รู้จัก BEES แพลตฟอร์มที่ทำให้ บริษัทเบียร์ใหญ่สุดในโลก ได้เก็บ Data จากคนขายเบียร์
Business

รู้จัก BEES แพลตฟอร์มที่ทำให้ บริษัทเบียร์ใหญ่สุดในโลก ได้เก็บ Data จากคนขายเบียร์

27 ก.ย. 2024
รู้จัก BEES แพลตฟอร์มที่ทำให้ บริษัทเบียร์ใหญ่สุดในโลก ได้เก็บ Data จากคนขายเบียร์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
2-3 ปีที่ผ่านมานี้ใครก็บอกว่า “ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล” ถ้าอยากชนะคู่แข่งในตลาด ถ้าสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองได้ยิ่งดี
แต่ใครจะคิดว่าบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก ที่ขายดีอยู่แล้ว จะหันมาทุ่มงบพัฒนา Platform ขายเบียร์ของตัวเองเหมือนกัน
บริษัทนั้นคือ “AB InBev” บริษัทสัญชาติเบลเยียม เจ้าของแบรนด์เบียร์ที่หลายคนคุ้นหูอย่าง Budweiser, Stella Artois และ Hoegaarden
แล้วทำไม AB InBev ถึงตัดสินใจทำแพลตฟอร์มขายเบียร์ของตัวเอง แทนที่จะลงทุนซื้อโรงเบียร์เพื่อขยายอาณาเขตเหมือนที่ผ่านมา ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ AB InBev คือ บริษัทเบียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าบริษัท 4.1 ล้านล้านบาท
ใหญ่กว่าไทยเบฟของเสี่ยเจริญ ถึง 12 เท่า
โดย AB InBev มีแบรนด์เบียร์ในเครือ มากกว่า 500 แบรนด์ กระจายสินค้าไปใน 150 ประเทศทั่วโลก และมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านค้าปลีกมากกว่า 6 ล้านร้าน
ดังนั้น ไม่ต้องคิดเลยว่าในวัน ๆ หนึ่งจะมีร้านเล็กร้านใหญ่ที่ติดต่อซื้อเบียร์กับพวกเขาเยอะแค่ไหน
จนปี 2019 ที่เกิดโรคระบาด บริษัทจึงใช้เวลาช่วงนี้ในการสร้าง Ecosystem และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ที่ชื่อว่า “BEES” เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับร้านค้าให้ดีขึ้น
ในแพลตฟอร์มนี้ ร้านค้าต่าง ๆ สามารถสั่งเบียร์, ชำระเงิน, ติดตามสถานะการส่ง และดูข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าได้ ง่ายเหมือนกับเวลาที่เราสั่งสินค้าจาก Shopee หรือ Lazada
ซึ่งตรงนี้ทำให้ AB InBev เก็บตกร้านค้าเล็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะร้านค้าสามารถติดต่อซื้อกับบริษัทได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางหรือ Third Party อีก
ไม่จบแค่นั้น ร้านค้าสามารถใช้ฟังก์ชัน Real-time data ในการช่วยวิเคราะห์การขาย ดู Insights เพื่อใช้จัดการร้านค้าของตัวเอง ทำให้สต๊อกสินค้าได้ง่ายและเป็นระบบระเบียบขึ้น
ในด้านของ AB InBev ก็ได้เก็บข้อมูลลูกค้าในเว็บไซต์ อย่างพฤติกรรมการสั่งซื้อ เช่น ข้อมูลการสั่งซื้อ, ประเภทสินค้า, ปริมาณสินค้า, ความถี่, ช่องทางที่นำมาสู่การสั่งซื้อ หรือจุดไหนที่ลูกค้าคลิกบ่อย
มีการเปิดเผยว่า ในทุกเดือน BEES จะเก็บข้อมูลลูกค้าได้มากกว่า 3,000 ล้านข้อมูล จากเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, โปรแกรมคลังสินค้า และระบบโลจิสติกส์
แน่นอนว่าข้อมูลมหาศาลนี้คือสมบัติอันล้ำค่า ที่บริษัทสามารถนำไปใช้พัฒนาธุรกิจให้ขายดียิ่งขึ้นได้
พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ตอนไม่มีแพลตฟอร์ม บริษัทก็รู้แค่ชื่อ ที่อยู่ และประวัติการสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละราย
แต่เมื่อมีแพลตฟอร์ม ก็สามารถเก็บพฤติกรรมการสั่งซื้อของลูกค้าได้เยอะขึ้น ลึกขึ้น เหมือนได้จับตาดูพฤติกรรมการสั่งซื้อของลูกค้าเป็นล้าน ๆ คน
ทั้งหมดก็นำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงสินค้าและเว็บไซต์ที่ทำให้ลูกค้าอยากซื้อมากขึ้น บริษัทก็ทำรายได้เพิ่ม
แถมเมื่อได้ลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์ม ก็เพิ่ม Customer Loyalty โดยอัตโนมัติ เพราะลูกค้าก็ซื้อเบียร์จาก AB InBev ซ้ำ ๆ อย่างง่ายดาย
ปัจจุบัน BEES มี Active Users ถึง 3.7 ล้านรายต่อเดือน จาก 26 ประเทศทั่วโลก และรายได้ 70% ในไตรมาส 4 ของ AB InBev ปีที่แล้ว ยังมาจาก BEES อีกด้วย
นอกจากนี้ AB InBev ยังปิดฉากงบในปีที่แล้ว ด้วยรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8%
แม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญนัก แต่นี่เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า
แม้แต่บริษัทที่อยู่เหนือคู่แข่งเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมตัวเอง ก็ยังเห็นความสำคัญของการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และหันมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองเช่นกัน..
หมายเหตุ บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อมูลบริษัทที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศ และข้อเท็จจริงในมุมมองธุรกิจ ไม่ได้มีเจตนาหรือสนับสนุนให้ซื้อขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.
เราได้ปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญของคุณ โปรดอ่านและทำความเข้าใจนโยบายความเป็นส่วนตัวของเราเพิ่มเติม หากท่านใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเรา