รู้จัก Patreon ระบบช่วยจัดการสมาชิก ที่ช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์มีรายได้แน่นอน
Uncategorized

รู้จัก Patreon ระบบช่วยจัดการสมาชิก ที่ช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์มีรายได้แน่นอน

18 มิ.ย. 2021
รู้จัก Patreon ระบบช่วยจัดการสมาชิก ที่ช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์มีรายได้แน่นอน /โดย ลงทุนเกิร์ล
YouTuber นับว่าเป็นหนึ่งอาชีพ ที่กลายมาเป็นอีกความฝันของคนรุ่นใหม่
ด้วยความที่จะทำให้เราได้ทำในสิ่งที่ชอบ และยังสร้างรายได้ก้อนโต 
อย่างไรก็ตามภาพอันสวยงามแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
ที่สำคัญ การจะยึดอาชีพ YouTuber หรือ “ครีเอเตอร์” สายอื่น ๆ เป็นอาชีพหลักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ รายได้ที่อาจจะไม่มาก และไม่ค่อยแน่นอน
ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับคุณ Jack Conte ที่เผยแพร่ผลงานเพลงของเขาผ่านทาง YouTube
โดยเขาทำเงินได้เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ถึงแม้กระแสตอบรับจะดี
เรื่องนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มพัฒนา Patreon
ระบบสมาชิกแบบรายเดือนสำหรับครีเอเตอร์ทั้งหลาย
Patreon คืออะไร ? 
และจะมาช่วยเหล่าครีเอเตอร์ได้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คุณ Jack Conte หรือผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Patreon 
เป็นอีกหนึ่งคนที่เริ่มสร้างคอนเทนต์บน YouTube ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่แพลตฟอร์มนี้เปิดตัวมาได้ไม่นาน
โดยในปี 2008 คุณ Jack Conte และแฟนของเขาได้เปิดช่อง YouTube เพื่อทำเพลงด้วยกัน
ชื่อช่อง Pomplamoose รวมถึงเปิดเว็บไซต์ในชื่อ pomplamoose.comด้วย
ซึ่งพวกเขาก็เผยแพร่เพลงผ่าน YouTube อยู่หลายปี 
และนับว่าเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ใช้ช่องทางนี้ในการนำเสนอผลงาน 
รวมถึงพูดคุยกับเหล่าแฟนคลับทั้งหลาย
ถึงแม้วิดีโอของพวกเขาจะมีคนดูประมาณ 1 ล้านคนในทุก ๆ เดือน
และพอจะมีรายได้จากการขายเพลงผ่านช่องทางอื่น ๆ 
แต่มันก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคุณ Jack Conte อยู่ดี
ซึ่งความคิดที่จะเริ่มทำอะไรสักอย่างของเขา ก็เกิดขึ้นในตอนที่กำลังทำวิดีโอตัวหนึ่ง
โดยเขาต้องการจะถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ให้เหมือนเขาและหุ่นยนต์ กำลังเล่นดนตรีด้วยกัน
รวมถึงมีฉากหลังเป็นเหมือนยานอวกาศล้ำยุค 
โปรเจกต์นี้เรียกได้ว่าค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว 
ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการถ่ายทำ และมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย
ในตอนนั้นคุณ Jack Conte จึงเริ่มคิดว่า มันน่าจะมีหนทางที่ดีกว่านี้
ที่จะให้พวกเขาสามารถสร้างผลงานดี ๆ ออกมาได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน
ซึ่งไอเดียของเขาก็คือ การสร้างเว็บไซต์ที่บอกเหล่าแฟนคลับว่า 
ตอนนี้เขากำลังสร้างผลงานแบบไหนอยู่ แล้วจะเป็นอะไรหรือไม่ หากบรรดาแฟนคลับจะช่วยจ่ายเงินเขา 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150 บาทในทุก ๆ เดือน เพื่อให้เขาสามารถสร้างผลงานต่อไปได้อย่างราบรื่น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เขาก็ร่างหน้าตาเว็บไซต์เบื้องต้นลงบนกระดาษทั้งหมด 14 แผ่น
จากนั้นก็ขอความช่วยเหลือจากคุณ Sam Yam ซึ่งเป็นรูมเมตของเขาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
รวมถึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจส่วนตัว และการเขียนเว็บไซต์
ด้วยความช่วยเหลือของคุณ Sam Yam ก็ทำให้เกิดเป็นเว็บไซต์ Patreon ขึ้นในที่สุด
แล้วเว็บไซต์ Patreon มีลักษณะเป็นอย่างไร และทำงานยังไง ?
