Money Heist ซีรีส์โจรกรรมชื่อดังจากสเปน ที่เคยล้มเหลว จนเกือบไม่ได้สร้างภาคต่อ
Entertainment

Money Heist ซีรีส์โจรกรรมชื่อดังจากสเปน ที่เคยล้มเหลว จนเกือบไม่ได้สร้างภาคต่อ

4 ก.ย. 2021
Money Heist ซีรีส์โจรกรรมชื่อดังจากสเปน ที่เคยล้มเหลว จนเกือบไม่ได้สร้างภาคต่อ /โดย ลงทุนเกิร์ล
Money Heist หรือ “La Casa De Papel” ซีรีส์โจรกรรมสัญชาติสเปน ที่ถูกฉายไปทั่วโลกบน Netflix
และประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นซีรีส์อันดับ 1 ที่มีคนดูมากที่สุดใน 6 ประเทศ สามารถกวาดหลายรางวัลในประเทศสเปน รวมทั้งรับรางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยมบนเวที “International Emmy Awards ครั้งที่ 46” ในปี 2018
แต่รู้หรือไม่ว่าซีรีส์ที่ใครหลายคนตั้งตารอดูกันจนมาถึง ซีซันที่ 5 นี้
เกือบที่จะไม่ได้รับโอกาสให้สร้างภาคต่อในตอนแรก
แล้วอะไรที่ทำให้ซีรีส์ที่เหมือนจะล้มเหลว กลายมาเป็นซีรีส์ดังพลุแตก ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
หากใครไม่เคยดูซีรีส์เรื่องนี้อาจจะต้องกดข้ามบทความนี้ไปก่อนนะคะ เพราะมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน แต่สำหรับแฟนคลับตัวยง รับรองว่าอ่านไปอินไปแน่นอน
Money Heist ถูกเขียนบทโดยคุณ Álex Pina ผู้กำกับและนักเขียนบทชาวสเปน ผู้อยู่ในวงการสื่อบันเทิงมานาน 28 ปี
ก่อนจะมาโด่งดัง และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากซีรีส์ Money Heist ด้วยวัย 50 ปี
ซึ่งจริง ๆ แล้ว คุณ Pina ก็ไม่ได้เริ่มทำงานในสายบันเทิงตั้งแต่แรก โดยเขาเคยเป็นนักเขียนข่าวบนหนังสือพิมพ์ในหลายสำนักมาก่อน
จากนั้นจึงได้เข้าสู่วงการซีรีส์จากการเป็นนักเขียนบทและนักตัดต่อ ในบริษัท Videomedia เมื่อปี 1993 และ 4 ปีต่อมาเขาก็ได้ย้ายไปทำงาน ในบริษัท Globomedia
จากนั้นคุณ Pina ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างซีรีส์ที่โด่งดังของสเปน เช่น Los Serrano, Los hombres de Paco และ El barco
หลังจากผ่านประสบการณ์สร้างซีรีส์ที่มีชื่อเสียงมาหลายต่อหลายเรื่อง คุณ Pina จึงตัดสินใจเปิด Vancouver Media บริษัทโปรดักชันของตนเองร่วมกับคุณ Jesús Colmenar ในปี 2016
และ Money Heist ก็คือ ซีรีส์เรื่องแรกที่ Vancouver Media ผลิตขึ้น
โดยคุณ Pina นั่งแท่นผู้เขียนบทและผู้อำนวยการสร้าง และเริ่มฉายบน Antena 3 สถานีโทรทัศน์ในประเทศสเปนเป็นที่แรก เมื่อปี 2017
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตอนแรก ๆ ซีรีส์เรื่องนี้จะมียอดผู้ชมมากถึง 4.5 ล้านคน แต่พอซีซันที่ 2 เรตติงกลับลดน้อยลงจน Antena 3 ตัดสินใจที่จะตัด 3 ตอนที่เหลือทิ้ง รวมถึงไม่มีแผนที่จะต่อสัญญาให้สร้างซีซันถัด ๆ ไป
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่า Money Heist คงจะมาถึงทางตันแล้ว
แต่ก็เหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อ Netflix ตัดสินใจซื้อ Money Heist ทั้ง 2 ซีซัน เพื่อฉายไปทั่วโลกในปลายปี 2017
ซึ่งการตัดสินใจของ Netflix ในครั้งนี้ ก็เหมือนกับเจ้ามือที่ถือไพ่ไม้ตาย และกลับมาชนะในตอนสุดท้าย
เพราะ Money Heist กลับถูกใจผู้ชมจากทั่วโลก และเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น ก็สามารถไต่อันดับจนเป็นกระแส โดยติดอันดับที่ 1 ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส, อิตาลี, ชิลี, โปรตุเกส, บราซิล และอาร์เจนตินา
และ Money Heist ยังขึ้นแท่นการเป็นซีรีส์ที่ “ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ” ในการสื่อสาร ที่มีคนดูมากที่สุดด้วย
มากไปกว่านั้นในปี 2019 Netflix ได้ออกมาเปิดเผยว่า Money Heist มีคนกดติดตามมากถึง 34 ล้านคน และติดอยู่ใน 3 อันดับซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดของปี
ซึ่งด้วยความสำเร็จระดับนี้ จึงทำให้คุณ Pina สามารถเซ็นสัญญาผลิตออริจินัลคอนเทนต์ และได้รับเงินทุนจาก Netflix ในการสร้างซีซันต่อ ๆ ไป จนถึงซีซัน 5 ที่กำลังฉายในขณะนี้
แล้วอะไรที่ทำให้ Money Heist ประสบความสำเร็จ จนผู้ชมไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ก็ต้องดูแบบมาราธอนกันจนตาแฉะ ?
