คำศัพท์การเงินน่าสนใจ จากซีรีส์ Netflix รู้จัก “3 เครื่องมือการเงินของผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333” จาก Squid Game Season 2
Investment

คำศัพท์การเงินน่าสนใจ จากซีรีส์ Netflix รู้จัก “3 เครื่องมือการเงินของผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333” จาก Squid Game Season 2

30 ธ.ค. 2024
คำศัพท์การเงินน่าสนใจ จากซีรีส์ Netflix
รู้จัก “3 เครื่องมือการเงินของผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333” จาก Squid Game Season 2 /โดย ลงทุนเกิร์ล
Squid Game ซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมระดับโลก การันตีด้วยการคว้ารางวัลจากเวที Emmy Awards ถึง 6 รางวัล
จากความสำเร็จของภาคแรก ทำให้ในปีนี้แฟน ๆ ต่างตั้งตารอดู Squid Game Season 2 กันอีกครั้ง
โดยในภาคต่อนี้มีหนึ่งในตัวละครที่เป็นผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333 กล่าวถึงเครื่องมือทางการเงินและการลงทุนที่น่าสนใจอยู่ 3 อย่าง นั่นก็คือ Coin, Inverse ETF และ Futures Trading
Coin, Inverse ETF และ Futures Trading คืออะไร ?
ลงทุนเกิร์ลขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ แบบไม่สปอยล์เนื้อหาหลักในซีรีส์ค่ะ
Squid Game เป็นซีรีส์แนวดิสโทเปียหรือการเอาชีวิตรอด
เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันลับที่มีผู้เล่น 456 คน ซึ่งทุกคนประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง จึงต้องร่วมเล่นเกมที่เดิมพันระหว่างชีวิต เพื่อชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1,054 ล้านบาท
โดยตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333 ชื่อว่า “มยองกี” ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี และชักชวนผู้ติดตามให้ลงทุนตาม แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า กลายเป็นหนี้มหาศาลจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเข้าร่วมเกมเดิมพันด้วยชีวิตนี้
ซึ่งในฉากหนึ่ง มยองกีได้ตัดสินใจว่า เขาอยากนำเงินไปเริ่มลงทุนใหม่ โดยเขาจะไม่ลงทุนใน Coin แล้ว แต่เขาจะไปร่วมลงทุนกับทีมหุ้นที่รู้จัก โดยเน้นการลงทุนใน Inverse ETF และ Futures Trading แทน
แล้วเครื่องมือทางการเงินทั้ง 3 นี้ แตกต่างกันอย่างไร ?
Coin
Coin หรือ เหรียญ เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศของคริปโทเคอร์เรนซี โดยเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานบนเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง
เหรียญเหล่านี้มักถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการต่าง ๆ คล้ายกับเงินในโลกความจริง
ตัวอย่างเหรียญที่เป็นที่รู้จัก เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Dogecoin (DOGE) ซึ่งเหรียญแต่ละชนิดจะมีมูลค่าเฉพาะตัว ผันผวนไปตามความต้องการ และปริมาณเหรียญที่มีอยู่ในตลาด
หากพูดให้เห็นภาพความแตกต่างชัดขึ้น คือ เงินบนโลกความจริง ออกโดยรัฐบาลและถูกควบคุมโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
ขณะที่เหรียญดิจิทัล มีจำนวนจำกัด และไม่ได้ถูกควบคุมโดยบุคคลหรือสถาบัน แต่ถูกจัดการโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งมีการตรวจสอบธุรกรรมร่วมกันโดยผู้ใช้ทั้งหมดในเครือข่าย
Inverse ETF
อันดับแรก ก่อนเข้าใจ Inverse ETF เราต้องรู้จักกับ ETF (Exchange-Traded Fund) เสียก่อน
ETF คือ กองทุนรวมที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเดียวกับหุ้น แต่มีจุดเด่นที่ค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป และซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ตามเวลาทำการของตลาดหุ้น
ดังนั้นราคาของ ETF จะแปรผันตรงตามราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่ ETF ไปลงทุน เช่น
TDEX อ้างอิงผลตอบแทนของดัชนี SET50EBANK อ้างอิงผลตอบแทนของดัชนี SET Banking Sector Index หรือกลุ่มธุรกิจธนาคารGLD การลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust ที่อ้างอิงราคาทองคำ 99.5% ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน
มาที่ Inverse ETF คือ การลงทุนในกองทุน ETF ที่มีกลยุทธ์การทำกำไรแปรผกผันกับตลาดหลักทรัพย์อ้างอิง หรือการทำผลตอบแทนในทิศทาง “ตรงกันข้าม” กับดัชนีอ้างอิงที่เราสนใจนั่นเอง
โดยนักลงทุนมักใช้ Inverse ETF สำหรับการทำกำไรระยะสั้น
หรือเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เช่น หากถือ ETF ที่ลงทุนในดัชนี SET50 สามารถซื้อ Inverse ETF ของดัชนีเดียวกันเพื่อป้องกันผลขาดทุนในช่วงตลาดขาลง
Futures Trading
การซื้อขายสัญญาสินทรัพย์อ้างอิงล่วงหน้า โดยเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ในการซื้อขายสินทรัพย์ตามราคา ปริมาณ และเวลาส่งมอบ ณ ปัจจุบัน แต่จะดำเนินการส่งมอบสินทรัพย์และชำระเงินกันในอนาคต
โดยสินทรัพย์อ้างอิงนั้นเป็นได้หลากหลายประเภท เช่น สินค้าการเกษตร, สินค้าพลังงาน, ทองคำ และสกุลเงิน ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มีราคาเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ดังนั้นผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับคือ “ส่วนต่างของราคา” สินทรัพย์อ้างอิง ระหว่างราคาในปัจจุบันกับราคาในอนาคต ซึ่งนักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง
ยกตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนเปิดสถานะซื้อ (Long Position) เมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้นตามคาด นักลงทุนปิดสถานะเพื่อรับกำไร
ขณะเดียวกันหากนักลงทุนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลง นักลงทุนเปิดสถานะขาย (Short Position) เมื่อราคาน้ำมันลดลงตามคาด นักลงทุนปิดสถานะเพื่อรับกำไร
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่าซีรีส์ได้นำเสนอมุมมอง ในการเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนของผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333 ที่แม้จะเคยเจ็บตัวหนักจาก Coin แล้ว ก็ยังคงมองหาการลงทุนในทางเลือกอื่นเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนการลงทุนจาก Coin มาเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่าง Inverse ETF หรือ Futures Trading ก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน
หากผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333 ขาดความเข้าใจพื้นฐานในการวางแผนการเงิน ลงทุนโดยไม่มีการประเมินความเสี่ยงหรือจัดสรรสินทรัพย์ที่เหมาะสม ก็อาจส่งผลร้ายจนทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง
สุดท้ายเราก็ต้องคอยลุ้นกันในซีรีส์ภาคต่อว่า เราจะยังได้เห็นผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 333 มีชีวิตรอดออกมาวางแผนการเงินดั่งที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.