รู้จัก “พินัยกรรมดิจิทัล” คำสั่งสุดท้าย จัดการบัญชีออนไลน์ ในวันที่เราจากโลกนี้ไป
Business

รู้จัก “พินัยกรรมดิจิทัล” คำสั่งสุดท้าย จัดการบัญชีออนไลน์ ในวันที่เราจากโลกนี้ไป

24 พ.ค. 2024
รู้จัก “พินัยกรรมดิจิทัล” คำสั่งสุดท้าย จัดการบัญชีออนไลน์ ในวันที่เราจากโลกนี้ไป /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อพูดถึง “พินัยกรรม” หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของคนมีฐานะ หรือนึกถึงคนที่มีทรัพย์มรดกต้องส่งต่อให้ลูกหลาน
แต่ในความจริงแล้ว ในยุคสมัยที่อะไร ๆ ล้วนเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คนส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่าตนเองมีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่บนโลกออนไลน์ที่ถือเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล”
แล้วหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน เราเสียชีวิตกะทันหัน ข้อมูลออนไลน์ต่าง ๆ เหล่านั้นจะถูกจัดการอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “Digital Asset” หมายถึง
ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่เจ้าของบัญชีมีสิทธิ์เข้าถึงแต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็น บัญชีโซเชียลมีเดีย เช่น LINE, WhatsApp, Facebook, Instagram, X, TikTok, YouTube
รวมถึงบัญชีอีเมล บัญชีธนาคารออนไลน์ บัญชีเกม บัญชีคลาวด์ รูปภาพ วิดีโอ แช็ตบทสนทนา ไปจนถึงคะแนนในระบบสะสมแต้มต่าง ๆ เช่น คะแนนสะสมแต้มของสายการบิน
ซึ่งนอกจากเจ้าของบัญชีแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ ตามนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ดังนั้นการทำ “พินัยกรรมดิจิทัล” หรือ “Digital Legacy” จึงหมายถึง
คำสั่งสุดท้ายเพื่อจัดสรรทรัพย์สินรูปแบบดิจิทัล ส่งต่อข้อมูลทางดิจิทัลของเราแก่ผู้จัดการมรดกให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ หรือจัดการตามความปรารถนาของเรา เช่น ลบบัญชีทิ้ง ในวันที่เราจากโลกนี้ไป
พูดง่าย ๆ ว่า พินัยกรรมดิจิทัลมีคอนเซปต์คล้ายกับการทำพินัยกรรมในโลกความเป็นจริง และเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยมีกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของครอบครัวหนึ่งในสหรัฐฯ
คุณ Paul ผู้เป็นสามีของคุณ Rebecca Bistany ได้เสียชีวิตจากไปด้วยอาการหัวใจวาย ซึ่งคุณ Bistany ก็ไม่รู้ว่าสามีได้ทิ้งทรัพย์สินประเภทใด ไว้ให้เธอและลูกสาววัยทารกของพวกเขาบ้าง
เพราะคุณ Paul ไม่ได้ทำพินัยกรรมดิจิทัลไว้ ทำให้คุณ Bistany ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อาจเป็นสิทธิประโยชน์ของเธอและลูกสาวอย่าง บัญชีธุรกิจและการเงิน ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นความทรงจำสำคัญของเธออย่าง ภาพถ่าย วิดีโอ ระหว่างที่ใช้ชีวิตร่วมกันอีกด้วย
ถึงแม้ว่าคุณ Bistany จะยื่นเรื่องติดต่อถึงบริษัท Apple, AT&T และตำรวจ เพื่อขอความช่วยเหลือในการปลดล็อกไอโฟนของคุณ Paul
แต่ด้วยนโยบายของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ก็ไม่อนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวเข้าถึงการใช้ไอโฟนของผู้เสียชีวิตได้ หากผู้เสียชีวิตไม่ได้กำหนด Legacy Contact หรือเพิ่มผู้ติดต่อรับมรดกเอาไว้
จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เล่ามานี้ หลายคนคงสงสัยแล้วว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น มีวิธีการจัดการอย่างไร และเราสามารถจัดการตั้งค่าอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง
Apple ไอโฟนและอุปกรณ์อื่น ๆ
กรณีเจ้ามรดก (ผู้เสียชีวิต) ติดตั้งเพิ่มผู้จัดการมรดก
Apple มีฟีเชอร์ให้ผู้ใช้งานเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อรับมรดกได้ 5 รายชื่อ โดยผู้ที่อยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อรับมรดกจะได้รับรหัสการเข้าถึงเฉพาะที่ระบบ IOS สร้างขึ้นอัตโนมัติ และสามารถเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ของ Apple ของผู้เสียชีวิตได้
