รู้จัก WWOOF โครงการที่ไม่ได้มีดี แค่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ
Uncategorized

รู้จัก WWOOF โครงการที่ไม่ได้มีดี แค่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ

4 ก.ค. 2021
รู้จัก WWOOF โครงการที่ไม่ได้มีดี แค่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ /โดย ลงทุนเกิร์ล
การได้มีโอกาสไปยังต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ใครหลายคนฝันถึง
ซึ่งการเดินทางไปยังต่างแดนนอกจากจะช่วยให้เราได้ฝึกภาษาแล้ว
ยังทำให้เราได้พบเจอกับประสบการณ์แปลกใหม่ ที่เราอาจหาไม่ได้ในประเทศตัวเอง
แต่จะดีแค่ไหน ถ้าเรามีโอกาสได้ไปสัมผัสประสบการณ์แบบคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพียงแค่ประสบการณ์ที่ได้จากการไปเที่ยวเมืองต่าง ๆ อย่างเดียวเท่านั้น
วันนี้ลงทุนเกิร์ลจะพามารู้จักกับโครงการที่มีชื่อว่า WWOOF
ซึ่งเป็นโครงการที่ คนที่เคยเข้าร่วมหลาย ๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และได้พบเจอกับผู้คนที่เป็นกลุ่มชุมชนจริง ๆ
WWOOF ก่อตั้งโดยใคร และเป็นโครงการลักษณะไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
WWOOF ก่อตั้งโดยคุณ Sue Coppard ซึ่งทำงานเป็นเลขานุการ อยู่ที่ลอนดอน
โดยไอเดียในการจัดตั้งโครงการนี้ ก็มาจากการที่เธอได้มีโอกาสไปทำงานในฟาร์มออร์แกนิกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการไปทำงานในช่วงสุดสัปดาห์กับเพื่อน ๆ อีก 4 คน ผ่านการสมัครเข้าโครงการเพื่อการกุศล
แน่นอนว่าการได้มีโอกาสไปทำงานในครั้งนั้น สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้เธอเป็นอย่างมาก
และด้วยความรู้สึกเหล่านี้ คุณ Sue Coppard จึงคิดว่า มันจะต้องมีคนที่เป็นเหมือนเธอแน่ ๆ
คือ กลุ่มคนที่อยากจะไปสัมผัสประสบการณ์แบบชนบท และอยากสนับสนุนสินค้าออร์แกนิก
ส่วนทางฟาร์มต่าง ๆ เองก็มองว่าการที่ได้รับความช่วยเหลือจากแรงงานเหล่านี้
ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะประหยัดค่าจ้างแรงงานไปในตัว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Sue Coppard จึงเริ่มต้นโครงการ WWOOF ขึ้นมาในปี 1971
แล้วโครงการ WWOOF เป็นโครงการลักษณะไหน ?
สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ WWOOF นั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ (WWOOFer) และโฮสต์ หรือก็คือเจ้าของฟาร์มต่าง ๆ นั่นเอง
โดยให้ผู้ที่สนใจอยากจะร่วมโครงการกับ WWOOF นั้นเลือกฟาร์มที่ตัวเองอยากทำงานได้
และให้ทำงานเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมงตามแต่ที่ตกลงกัน
ส่วนโฮสต์หรือเจ้าของฟาร์มก็มีหน้าที่จัดเตรียมอาหารและที่พัก ให้กับ WWOOFer ที่เข้าร่วมโครงการ
แม้ดูแล้ว WWOOF จะคล้าย ๆ กับโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ทั่วไป
อย่างการที่เราต้องเลือกโฮสต์ที่จะไป เพราะเป็นสถานที่ที่เราต้องไปอยู่ระยะหนึ่ง
ซึ่งถ้าหากเราบังเอิญได้โฮสต์ที่ไม่ค่อยดีนัก ประสบการณ์ที่ได้ ก็อาจจะไม่ได้หอมหวานเหมือนที่วาดฝันไว้
แต่ WWOOF ก็ยังมีจุดที่แตกต่างจากโครงการแลกเปลี่ยนอื่น หรือ Work and Travel อีกหลายอย่างเหมือนกัน
