Business
Lucky Bag จากคนขาย ที่เป็นได้ทั้งถุงโชคดี และถุงโชคร้ายของคนซื้อ
30 ธ.ค. 2024
Lucky Bag จากคนขาย ที่เป็นได้ทั้งถุงโชคดี และถุงโชคร้ายของคนซื้อ /โดย ลงทุนเกิร์ล
กล่องสุ่ม หรือ Mystery Box ถือเป็นหนึ่งในการตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ก่อนที่โมเดลธุรกิจกล่องสุ่มจะพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
แต่ก่อนที่โมเดลธุรกิจกล่องสุ่มจะพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของกล่องสุ่ม พัฒนามาจาก “ฟุคุบุคุโระ (Fukubukuro)” หรือ “Lucky Bag” ถุงโชคดีของญี่ปุ่น ที่วางจำหน่ายในช่วงปีใหม่
ภายในถุงเป็นสินค้าแบบสุ่ม ปิดผนึกไม่ให้เห็นว่ามีอะไรอยู่ข้างใน และมักมีมูลค่ารวมสูงกว่าราคาที่จ่ายไป 2-3 เท่า ซึ่งทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่ามาก
แต่บางครั้ง ลูกค้าก็เปิดถุงมาไม่เจอของที่อยากได้แม้แต่น้อย จนล้อว่าเป็น “ฟุโคบุคุโระ (Fukōbukuro)” ที่แปลว่า “ถุงแห่งความโชคร้าย” หรือ “อุตสึบุคุโระ (Utsubukuro)” ที่แปลว่า “ถุงแห่งความหดหู่” แทน
แล้วทำไมคนเราถึงอยากซื้อสินค้า ที่ตัวเองไม่รู้ว่าเปิดมาแล้วจะเจออะไรด้วย ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
โดยทั่วไปแล้ว Lucky Bag จะเริ่มวางขายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของทุกปี และจะขายต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน หรือจนกว่าสินค้าจะหมด
ซึ่งร้านค้าที่ได้รับความนิยมมาก ๆ จะมีคนมาต่อแถวรอซื้อ Lucky Bag ยาวไปเป็นกิโลเมตร และบางครั้งอาจถึงขั้นมีลูกค้ามารอข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว
แต่ทุกวันนี้ บางห้างสรรพสินค้าหรือแบรนด์ยอดฮิต เช่น Starbucks จะเปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้า และทำการจับสลากหาผู้โชคดีที่จะได้ซื้อถุงโชคดีนี้
เมื่อฟังคอนเซปต์ของ Lucky Bag แล้ว ก็ชวนให้สงสัยว่าทำไมคนเราถึงอยากจ่ายเงิน เพื่อของที่ไม่รู้ว่าข้างในคืออะไรด้วย
จริง ๆ แล้ว เสน่ห์ของ Lucky Bag ก็อยู่ตรง “ความตื่นเต้นของการไม่รู้” นี่แหละ ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก
เรื่องนี้ได้ถูกอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ไว้ในการศึกษาของคุณ Scott Redick ที่เผยแพร่ลงใน Harvard Business Review ว่า “การเซอร์ไพรส์” เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลัง
โดยคุณ Scott Redick ได้วัดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองของมนุษย์ ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่น่าพึงพอใจ และได้ผลลัพธ์ว่า สมองตอบสนองมากที่สุด ตอนที่ได้รับตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้
ซึ่งวิจัยฉบับนี้ได้สรุปไว้ว่า “มนุษย์ถูกออกแบบมาให้กระหายหาสิ่งที่ไม่คาดคิด” เช่น การเซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน ทั้งที่บางคู่อาจจะตกลงแต่งงานกันแล้ว แต่เรื่องเซอร์ไพรส์ก็ช่วยให้มนุษย์รู้สึกดีและตื่นเต้นได้อยู่ดี
นอกจากนี้ Lucky Bag ยังมีข้อดีอีกมากมาย ทั้งสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย
อย่างเช่น ในมุมของผู้ซื้อหรือลูกค้า ที่นอกจากจะรู้สึกตื่นเต้น สนุก และลุ้นที่จะได้เปิดดูสินค้าข้างในแล้ว Lucky Bag ยังทำให้ลูกค้าได้ค้นพบ ลองอะไรใหม่ ๆ ที่ปกติอาจไม่คิดจะซื้อ
และการซื้อ Lucky Bag ยังอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกถึง “ความคุ้มค่า” เพราะบางครั้ง การซื้อสินค้าทั้งหมด โดยไม่ซื้อผ่าน Lucky Bag ก็อาจมีราคาสูงกว่า
