าสมาชิก เพื่อแลกกับการเข้าถึงฟีเชอร์พิเศษอื่น ๆ ในแอปพลิเคชัน
โดยปัจจุบันอาหารจำนวนกว่า 20 ล้านชิ้น และน้ำดื่มอีก 4,000 ลิตร ถูกแชร์ผ่านแอปพลิเคชัน Olio
จากผู้ใช้งานจำนวนกว่า 4 ล้านคนใน 49 ประเทศทั่วโลก
และด้วยความน่าสนใจของ Olio ก็ทำให้นับจนถึงปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งทั้งสองสามารถระดมทุนมาเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน รวมได้กว่า 330 ล้านบาทแล้ว
ซึ่งเมื่อหันกลับมามองประเทศไทยเอง ก็มีแอปพลิเคชันที่คอนเซปต์คล้าย ๆ กันอยู่บ้าง เช่น Yindii ที่เปิดให้ร้านอาหาร สามารถนำอาหารที่ขายไม่หมดมาลงขายบนแอปพลิเคชันในราคาถูกได้
และถ้าอยากจะทำแบบแอปพลิเคชัน Olio ก็ดูไม่ใช่เรื่องที่จะทำไม่ได้เลย เพราะจริง ๆ วัฒนธรรมไทยเราก็มีการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เพียงแต่พอมาอยู่ในสังคมเมือง โดยเฉพาะการอาศัยในคอนโดมิเนียม เรื่องเหล่านี้ก็อาจจะพบได้น้อยลง ซึ่งถ้ามีแอปพลิเคชันตัวกลางขึ้นมา ก็คงจะช่วยให้เรื่องเหล่านี้เกิดโดยที่ทั้งผู้ให้และผู้รับไม่ต้องรู้สึกเขิน
ที่สำคัญ นอกจากจะเป็นการลด “ขยะ” ที่จะเกิดขึ้นแล้ว
ก็ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในชุมชน ได้ทำความรู้จักกันมากขึ้นด้วย
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.