จริง ๆ แล้ว Patreon ก็คล้าย ๆ กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
ที่เราสามารถสร้างเพจของเรา เพื่อเผยแพร่คอนเทนต์ และสื่อสารกับผู้ติดตามผ่านทางหน้าเพจได้เลย
แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือเราสามารถเพิ่มตัวเลือก “ระดับสมาชิก” ลงบนหน้าเพจนี้ได้
โดยครีเอเตอร์สามารถกำหนดระดับขั้น และราคาของค่าสมาชิกได้
คล้าย ๆ กับเวลาที่เราเป็นสมาชิกกับเครือข่ายโทรศัพท์
ยิ่งเรายอมจ่ายต่อเดือนสูง ระดับขั้นสมาชิกของเราก็ยิ่งสูงขึ้น สิทธิพิเศษของเราก็ยิ่งมากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งสำหรับผู้ติดตามที่สนับสนุนครีเอเตอร์ใน Patreon ก็ไม่ต่างกัน
สิทธิพิเศษที่ผู้ติดตามจะได้รับจากการติดตามครีเอเตอร์ผ่าน Patreon
ก็มีหลายรูปแบบ ตามแต่ที่ครีเอเตอร์จะกำหนดว่าแต่ละระดับสมาชิกจะได้อะไรตอบแทน
เช่น การให้เข้าถึงเบื้องหลังการถ่ายทำของแต่ละวิดีโอ หรือมีการส่งของตอบแทนให้ทุกเดือน
แล้วแนวคิดของ Patreon ประสบความสำเร็จหรือไม่ ? 
ปัจจุบันมีผู้คนใช้งาน Patreon หลายล้านคนทั่วโลก
รวมถึงสามารถระดมทุนให้เหล่าครีเอเตอร์ รวม ๆ กันแล้วกว่า 12,890 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีการประเมินว่ามูลค่าบริษัทของ Patreon 
อาจจะสูงถึง 124,880 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ เราคงได้เห็นฟีเชอร์ใหม่ของ YouTube 
หรือ YouTube Memberships ให้ผู้ติดตามสามารถสมัครสมาชิก 
เพื่อสนับสนุนและเข้าถึงคอนเทนต์พิเศษ จากช่องของ YouTuber เหล่านั้นได้เลย
แล้ว Patreon ได้รับผลกระทบจากฟีเชอร์นี้หรือไม่ ?
ถึงแม้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน แต่ก็มีข้อที่แตกต่างกันอยู่
เนื่องจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มก็เปรียบเสมือนกับ 2 ช่องทางโซเชียลมีเดีย
ฉะนั้นถ้าหากคนที่มีผู้ติดตามบน Patreon จำนวนมากอยู่แล้ว 
ก็อาจจะไม่เลือกมาใช้งาน YouTube Memberships
ส่วนครีเอเตอร์ที่เริ่มต้นจาก YouTube Memberships ก็อาจจะไม่ใช้ Patreon 
เนื่องจากการที่ต้องให้ผู้ติดตามย้ายแพลตฟอร์มไปนั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
แต่ถ้าหากมองในแง่การหักค่าธรรมเนียมค่าสมาชิก
Patreon ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า สำหรับเหล่าครีเอเตอร์ 
เพราะทางแพลตฟอร์มจะหักค่าธรรมเนียมแค่ 10-12%
ในขณะที่ YouTube Memberships จะหักค่าธรรมเนียมในส่วนนี้สูงถึง 30% 
นอกจากนี้ Patreon ยังมีในส่วนของการบริการอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยครีเอเตอร์ เช่น
มีบริการผู้ช่วยที่จะช่วยพูดคุย และหาแนวทางที่จะเพิ่มฐานสมาชิกให้มากขึ้น
รวมถึงการมี “ปลั๊กอิน” ให้ครีเอเตอร์สามารถนำเอา Patreon ไปใส่ไว้ในช่องทางการติดตามอื่น ๆ
เช่น Discord, WordPress, Vimeo หรือแม้แต่ MailChimp 
เพื่อให้การทำงานและการสื่อสาร สามารถเป็นไปได้อย่างสะดวก และง่ายต่อการสนับสนุนของผู้ติดตาม
นอกจากนั้นยังมีบริการช่วยจัดหาโรงงานที่จะทำสินค้า 
เพื่อส่งไปยังลูกค้าที่สนับสนุนเราในทุก ๆ เดือน
ซึ่งต่างจาก YouTube Memberships ที่เป็นเพียงระบบสมาชิกที่เพิ่มขึ้นมาใน YouTube เท่านั้น
และผู้ที่ติดตามครีเอเตอร์บน YouTube ก็จะได้รับเพียงแค่ 
สติกเกอร์ที่ใช้ในช่องแช็ต หรือการเข้าถึงเนื้อหาพิเศษที่ครีเอเตอร์กำหนดเท่านั้น
แล้วแบบนี้หากเราเป็นครีเอเตอร์ที่กำลังอยากจะได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิก
เราควรจะเลือกใช้บริการ Patreon หรือ YouTube Memberships ?
จริง ๆ แล้วทั้ง Patreon และ YouTube Memberships นั้นสามารถทำควบคู่กันไปได้
ขึ้นอยู่กับความสะดวก และความถนัดของครีเอเตอร์แต่ละคน 
เพราะแต่ละช่องทางก็มีทั้งข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันออกไป
และสำหรับครีเอเตอร์หลาย ๆ คนที่กำลังเริ่มต้นสร้างคอนเทนต์แล้วยังไม่มีแฟนคลับ
ก็อย่าเพิ่งท้อใจไป เพราะก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับฐานแฟนคลับ
ขอเพียงแค่ทำผลงานของเราให้ดีที่สุด 
สักวันจะต้องมีคนเห็นค่า และพร้อมสนับสนุนเราอย่างแน่นอน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.