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น Lucky Bag จากร้าน Apple Store ราคา 30,000 เยน ที่มักจะมีไอเทมแพง ๆ อยู่ในถุง ซึ่งบางคนโชคดีมาก ๆ อาจจะได้ Apple Watch หรือ MacBook Air ไปใช้กัน
หรือ Lucky Bag จากห้างสรรพสินค้า ที่มีโอกาสลุ้นรางวัล ตั้งแต่เนื้อวากิวทั้งตัว ไปจนถึงการเข้าพักในเรียวกังสุดหรู หรือแม้แต่การแสดงเกอิชาส่วนตัว
ขณะเดียวกัน ก็มีบางร้านที่ระบุ “มูลค่าของสินค้าในถุง” อย่างชัดเจน เช่น Lucky Bag ราคา 1,000 เยน แต่ลูกค้าจะได้สินค้าที่มีมูลค่ารวมถึง 3,000 เยน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้สินค้าคุ้มค่าเกินราคาที่จ่าย
ถัดมาในมุมของผู้ขาย Lucky Bag ช่วยให้ธุรกิจสามารถเคลียร์สต๊อกสินค้าส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยไม่ต้องกำจัดสินค้าทิ้ง ทั้ง ๆ ที่สภาพสินค้าก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าจะให้เก็บไว้ในสต๊อก และรอจนกว่าจะขายหมด ก็อาจใช้เวลานาน และมีค่าเก็บรักษาที่เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายอยู่เรื่อย ๆ
และข้อดีอีกอย่างของ Lucky Bag ก็คือ แบรนด์สามารถเลือกจับคู่สินค้าที่มีความต้องการในตลาดค่อนข้างสูง ปะปนไปกับสินค้าที่อยากแนะนำให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ สินค้ารุ่นที่ขายไม่ออก หรือสินค้าตกรุ่น
ได้ขายสินค้าหลาย ๆ ชิ้นในออร์เดอร์เดียว และบางครั้งอาจทำให้ยอดการใช้จ่ายต่อครั้งสูงกว่าปกติด้วย
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว “Lucky Bag” ก็ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในการตลาดที่สร้างทั้งความสนุกและความคุ้มค่าให้กับผู้บริโภค รวมทั้งในทางกลับกัน ก็เข้ามาเป็นตัวช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับกิจการได้ด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Lucky Bag ก็เป็นสินค้าที่ต้องอาศัยความจริงใจของผู้ขายด้วยเช่นกัน ว่าพวกเขาจะใส่สินค้าอะไรลงไปให้กับผู้ซื้อบ้าง
แม้ว่าผู้ซื้อจะไม่มีทางรู้จนกว่าจะได้เปิดถุง แต่ก็ไม่ควรเอาเปรียบผู้ซื้อ เพราะไม่เช่นนั้น ลูกค้าก็คงไม่กลับมาซื้อสินค้าอีกเป็นครั้งที่สองอย่างแน่นอน..
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน ร้านค้าหลายแห่งเริ่มวางขายถุงที่ติดป้าย “ถุงโชคร้าย” หรือ “ถุงแห่งความหดหู่” ในราคาไม่แพง เพื่อดึงดูดลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ชอบความตื่นเต้น อยากลองอะไรใหม่ ๆ หรืออยากทำคอนเทนต์ เรียกเสียงฮา
เช่น ถุงโชคร้ายจากร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ OA Nagashima ที่บางคนเปิดถุงมาแล้วเจอโทรศัพท์มือถือ Xiaomi ที่ไม่มีฟังก์ชัน Wi-Fi, อุปกรณ์ต่อพ่วงโทรศัพท์รุ่นเก่า
บางคนถึงขั้นเจอกล่องโทรศัพท์มือถือหนัก ๆ แต่ข้างในว่างเปล่า ชวนหดหู่รับปีใหม่กันเลยทีเดียว..
References:
-https://croud.com/en-gb/resources/what-are-japans-lucky-bags-fukubukuro
-https://www.weekendhk.com/weekspecial/
-https://livejapan.com/en/in-tokyo/in-pref-tokyo/in-shinjuku/article-a0005404/
-https://www.japanhouselondon.uk/read-and-watch/fukubukuro-how-lucky-bags-are-used-to-celebrate-the-new-year-in-japan/
-https://verticalresponse.com/blog/the-power-of-surprise-as-a-marketing-tool/
-https://croud.com/en-gb/resources/what-are-japans-lucky-bags-fukubukuro
-https://www.weekendhk.com/weekspecial/
-https://livejapan.com/en/in-tokyo/in-pref-tokyo/in-shinjuku/article-a0005404/
-https://www.japanhouselondon.uk/read-and-watch/fukubukuro-how-lucky-bags-are-used-to-celebrate-the-new-year-in-japan/
-https://verticalresponse.com/blog/the-power-of-surprise-as-a-marketing-tool/