คำศัพท์การเงินน่าสนใจ จากสารคดี Netflix รู้จัก “การฟอกเงิน” จาก Nelma Kodama - The Queen of Dirty Money
Business

คำศัพท์การเงินน่าสนใจ จากสารคดี Netflix รู้จัก “การฟอกเงิน” จาก Nelma Kodama - The Queen of Dirty Money

27 มิ.ย. 2024
คำศัพท์การเงินน่าสนใจ จากสารคดี Netflix
รู้จัก “การฟอกเงิน” จาก Nelma Kodama - The Queen of Dirty Money /โดย ลงทุนเกิร์ล
ต้องขอเล่าแบบไม่สปอยล์ก่อนว่า เรื่องราวชีวิตของคุณ Nelma Kodama หญิงชาวบราซิล นักค้าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแบบผิดกฎหมาย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมทางการเงินระดับประเทศ
โดยอาชีพนักค้าเงินสกุลต่างประเทศแบบผิดกฎหมายตามเรื่องราวของคุณ Kodama คือ การรับแลกเงินสกุลท้องถิ่น BRL หรือ เรอัลบราซิล กับเงินสกุล USD หรือ ดอลลาร์สหรัฐ
ณ ช่วงนั้นในปี ค.ศ. 1994 เป็นช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาก ๆ เมื่อเทียบกับเรอัลบราซิล
ซึ่งลูกค้าของคุณ Kodama คือ บรรดาเจ้าของร้านค้าขายของตลาดมืด หรือการแอบลักลอบนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และจีน เข้ามาขายในประเทศบราซิลนั่นเอง
โดยเธอจะได้ผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมในการเป็นตัวกลางการทำธุรกรรมแลกสกุลเงิน
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับ ธุรกิจธนาคารหรือร้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แต่ต่างกันตรงที่ธุรกิจของคุณ Kodama ไม่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเปิดบริษัทนำเที่ยวเพื่อบังหน้า อีกทั้งคู่ค้าของเธอก็ทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายอีกด้วย
หลังจากนั้นเธอก็ได้ขยายธุรกิจ เปิดร้านอัตราแลกเปลี่ยนในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งร่วมกับหุ้นส่วน และนำไปสู่ธุรกรรมการฟอกเงินที่ใหญ่ขึ้นและมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย เช่น นักการเมือง, นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง
จนบานปลายกลายเป็นคดีดังระดับประเทศในชื่อ “Operation Car Wash”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว การฟอกเงิน คืออะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะมาอธิบายแบบง่าย ๆ ให้ฟังค่ะ
หากแปลตรงตัวจากคำว่า ฟอก เราอาจจะนึกถึงการทำให้ขาวสะอาดขึ้น หรือการทำเงินสกปรกให้สะอาดขึ้น
ซึ่งความหมายของ การฟอกเงิน คือ การเปลี่ยนเงินที่ได้มาแบบผิดกฎหมายให้กลายเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย
โดยนำเงินที่มีที่มาจากแหล่งรายได้ที่ผิดกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน, ฉ้อโกง, ติดสินบน หรือเงินจากธุรกิจที่ผิดกฎหมายอย่าง การพนัน ค้าของเถื่อน หรือยาเสพติด
ไปผ่านการดำเนินธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เพื่อปกปิดเส้นทางแหล่งที่มาของรายได้ ให้มีความซับซ้อนมากขึ้นและมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบได้
นอกจากกรณีของการนำเงินสกุลท้องถิ่นไปแลกเป็นเงินสกุลอื่นแบบผิดกฎหมาย เหมือนในกรณีของธุรกิจคุณ Kodama แล้ว การฟอกเงินยังมีอีกหลายวิธี ตัวอย่างเช่น
-นำเงินสดที่ผิดกฎหมายเข้าไปฝากในบัญชีธนาคารปะปนร่วมกับเงินที่ได้มาแบบถูกกฎหมาย เพื่อเป็นการปกปิดของแหล่งที่มาของเงิน
-การนำเงินที่ผิดกฎหมายไปแปลงเป็นสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ, หุ้น และ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะปกปิดโดยการใช้ชื่อคนอื่นในการเข้าซื้อสินทรัพย์
-การจัดตั้งธุรกิจอื่น ๆ ที่ถูกกฎหมายแทนเพื่อมาบังหน้า ซึ่งอาจมีการปรับแต่งบัญชี เช่น รายได้และกำไร ไม่ตรงกับการทำธุรกิจจริง
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ทำการฟอกเงินก็มักจะเลือกทำหลากหลายวิธี เพื่อเพิ่มความซับซ้อนของเส้นทางธุรกรรมทางการเงิน และส่งผลให้การดำเนินการทางคดีมีความยาก และใช้เวลานานในการสืบสวน
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะทำโดยวิธีไหน การฟอกเงินก็ถือเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีทางปกปิดร่องรอย หรือทำให้ขาวสะอาดแบบถูกกฎหมายได้
เหมือนกับคราบเปื้อนบนผ้าฝังลึกที่แม้จะซักไปแล้วแต่ก็ยังทิ้งร่องรอยอยู่ดี..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.