จากพนักงานประจำหมดไฟ ลาออกมาซื้อบริษัทขนมใกล้ล้มละลาย ปั้นจนมีรายได้ 2,800 ล้าน
Business

จากพนักงานประจำหมดไฟ ลาออกมาซื้อบริษัทขนมใกล้ล้มละลาย ปั้นจนมีรายได้ 2,800 ล้าน

26 ก.ย. 2024
จากพนักงานประจำหมดไฟ ลาออกมาซื้อบริษัทขนมใกล้ล้มละลาย ปั้นจนมีรายได้ 2,800 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากวันหนึ่ง คุณบังเอิญพบกับ CEO ของบริษัทที่อยากขายกิจการ เพราะมันกำลังจะล้มละลาย คุณจะทำอย่างไร ?
คำถามนี้ เชื่อว่าหลายคนที่ได้ยิน คงจะส่ายหัว
เพราะธุรกิจที่ใกล้ล่ม เปรียบเหมือนเรือจมกลางทะเลลึก ที่โอกาสจะฟื้นกลับมานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แต่ไม่ใช่กับคุณ Charles Coristine พนักงานบริษัทด้านการเงิน วัย 40 ปี ที่ตัดสินใจนำเงินเก็บที่มี ไปซื้อบริษัทขนมใกล้ล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองก็ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน
แต่สุดท้าย เขาก็สามารถปั้นธุรกิจนี้ต่อ จนพลิกมาสร้างรายได้หลักพันล้านบาท
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
LesserEvil เป็นแบรนด์ขนมเล็ก ๆ สัญชาติอเมริกัน ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2005
ซึ่งผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ คือขนมขบเคี้ยวหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็น พ็อปคอร์น Low-fat และ Low-calorie, ชีสบอล, พัฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในตอนนั้น ธุรกิจ LesserEvil ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ส่งผลให้ผลประกอบการของแบรนด์ ดูท่าจะไม่ค่อยดีนัก ทำให้บริษัทเกือบต้องปิดกิจการ
จนกระทั่งปี 2011 ธุรกิจของ LesserEvil ก็มีเจ้าชายขี่ม้าขาวเข้ามาช่วย นั่นก็คือคุณ Charles Coristine ที่ขณะนั้นเป็นพนักงานประจำอยู่ที่ Morgan Stanley
คุณ Coristine บอกว่า เขาก็เป็นเหมือนกับพนักงานบริษัทคนอื่น ๆ ทั่วไป ที่พอทำงานมา 18 ปี ก็เริ่มรู้สึกท้อ หมดไฟ และเครียดสะสมจากการทำงานหนัก
เขาจึงพยายามหาอะไรใหม่ ๆ ทำ เพื่อลดความเครียด ไม่ว่าจะเป็น ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร, นั่งสมาธิ หรือลงเรียนคอร์ส MBA
จนเขาได้มาเจอกับเจ้าของบริษัท LesserEvil ที่กำลังอยากขายต่อกิจการ ในงานปาร์ตีแห่งหนึ่ง
ในตอนนั้น คุณ Coristine รู้สึกว่านี่คือโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเหมือนการเติมพลังให้กับชีวิตของเขา ที่กำลังรู้สึกหมดไฟ
ทำให้เขาตัดสินใจใช้เงินออมส่วนตัวประมาณ 8 ล้านบาท บวกกับเงินที่ต้องชำระเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการ
แล้วหลังจากที่เขาซื้อกิจการแล้ว มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ?
คุณ Coristine ​เริ่มปรับปรุงแบรนด์อย่างจริงจัง โดยเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ตั้งแต่วัตถุดิบ สายการผลิต ไปจนถึงกลยุทธ์การขายสินค้า
อย่างแรก คือการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโดยโรงงานภายนอก หรือการทำ OEM มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตด้วยตนเอง เพราะสามารถควบคุมวัตถุดิบ และควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น
ต่อมา คือการหยุดผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำเงิน และหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แทน
และหนึ่งในนั้น คือการนำน้ำมันมะพร้าว มาทดลองใช้ในการทำพ็อปคอร์นแทนเนย
โดยเขาลองนำน้ำมันมะพร้าวไปวางบนตู้เย็น ซึ่งมีความร้อนสูง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปรากฏว่ารสชาติออกมาดี มีความละมุน และมีความใกล้เคียงกับรสชาติของเนย
ในปี 2014 คุณ​ Coristine จึงนำน้ำมันมะพร้าวมาปรับใช้กับพ็อปคอร์นแทนเนย โดยเขาอบมันด้วยความร้อนที่ต่ำและช้า เพื่อให้มีรสชาติและความกรอบที่แตกต่างกับแบรนด์อื่น แถมยังส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า
ซึ่งตรงนี้เป็นการเพิ่มจุดต่างจากคู่แข่งได้ดี
ทำให้ในปีเดียวกัน พ็อปคอร์นน้ำมันมะพร้าว สามารถทำยอดขายให้กับแบรนด์ LesserEvil ได้ราว 66 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 33% จากยอดขายทั้งหมด
นอกจากนี้ คุณ​ Coristine ยังเชื่อมั่นว่าแบรนด์ของเขาควรจะรักษ์โลก และราคาเข้าถึงได้ง่าย
เขาจึงปรับแพ็กเกจจิงเป็นแบบย่อยสลายได้ง่าย รวมทั้งคุมต้นทุนของแพ็กเกจจิง เพื่อให้สามารถขายพ็อปคอร์นออร์แกนิกในราคาใกล้เคียงกับพ็อปคอร์นทั่วไปได้
พอคอนเซปต์ของสินค้าดูเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก แบรนด์ LesserEvil จึงเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ประกอบกับกระแสของชาวอเมริกัน ที่คลั่งไคล้การดูสตรีมมิงพร้อมทานพ็อปคอร์น จนแม้แต่ Netflix ยังออกพ็อปคอร์นแบรนด์ตัวเองออกมา
จึงไม่แปลก หากวันหนึ่งมีแบรนด์พ็อปคอร์นออร์แกนิกที่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ เข้ามาอยู่ในตลาด ก็จะโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ก่อนที่คุณ​ Coristine จะซื้อกิจการ LesserEvil ธุรกิจนี้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 33 ล้านบาท
แต่ในปี 2023 ที่ผ่านมา LesserEvil สามารถกวาดรายได้ไปถึง 2,800 ล้านบาท
แถมพ็อปคอร์นของ LesserEvil ก็เริ่มวางขายในเชนร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ อย่าง Walmart, Target และ Costco กว่า 35,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ
แม้ LesserEvil จะใช้เวลาในการพลิกฟื้นแบรนด์ถึง 12 ปี แต่เรื่องราวของคุณ Coristine คงเป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คนเห็นแล้วว่า
ถึงจะเป็นพนักงานบริษัททั่วไป ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน ก็สามารถทำแบรนด์ที่มีรายได้หลักพันล้านได้
และการเริ่มต้นธุรกิจหลังอายุ 40 ปี ก็ไม่มีคำว่า “สายไป”..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.