โดยทำการยื่นรหัสเฉพาะพร้อมใบมรณะบัตร ส่งตามระบบขั้นตอนของ Apple ผู้รับมรดกก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้เสียชีวิต เช่น รูปภาพ, โน้ต, ไฟล์ และข้อมูลในไอคลาวด์ แต่จะมีระยะเวลาจำกัด เข้าถึงข้อมูลได้ภายใน 3 ปี
และแม้ว่าผู้ที่อยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อรับมรดกไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของ Apple ก็สามารถขอให้ผู้มอบมรดกส่งรหัสเฉพาะ ผ่านทางอีเมลหรือข้อความเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับดำเนินเรื่องตามกฎหมายต่อได้
กรณีเจ้ามรดกไม่ได้ตั้งค่าเพิ่มผู้จัดการมรดก
ผู้มาขอสิทธิ์สามารถขอลบบัญชีผู้เสียชีวิต หรือหากประสงค์ขอสิทธิ์เข้าถึงบัญชี ต้องใช้คำสั่งศาลหรือเอกสารประกอบทางกฎหมายอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ
Android และ บัญชี Google
กรณีเจ้ามรดกตั้งค่าเพิ่มผู้จัดการมรดก
เจ้าของบัญชีสามารถเพิ่มรายชื่อผู้ที่สามารถใช้งานแทนใน Google เมื่อบัญชีไม่ได้ล็อกอินหรือใช้งานในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3, 6, 12 และ 18 เดือน
ผ่านการกำหนดการใช้งานใน Google ชื่อว่า “Inactive Account Manager” หรือ “เครื่องมือจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งาน”
ซึ่งบัญชีของ Google จะรวมไปถึง Blogger, Drive, Gmail, Google+, Picasa Web Albums, Google Voice และ YouTube
กรณีเจ้ามรดกไม่ได้ตั้งค่าเพิ่มผู้จัดการมรดก
Google มีระบบตรวจสอบผู้ใช้งาน คอยสังเกตความผิดปกติของการล็อกอินเข้าใช้งาน และหากบัญชีนั้นไม่ได้ใช้งานเกินกำหนด บัญชีก็จะถูกลบภายใน 2 ปี
นอกจากระบบในมือถืออย่าง Apple และ Android แล้ว บัญชีออนไลน์อื่น ๆ ก็สามารถตั้งค่าพินัยกรรมดิจิทัลได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น Facebook ที่สามารถเลือกเก็บบัญชีเราไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อแบ่งปันความทรงจำ ซึ่งบัญชีดังกล่าวจะยังคงปลอดภัย และถูกป้องกันไม่ให้ผู้อื่นล็อกอินเข้าบัญชีได้ หรือจะเลือกลบบัญชีไปถาวรก็ได้เช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงพอเข้าใจความสำคัญของการทำพินัยกรรมดิจิทัลกันบ้างแล้ว
แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องการจัดการมรดกดิจิทัลโดยตรงก็ตาม แต่การที่เราทำพินัยกรรมดิจิทัลไว้ก่อนหน้าการเสียชีวิต ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระทางกฎหมายที่ยุ่งยากให้กับคนที่เรารัก
อีกทั้งป้องกันการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจากแพลตฟอร์มออนไลน์
แม้ว่าระบบแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีนโยบายในการลบบัญชีที่ไม่ได้ใช้งานตามระยะเวลาที่กำหนดก็ตาม
แต่ข้อกฎหมายบางประเทศเช่น ในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไม่ได้มีการระบุครอบคลุมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เสียชีวิต
ซึ่งการจัดเตรียมความจำนงในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ภายหลังการเสียชีวิตให้ครบถ้วน ย่อมลดโอกาสการเกิดความเสียหาย จากบุคคลที่จะนำข้อมูลส่วนตัวเราไปแอบอ้าง หรือหาประโยชน์ส่วนตัวได้
สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดนั้น การเสียชีวิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเราไม่รู้ว่าเราจะเสียชีวิตวันไหน การทำพินัยกรรมทั้งทางโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์ ก็เป็นตัวเลือกที่เราสามารถวางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้า
ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงเพื่อเจตจำนงส่วนตัวของเราเองเท่านั้น แต่เพื่อคนที่เรารักที่ยังคงมีชีวิตอยู่และต้องจัดการภาระหน้าที่ต่อจากการเสียชีวิตของเรานั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.