ธุรกิจผู้จัดงานเทศกาลดนตรี EDM ในไทย กับมูลค่าตลาดหลักพันล้าน
Business

ธุรกิจผู้จัดงานเทศกาลดนตรี EDM ในไทย กับมูลค่าตลาดหลักพันล้าน

12 เม.ย. 2024
ธุรกิจผู้จัดงานเทศกาลดนตรี EDM ในไทย กับมูลค่าตลาดหลักพันล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
EDM หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Electronic Dance Music
เป็นแนวดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีเป็นหลักในการทำเพลง
มักจะเปิดในไนต์คลับ งานปาร์ตี รวมถึงงานเทศกาลดนตรี
ซึ่งปัจจุบัน EDM ถือเป็นอุตสาหกรรมเพลงที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก สำหรับตลาด EDM ในประเทศไทย ก็มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
จากการมีงานเทศกาลดนตรี EDM เป็นอิเวนต์ที่ลูกค้าพร้อมสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์ เพราะสามารถจัดกิจกรรม สร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้บริโภคได้โดยตรง มากกว่าแปะโลโกในฐานะผู้สนับสนุนไว้ในคอนเสิร์ตทั่ว ๆ ไป
และถ้าพูดถึงงานเทศกาลดนตรี EDM ในไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็คงต้องเมนชันชื่อของ S2O Festival, 808 Festival และ Siam Songkran Festival
เทศกาลดนตรี EDM จากบ้านเราที่ติดอยู่ในรายชื่อ Top 100 Festivals ประจำปี 2023 เป็นอันดับที่ 55, 58 และ 64 ตามลําดับ จากการจัดอันดับโดย DJ Mag สื่อเกี่ยวกับไนต์ไลฟ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
ทั้งสามงานดังกล่าวน่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เริ่มต้นกันที่งานแรกคือ S2O Festival
งานเทศกาลดนตรี EDM ผสมผสานกับการเล่นน้ำสงกรานต์ไทย ที่มักจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี
โดยมีดีเจชื่อดังมามิกซ์เพลงให้ฟัง พร้อมกับกิมมิก การฉีดน้ำคลายร้อนที่พุ่งออกมา 360 องศาตลอดทั้งงาน
ซึ่งงานนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2015 มีผู้เข้าร่วมงาน 35,000 คน จากนั้นค่อย ๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนมีผู้เข้าร่วมงานทั้งคนไทยและต่างชาติมากขึ้นทุกปี ๆ
จนกระทั่งปี 2018 ได้เริ่มขายลิขสิทธิ์ให้กับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ และนำรูปแบบงานนี้ไปจัดงาน S2O ในต่างประเทศครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้สําเร็จ
ปัจจุบัน S2O ได้ขยายตลาดต่างประเทศไปแล้ว 5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น,ไต้หวัน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้ และจีน
สำหรับงาน S2O Festival จัดโดย “บริษัท เอส ทู โอ แฟคทอรี่ จํากัด”
บริหารจัดการโดยสองพี่น้องมิลินทจินดา อย่างคุณปุลิน มิลินทจินดา และคุณวุฒิธร มิลินทจินดา หรือที่เรารู้จักกันในฐานะ คุณวู้ดดี้ พิธีกรชื่อดัง
งานถัดมาคือ 808 Festival
งานเทศกาลดนตรี EDM ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2013 และมักจะจัดในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี
ซึ่งงานนี้มีเอกลักษณ์ในด้านของความหลากหลายของแนวเพลง EDM
อีกทั้งดีเจเฮดไลน์ของงานนี้ เช่น Hardwell, Calvin Harris, DJ Snake, W&W และ Armin Van Buuren ก็ถือว่าโหดไม่แพ้เทศกาลดนตรี EDM ระดับโลกอื่น ๆ เลย
สำหรับ 808 Festival จัดโดย “บริษัท ทีวีดี เอ็กซ์ซูเซีย จํากัด”
บริษัทในเครือ บมจ.ทีวีดี โฮลดิ้งส์ (TVDH) ร่วมลงทุนกับบริษัท ณัฐรัฐ โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ Retox Sessions ผู้มีประสบการณ์จัดเทศกาลดนตรี EDM เช่น 808 Festival, Together Festival, Output Festival
งานสุดท้ายคือ Siam Songkran Festival
งานเทศกาลดนตรี EDM ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2019 ซึ่งมักจะจัดงานในช่วงสงกรานต์คล้ายกันกับ S2O
แต่มีจุดเด่นนอกเหนือจากการแสดงดนตรี EDM และเล่นน้ำไปด้วยแล้ว คือ รูปแบบงานที่นำเสนอคอนเซปต์ความเป็นไทยไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เวที ของที่ระลึก กิจกรรมนวดไทย รำไทย มวยไทย ไปจนถึงอาหารไทย Street Food ภายในงาน
ซึ่งถือเป็นการยกระดับความเป็นไทยสู่สากล ผสมผสานวัฒนธรรมไทยหลากหลายประเภทไว้ในงานเดียว
สำหรับ Siam Songkran Festival จัดโดย “บริษัท วัน เอเชีย เวนเจอร์ จํากัด”
บริษัทเดียวกับที่นำงานเทศกาลดนตรี EDM ระดับโลก เช่น Creamfields Thailand (จากประเทศอังกฤษ) และ Don’t Let Daddy Know (จากประเทศเนเธอร์แลนด์) มาให้คนไทยสัมผัสประสบการณ์นั่นเอง
แล้วผลประกอบการของผู้จัดงาน แต่ละบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ?
บริษัท เอส ทูโอ แฟคทอรี่ จํากัด ผู้จัดงาน S2O Festival
ปี 2019 รายได้ 165 ล้านบาท กำไร 8.1 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 2.6 ล้านบาท ขาดทุน 4.2 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 3.9 ล้านบาท ขาดทุน 0.08 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 5.9 ล้านบาท กำไร 0.5 ล้านบาท
บริษัท ทีวีดี เอ็กซ์ซูเซีย จํากัด ผู้จัดงาน 808 Festival
ยังไม่แสดงงบการเงิน เนื่องจากเพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2022
บริษัท วัน เอเชีย เวนเจอร์ส จํากัด ผู้จัดงาน Siam Songkran Festival
ปี 2019 รายได้ 28 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 25 ล้านบาท ขาดทุน 4.3 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 7.8 ล้านบาท ขาดทุน 1.8 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 95.6 ล้านบาท กำไร 6.6 ล้านบาท
โดยทั่วไปแล้วรายได้หลักจากธุรกิจผู้จัดงานเทศกาลดนตรี EDM จะมาจากการขายบัตรเข้าร่วมงาน, อาหาร, เครื่องดื่ม, สปอนเซอร์ และร้านค้าอื่น ๆ ภายในงาน
เว้นแต่บางงาน เช่น S2O Music Festival ที่จะมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ให้กับพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศด้วย
ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ในช่วงปี 2020-2021 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีผลประกอบการขาดทุนเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถจัดงานเทศกาลดนตรีได้ตามปกติ
แต่หากกลับมามองในปีนี้ เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นอิเวนต์ใหญ่ ที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายยกระดับ ผลักดันให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเทศกาลของโลก
ส่งผลให้บรรดาผู้จัดงานเทศกาลดนตรี EDM ในไทย ทุ่มทุนจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี
จึงน่าติดตามต่อไปว่าเทศกาลดนตรี EDM ไทยปีนี้ จะคึกคักกว่าทุกปี และจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย กลายเป็น World Event Destination ได้สำเร็จหรือไม่..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.