อย่างแรกที่ทำให้ต่างคือ ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ WWOOF นั้นมีราคาที่ถูกกว่า
เมื่อเทียบกับค่าโครงการ Work and Travel ที่มีราคาค่าโครงการหลักแสนขึ้นไป
แต่สำหรับ WWOOF นั้นจะไม่ได้มีค่าโครงการ แต่ต้องเสียค่าสมาชิก
ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับประเทศที่เราจะเลือกไปร่วมโครงการ และราคาอยู่ที่ประมาณหลักพันบาท
โดยสาเหตุที่ทำให้ค่าสมาชิกมีราคาถูก ก็เนื่องจากทางโครงการจะมีหน้าที่คล้ายกับ “ตัวกลาง” จับคู่ระหว่างโฮสต์และ WWOOFer เท่านั้น
หลังจากนั้นเราและโฮสต์ จะต้องไปตกลงต่อกันเอง
ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าทุกคู่จะสามารถเจรจากัน จนถึงขั้นเก็บกระเป๋าเดินทางได้เสมอไป
โดยบางโฮสต์อาจจะอยู่ในช่วงที่มีผลผลิตที่ไม่ดีเท่าที่ควร
หรือบางโฮสต์ก็มี WWOOFer ที่อยู่ในความดูแลมากพออยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราสามารถตกลงกับโฮสต์ได้
ทางโครงการก็ไม่ได้อำนวยความสะดวก ในเรื่องการขอวีซ่า
ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ ด้วย “วีซ่าท่องเที่ยว” แทน
เพราะ WWOOF มองว่า การเข้าร่วมโครงการ
คือการมา “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเงิน
รวมถึงไม่ได้นับว่าเป็นการเข้ามาเพื่อด้านการศึกษาการทำฟาร์มแต่อย่างใด
ฉะนั้นสำหรับ WWOOFer ที่ต้องการไปหาประสบการณ์กับโครงการ
จึงไม่ได้ไปในฐานะ “คนทำงาน” หรือ “อาสาสมัครเพื่อการกุศล”
แต่มาในฐานะนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยว เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในต่างแดนมากกว่า
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมจึงต้องเตรียมแผนการในการเดินทางอย่างรอบคอบ
หรือถ้าจะให้ดีสามารถขอร้องให้ทางโฮสต์ที่ตอบรับเรา เขียนจดหมายแนะนำเราได้
เพื่อให้เมื่อตอนที่ผ่านด่านเข้าประเทศนั้น สามารถเข้าไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
แล้วโครงการ WWOOF นี้เหมาะกับใครบ้าง ?
จริง ๆ แล้วโครงการนี้จะเหมาะกับบุคคลที่อยากท่องเที่ยวในราคาที่ถูกกว่า
เพราะเราไม่ต้องเสียค่าที่พัก หรือค่าอาหารเลย
และที่มากกว่านั้นคือ “ประสบการณ์” ที่จะได้รับกลับมา รวมถึงการได้พบเจอคนใหม่ ๆ
ไม่ว่าจะเป็นโฮสต์ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ หรือแม้แต่ WWOOFer ที่มาจากประเทศอื่น ๆ
โดยเฉพาะกับคนที่ต้องการไปสัมผัสประสบการณ์ชนบท
รวมถึงเป็นการเข้าไปช่วยสนับสนุนชุมชนที่ทำการเกษตรแบบออร์แกนิก
ฉะนั้นสำหรับคนที่กำลังมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่อาจได้สัมผัสในเมือง
WWOOF ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ
ที่สำคัญ ถ้าใครกำลังอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้วด้วย
ก็น่าจะเข้าร่วมกับโฮสต์ที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้สะดวกมากกว่า
ซึ่งสำหรับพวกเราชาวไทยก็ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะจริง ๆ แล้วในประเทศไทยเอง
ก็มีเกษตรกรในไทยร่วมโครงการกับ WWOOF เช่นกัน
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.