กว่าจะมาเป็นแบรนด์ April’s Bakery และเคล็ดลับนำสินค้าเข้า 7-Eleven ที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด
Business

กว่าจะมาเป็นแบรนด์ April’s Bakery และเคล็ดลับนำสินค้าเข้า 7-Eleven ที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด

18 เม.ย. 2025
April’s Bakery x ลงทุนเกิร์ล 
ในอดีตเวลาใครเอ่ยถึงคำว่า Boss หลายคนอาจนึกถึงภาพของผู้ชายใส่สูท ผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเป็นเสาหลักของครอบครัว 
แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่กล้าทุ่มเท ใช้แรงสองมือของตัวเองทำความฝันให้กลายเป็นจริงได้ไม่แพ้ผู้ชาย จนเกิดเป็นคำนิยามของ “Girlboss” 
และผู้หญิงที่เหมาะกับคำว่า Girlboss มากที่สุดคนหนึ่งที่ลงทุนเกิร์ลอยากพามารู้จักในวันนี้คือ คุณกนกกัญจน์ มธุรพร หรือคุณอร เจ้าของแบรนด์ April’s Bakery 
เธอเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคิดค้นเปี๊ยะสี่หลุมใน 7-Eleven และขนมอื่น ๆ อีกมากมายที่กลายเป็นไวรัล จนคาดว่าในปีนี้ บริษัทจะกวาดรายได้แตะหลักพันล้านบาทอีกด้วย 
เรื่องราวของ April’s Bakery ผ่านมุมมองของคุณอร น่าสนใจอย่างไร ? 
แล้วคุณอรทำอย่างไรถึงเข้าไปวางขายขนมโฮมเมดใน 7-Eleven ได้ ? 
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน คุณอรเคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินหนึ่ง แต่เมื่อทำไปได้ราว 2 ปีก็เริ่มมีความคิดอยากสร้างความมั่นคง และอยากลงมือทำธุรกิจเป็นของตัวเอง 
คุณอรจึงนำเงินเก็บของตัวเองทั้งหมดมาเปิดร้านแรกที่คอมมิวนิตีมอลล์ CDC กรุงเทพฯ และใช้ชื่อว่า April’s Bakery โดยคำว่า April มาจากชื่อเดิมที่คุณอรใช้เรียกแทนตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นแอร์โฮสเตส 
เป้าหมายแรกของคุณอรคือ อยากมีรายได้พอใช้เหมือนตอนที่เธอยังได้รับเงินเดือน แต่ด้วยความที่คุณอรไม่ชอบดื่มกาแฟ, ไม่เคยเข้าคอร์สเรียนทำขนมอย่างจริงจัง และไม่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจมาก่อน กิจการนี้จึงเกือบจะไปไม่รอด
แต่แล้ววันหนึ่ง คุณอรมีโอกาสไปทานพายหมูแดงที่ฮ่องกง และประทับใจจนนำมาแกะสูตรเรียนรู้การทำพาย หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า เปี๊ยะ ด้วยตัวเธอเอง ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนจนกลายมาเป็น พายหมูแดงสไตล์ฮ่องกงเจ้าแรกในไทย
คุณอรมีความคิดเหมือนผู้เริ่มทำธุรกิจหลาย ๆ คนคือ ในเมื่อขนมของเราอร่อย วางขายครั้งแรกต้องขายดีแน่เลย แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นแบบที่วาดฝันไว้ เพราะขนมที่ทำออกมาหน้าตาไม่สวย อีกทั้งยังดูไม่ทันสมัย 
อย่างไรก็ตามคุณอรมีความเชื่อว่าแม้หน้าตาขนมจะไม่สวย แต่คุณภาพ และรสชาติที่เธอตั้งใจทำมาจนกลายเป็นเมนูที่เธอทานได้ทุกวันไม่เบื่อ ไม่ว่าอย่างไรสินค้านี้ยังต้องไปต่อได้ เธอจึงนำเงินก้อนสุดท้ายลองทำ PR แบรนด์ผ่านการเดินสายเยี่ยมสื่อต่าง ๆ เพื่อวัดดวงว่ากิจการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ 
สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าพายหมูแดงของคุณอรขายดีมาก สาขาที่ขยายไปยังห้างสรรพสินค้าก็ขายหมดเกลี้ยง และยังเริ่มมีคนติดต่อมาเสนอขอซื้อแฟรนไชส์ April’s Bakery ถึง 50 เจ้าในปีเดียว 
ต่อมาคุณอรมีเป้าหมายจะปั้นกิจการในระยะยาวและยั่งยืนขึ้น เธอจึงไม่หยุดอยู่แค่ขนมเมนูเดียว และเลือกต่อยอดสินค้าซิกเนเชอร์อย่าง พายไส้หมูแดง เป็นไส้คาวและไส้หวานอื่น ๆ อีก 40 ไส้ 
พร้อมคัดเลือกวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน จนทำให้พายของ April’s Bakery ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ของดีมีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือ 
มาถึงคำถามที่ว่าแล้วร้าน April’s Bakery นำสินค้าไปวางขายใน 7-Eleven ได้อย่างไร ? 