อันดับแรก คือ “แก่นเรื่อง” ที่ทุกคนทั่วโลกเข้าใจ
ทั้งการถูกบิดเบือนของรัฐบาล ธนาคารกลาง หรือระบบที่ล้มเหลวในศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้หลาย ๆ คนผิดหวัง ซึ่งความอยุติธรรมของระบบการเงินเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่พบเจอได้ในหลายประเทศทั่วโลก
ต่อมาคือ ดำเนินเรื่องแบบ “ไม่อิงตามกระแสหลัก”
Money Heist เลือกที่จะไม่ทำซีรีส์ตามกระแสสากล หรือตามสไตล์ Anglo-centric ที่หนังสัญชาติอื่น ๆ มักปรับวัฒนธรรมให้เข้ากับรสนิยมตามประเทศมหาอำนาจ
อย่างถ้าเป็นภาพยนตร์แนวปล้นส่วนใหญ่ ก็มักจะให้ตัวละครผู้ชายเป็นตัวหลัก แต่ Money Heist กลับเลือกให้ “โตเกียว” หนึ่งในทรชนสาวเป็นตัวดำเนินเรื่องแทน รวมถึงสร้างให้แครักเตอร์ผู้หญิงหลาย ๆ ตัวมีบทบาทเท่าเทียม และไม่ด้อยไปกว่าแครักเตอร์ชายอีกด้วย
นอกจากนั้น บทละครยังมี “ความสมจริง” และ “คาดเดาได้ยาก”
ซึ่งถ้าเป็นเรื่องความซับซ้อนของบทละคร ก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับคุณ Pina ที่สั่งสมประสบการณ์การเขียนบทมานาน โดยเขาจะคอยเก็บข้อมูลจากการอ่านนวนิยายและดูซีรีส์หลายต่อหลายเรื่อง
ที่น่าสนใจคือ Money Heist ถูกเขียนมาตั้งแต่ปี 2008 โดยมีการระดมความคิด และร่างโครงเรื่องไว้มากกว่า 50 เวอร์ชัน ก่อนที่จะเลือกโครงเรื่องที่น่าพอใจที่สุด และนำมาเขียนบทสัปดาห์ต่อสัปดาห์เพื่อความสดใหม่
ส่วนในเรื่องความสมจริง ทีมงานก็ได้ค้นคว้ามากมาย เช่น เข้าไปศึกษาการทำงานของหน่วยตำรวจนานาชาติ, กระทรวงมหาดไทยของสเปน หรือแม้แต่โรงงานผลิตทองคำ รวมถึงพูดคุยกับวิศวกร เพื่อหาวิธีการปล้นที่แยบยลที่สุด
และอย่างสุดท้าย คือ การสร้างตัวละครให้คนดู “หลงรักและรู้สึกผูกพัน”
เรื่องนี้ถือเป็นเสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้เลยทีเดียว ที่สามารถสร้างแครักเตอร์ของตัวละครทุกตัวให้มีหลายมิติ จนคนดูรู้สึกว่า “ทุกคนมีด้านมืดและด้านดีของตัวเอง” จนบ่อยครั้งที่เรากลับเห็นใจ และหันไปเอาใจช่วยเหล่าทรชน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเปรียบเสมือนตัวร้ายก็ตาม
ซึ่งความละเอียดอ่อนและจุดต่างเหล่านี้เอง ที่ทำให้คนดูติดใจ จนสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ให้กับซีรีส์สัญชาติสเปนดังไปทั่วโลก
โดยนอกเหนือจากจำนวนยอดผู้ชมที่ล้นหลามแล้ว
Money Heist ก็ยังได้สร้างปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างให้เกิดขึ้นทั่วโลกด้วย
อย่าง 3 เอกลักษณ์ของซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ “ชุดจัมป์ซูตสีแดง”, “หน้ากากรูปหน้า Salvador Dalí” ที่เป็นชุดยูนิฟอร์มของเหล่าทรชน และ “เพลง Bella Ciao” ที่ใช้ประกอบซีรีส์ตลอดทั้งเรื่อง
โดยหน้ากากรูปหน้า Salvador Dalí กลายมาเป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการประท้วงทางการเมือง และการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมในหลายประเทศ
รวมถึงเพลง Bella Ciao ก็เช่นเดียวกัน กลับมาเป็นเพลงที่ดังไปทั่วยุโรปอีกครั้ง หลังจากที่เคยเป็นเพลงของกลุ่มชาวอิตาลีที่ต่อต้านฟาสซิสต์ และใช้ประท้วงในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
สุดท้ายนี้ เรื่องราวความสำเร็จของ Money Heist ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า
อย่าเอาบรรทัดฐานของคนกลุ่มเดียวมาวัดความสำเร็จ
เพราะอาจจะมีบางกลุ่มที่เห็นค่างานของเราก็ได้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ประเทศไทย คือหนึ่งในโลเคชันที่ Money Heist เลือกมาถ่ายทำ
โดยฉากที่เหล่าทรชนต้องไปโผล่ที่ แอตแลนติกเหนืออันหนาวเหน็บ และใส่เสื้อกันหนาวหนาหลายชั้น
จริง ๆ แล้ว เบื้องหลังฉากนั้น
กลับเป็นทะเลในภูเก็ต ที่แดดแรงถึง 40 องศาเซลเซียสต่างหาก..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.