Business
chocoZAP ฟิตเนสญี่ปุ่น ซักผ้า ทำเล็บ คาราโอเกะในที่เดียว ที่ตั้งเป้าขยายสาขาเท่า 7-Eleven
18 ต.ค. 2024
chocoZAP ฟิตเนสญี่ปุ่น ซักผ้า ทำเล็บ คาราโอเกะในที่เดียว ที่ตั้งเป้าขยายสาขาเท่า 7-Eleven /โดย ลงทุนเกิร์ล
ปกติแล้ว ฟิตเนสทั่ว ๆ ไปมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงไม่กี่อย่าง เพื่อรองรับการบริการหลังออกกำลังกายเป็นหลัก เช่น ห้องอาบน้ำ ซาวน่า หรือบาร์เครื่องดื่ม
แต่ทุกวันนี้ มีเชนยิมสุดแปลกในญี่ปุ่น ที่ชื่อว่า “chocoZAP” ได้พลิกโฉมวงการฟิตเนส ด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
โดยสมาชิกสามารถซักผ้า ทำเล็บ เสริมสวย หรือร้องคาราโอเกะ ที่ฟิตเนสได้ ครบจบในที่เดียว
ด้วยโมเดลธุรกิจที่แปลกใหม่ ทำให้ chocoZAP ที่เพิ่งเปิดให้บริการมาได้เพียง 2 ปี เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขึ้นเป็นผู้นำในตลาดฟิตเนสญี่ปุ่น ด้วยจำนวนสมาชิกสูงสุด
แถมยังขยายสาขาไปกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ แซงหน้าเชนร้านอาหารชื่อดังอย่าง Yoshinoya ในญี่ปุ่นเสียอีก
เรื่องราวของ chocoZAP น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ chocoZAP มาจากไอเดียของบริษัทแม่ อย่าง RIZAP GROUP บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงในวงการฟิตเนสระดับไฮเอนด์
ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคร้าย กลุ่มบริษัท RIZAP ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจหลัก เนื่องจากผู้คนหันมาอยู่ติดบ้านมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็ยังคงมองหากิจกรรมที่จะมาเติมเต็มการใช้ชีวิต บริษัทจึงผุดไอเดียสร้างไลฟ์สไตล์ฟิตเนส “chocoZAP” ในปี 2022 ที่มีราคาย่อมเยา และเหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกาย
โดย chocoZAP มีจุดเด่นอยู่ที่การเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และทำเลที่ตั้ง ที่ตั้งอยู่ในทุก ๆ มุมถนน รวมถึงการบริการไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ที่แตกต่างจากฟิตเนสทั่วไป
ตั้งแต่การให้บริการเครื่องกำจัดขน, เครื่องซักผ้า, เครื่องฟอกฟันขาว, เครื่องทำเล็บ, คาเฟ, เก้าอี้นวด หรือพื้นที่สำหรับทำงาน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
แม้โมเดลธุรกิจนี้ อาจจะฟังดูแปลก ๆ แต่ไอเดียสุดแปลกนี้กลับแมส จนทำให้ chocoZAP สามารถทำกำไรได้ในช่วงปลายปี 2023 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากก่อตั้ง
แถมปัจจุบัน chocoZAP ยังเป็นเชนฟิตเนสอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดถึง 1.1 ล้านคน
แล้ว chocoZAP ทำอย่างไร ให้ตีตลาดญี่ปุ่นได้สำเร็จ ?
ข้อแรกคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
chocoZAP วางตัวเองเป็นฟิตเนสทางเลือก สำหรับคนที่ต้องการออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น ที่แม้ตารางชีวิตจะยุ่งวุ่นวาย ก็สามารถดูแลสุขภาพได้ บริษัทจึงเจาะกลุ่มคนญี่ปุ่นที่เพิ่งเริ่มต้นออกกำลังกายเป็นหลัก
ประกอบกับค่าสมาชิกที่เริ่มต้นเพียง 670 บาทต่อเดือน ก็ถือว่าตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ในราคาย่อมเยา จนทำให้ chocoZAP สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ถัดมาคือ ความสะดวกสบาย
เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานหนัก และมักจะมีตารางชีวิตที่ยุ่งเหยิง
chocoZAP จึงออกแบบสาขาให้กระจายตัวและเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สมาชิกสามารถแวะมาออกกำลังกายได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทางกลับบ้านหรือช่วงเวลาพักเบรกสั้น ๆ
นอกจากนี้ การบริการด้านไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของ chocoZAP ก็ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ครบจบในที่เดียว
ที่น่าสนใจคือ บริษัทยังมีการเพิ่มหรือลดการให้บริการอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าบริการนั้นมีผู้ใช้งานมากน้อยเพียงใด
เช่น บริการห้องอาบน้ำ ที่ไม่มีในบางสาขา เนื่องจากในสาขานั้นลูกค้าส่วนใหญ่แวะเข้ามาออกกำลังกายเบา ๆ
สุดท้ายคือ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้
ทุกสาขาของ chocoZAP จะไม่มีพนักงานประจำสาขาคอยดูแล แต่จะมีการตั้งศูนย์คอยดูแลความเรียบร้อยด้วยการใช้กล้องวงจรปิดที่มี AI คอยตรวจจับภาพ
จุดนี้เอง ทำให้บริษัทสามารถขยายสาขาได้ง่าย เพราะเกิดการประหยัดต่อขนาด หรือมีต้นทุนต่อการเปิดสาขาใหม่ลดลงถึง 30% และทำให้สามารถนำเงินไปลงทุนในด้านการบริการใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการเข้าใช้งานของสมาชิก ก็สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน เพื่อจองใช้บริการล่วงหน้า
รวมไปถึงการเข้าถึงบริการที่หลากหลาย เช่น การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ, พฤติกรรมการนอน, มวลร่างกาย, คอนเทนต์การเทรนนิงการออกกำลังกาย และการบันทึกมื้ออาหาร ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชันของ chocoZAP
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ chocoZAP ที่มีไอเดียสร้างสรรค์ จากการถอดแบบธุรกิจฟิตเนสให้คล้ายกับร้านสะดวกซื้อ ที่มีทั้งบริการหลายอย่าง เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีสาขามากมายใกล้แหล่งชุมชน
สำหรับแผนการในอนาคตของ chocoZAP คือ การขยายสาขามากกว่าสองเท่าภายในปี 2027 และมีเป้าหมายขยายสาขาในระยะยาวถึง 10,000 สาขา เทียบเท่ากับสเกลร้านสะดวกซื้อ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และต่างประเทศ
ซึ่งปัจจุบัน chocoZAP ก็เริ่มขยายสาขาไปในต่างประเทศเช่น จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน และสหรัฐฯ แล้ว
ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ คำว่า “Choco” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมล็ดโกโก้ หรือช็อกโกแลต แต่มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น “Chokotto” ซึ่งแปลว่า นิดหน่อย หรือเล็กน้อย