คุณอรอยากให้แบรนด์ของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมองว่าในช่วงเวลานั้นผู้คนชอบความสะดวกสบาย หากได้นำสินค้าวางขายใน 7-Eleven ที่มีอยู่กว่าหมื่นสาขา จะเป็นโอกาสที่คนทั้งประเทศได้ลองทานขนมภายใต้ชื่อแบรนด์ April’s Bakery 
ซึ่งครั้งแรกที่คุณอรเสนอขาย 7-Eleven เธอพบว่าแม้สินค้าจะน่าสนใจก็ตาม แต่เธอต้องกลับไปพัฒนาโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับสากล และปรับระบบอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งคุณอรใช้เวลานานราว 2 ปี จนในปี 2019 เธอสามารถนำสินค้าไปวางขายใน 7-Eleven ได้ในที่สุด  
หากใครเป็นแฟนของ April’s Bakery อาจเคยเห็นพายหมูแดงวางขายใน 7-Eleven ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะสุดท้ายแล้วกลายเป็นว่า Hero Product ของแบรนด์ เมื่อนำไปวางขายในร้านสะดวกซื้อ กลับไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคมากนัก จนต้องหยุดขายไปในที่สุด 
ด้วยความที่คุณอรเป็นคนสู้อย่างไม่ถอดใจ เธอเรียนรู้จากไอเดียของทีม Merchandise ของ 7-Eleven ที่มีการทำรีเซิร์ชลูกค้าของร้านอย่างละเอียด และเสนอให้เธอลองปรับทำเป็นพายชิ้นเล็กพอดีคำ 4 ชิ้น และเปลี่ยนเป็นเปี๊ยะไส้ถั่วไข่เค็มแทน จึงกลายเป็นที่มาของขนมเปี๊ยะสี่หลุม
หลังจากขายมาได้เรื่อย ๆ เฉลี่ยราว 7,000 กล่องต่อวัน ยอดขายก็เริ่มตก แต่คุณอรก็ยังไม่ท้อ พอเห็นว่าเทรนด์ขนมลาวาไข่เค็มกำลังเป็นกระแส จึงใช้จังหวะนี้ เพิ่มเมนูใหม่เปี๊ยะไส้ลาวาไข่เค็ม จากราคาที่ขายกันตามท้องตลาดหลักร้อยบาท แต่คุณอรสามารถทำขายใน 7-Eleven ได้ในราคากล่องละ 39 บาท 
ซึ่งการที่ April’s Bakery ขายได้ในราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ นั่นก็เพราะ จำนวนผลิตครั้งละเยอะมาก ๆ จนเกิด Economies of Scale และกลายเป็นว่าเปี๊ยะไส้ลาวาไข่เค็มคือสินค้าที่ขายดีที่สุดของแบรนด์ กวาดรายได้มากถึง 70,000 กล่องต่อวัน หรือคิดเป็นการเติบโตกว่า 10 เท่า
ทั้งนี้คุณอรยังเผยถึงความท้าทายในการนำสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อ ที่ไม่ใช่แค่การนำขนมวางบนเชลฟ์แล้วจบ แต่เบื้องหลังคือระหว่างทางที่ได้เรียนรู้ และได้คำแนะนำจาก ทีม Merchandise ของ 7-Eleven ที่เป็นดั่งพาร์ตเนอร์ และเมนเทอร์ 
ทั้งสองแบรนด์ได้เติบโตไปพร้อมกัน และสิ่งที่เป็นมากกว่าเรื่องของส่วนแบ่ง และรายได้ คือการที่ทีม Merchandise ของ 7-Eleven แนะนำข้อมูลไปปรับใช้ตั้งแต่การคิดสินค้าตัวใหม่, หาซัพพลายเออร์วัตถุดิบ และแพคเกจจิ้ง, การจัดไลน์ระบบในโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการดูแลสต๊อกสินค้า 
ที่น่าสนใจคือการได้รับประสบการณ์ระดับมืออาชีพจากทีม Merchandise ของ 7-Eleven จากเดิมคุณอรใช้เวลานานกว่า 2 ปี ในการคิดค้นสินค้าใหม่ แต่ปัจจุบันสามารถพัฒนาเปี๊ยะให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น 
โดยหยิบเอาเทรนด์ฮิตที่ทำให้สินค้าเป็นกระแสจนขายได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวมากมาย เช่น เปี๊ยะโมจิลาวาไข่เค็ม, ดูไบช็อกโกแลต, เค้กทุบ และสินค้าคอลแลบร่วมกับแบรนด์อื่น 
อ่านมาถึงตรงนี้เราจะเห็นว่าคุณอรเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้หญิงที่มีความฝัน และกล้าที่จะลองเสี่ยงลงมือทำในแบบของตัวเอง แม้เส้นทางธุรกิจจะต้องผ่านความผิดหวังอยู่บ้าง แต่ความไม่ย่อท้อ และมีแนวคิดที่คอยปรับเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ 
จึงไม่แปลกใจที่ April’s Bakery ไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นแรกของการเป็นร้านกาแฟและขนมเล็ก ๆ สู่แบรนด์ขนมที่ขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพ และมีขนมที่เป็นซิกเนเชอร์ที่มากกว่า 15 รายการบนเชลฟ์ใน 7-Eleven  
สุดท้ายลงทุนเกิร์ลเชื่อว่าเรื่องราวของ April’s Bakery อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน ได้ลองนำความชอบของตัวเองมาผลักดันให้เป็นธุรกิจ 
ซึ่งคุณอรก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เปี๊ยะโฮมเมด ที่แม้ตอนแรกจะมีข้อกังขาว่าหน้าตาไม่สวย แต่ตอนนี้ทำรายได้มุ่งสู่พันล้านบาทแล้ว..
© 2025 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.