ทำไม Disneyland ถึงไม่เปิดที่ ประเทศไทย
EconomyLifestyleEntertainmentBusiness

ทำไม Disneyland ถึงไม่เปิดที่ ประเทศไทย

6 พ.ย. 2020
ทำไม Disneyland ถึงไม่เปิดที่ ประเทศไทย /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในปัจจุบันสวนสนุก Disney ทั่วโลกมีอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่
แคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา, ปารีส, โตเกียว, ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้
ซึ่งหนึ่งในลักษณะร่วมของเมืองเหล่านี้ ก็น่าจะเป็น “เมืองแห่งการท่องเที่ยว”
จริงๆ แล้วประเทศไทย ก็ถือเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเช่นกัน
ในปีที่ผ่านมา ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท
และถ้ามองในด้านจำนวน ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่เป็นจุดหมายปลายทาง
ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากฮ่องกงเท่านั้น
ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีแม้กระทั่งข่าวลือ ว่า Disneyland จะมาเปิดที่ไทย 
แต่เวลาก็ล่วงเลยมานานแล้ว ประเทศไทยก็ยังไม่มีสวนสนุก Disney เสียที
มีเหตุผลอะไรบ้าง? ที่ทำให้ Disneyland ถึงยังไม่มาเปิดที่ไทย
ลงทุนเกิร์ลจะลองวิเคราะห์ให้ฟัง
การสร้างสวนสนุก Disney แต่ละแห่ง หมายถึงเงินลงทุนก้อนโต 
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ว่าการลงทุนแต่ละครั้ง จะต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน
ซึ่งหนึ่งในปัจจัย ก็น่าจะเป็นขนาดของตลาดและเศรษฐกิจในเมืองนั้นๆ ด้วย
เพราะถ้าลองดูราคาค่าเข้าสวนสนุก Disney ก็ถือว่าค่อนข้างสูง
อย่างบัตร 1-Day Passport ของผู้ใหญ่ เฉลี่ยแล้ว จะอยู่ในช่วงประมาณ 1,800 - 4,800 บาท
ซึ่งถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 6 เมือง ที่มีสวนสนุก Disney
แคลิฟอร์เนีย ประมาณ 375 - 406 บาท/ชม.
ปารีส ประมาณ 372 บาท/ชม.
โตเกียว ประมาณ 271 บาท/ชม.
ฟลอริดา ประมาณ 267 บาท/ชม.
ฮ่องกง ประมาณ 151 บาท/ชม.
เซี่ยงไฮ้ ประมาณ 103 บาท/ชม.
คนในเมืองเหล่านี้ทำงานไม่กี่วัน ก็สามารถซื้อตั๋วเข้าสวนสนุก Disney ได้แล้ว
แต่ถ้าลองกลับมาดูที่ประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ 313 - 336 บาท/วัน
แปลว่าราคาบัตรค่าเข้า Disneyland อาจจะถือว่าค่อนข้างสูง สำหรับคนไทย
ในขณะเดียวกัน เรื่องของประชากรภายในเมืองนั้นๆ ก็สำคัญ
เพราะ Disney ไม่น่าจะต้องการพึ่งพาแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงอย่างเดียว
เนื่องจากคนท้องถิ่น จะมีโอกาสมาใช้บริการได้บ่อยครั้งกว่า
เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมาใช้บริการได้ไม่กี่ครั้ง
โดยถ้าหากดูประชากรในแต่ละเมืองที่สวนสนุก Disney ไปตั้ง จะพบว่า
โตเกียว มีประชากรกว่า 37.0 ล้านคน
เซี่ยงไฮ้ มีประชากรกว่า 27.1 ล้านคน
ปารีส มีประชากรกว่า 11.0 ล้านคน
ฮ่องกง มีประชากรกว่า 7.5 ล้านคน
รัฐฟลอริดา มีประชากรกว่า 22.0 ล้านคน 
และเมืองที่ Disney World ตั้งอยู่คือ ออร์แลนโด มีประชากรกว่า 2.9 แสนคน
รัฐแคลิฟอร์เนีย มีประชากรกว่า 40.0 ล้านคน 
และเมืองที่ Disneyland ตั้งอยู่คือ ลอสแอนเจลิส มีประชากรกว่า 10.1 ล้านคน 
ส่วนประเทศไทย จังหวัดที่มีประชากรสูงสุดก็คือ กรุงเทพฯ 
ซึ่งยังเป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในประเทศด้วย 
ถ้ารวมประชากรแฝงด้วยจะมีอยู่ราว 10 ล้านคน
ซึ่งปัจจัยด้านจำนวนประชากร กรุงเทพฯ น่าจะเป็นเมืองที่มีศักยภาพพอ
แต่ปัจจัยด้านรายได้ต่อหัวของประชากร ก็อาจยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ Disney ไม่กล้าเข้ามาลงทุน
เมื่อ Disney ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการสร้างสวนสนุก 
จึงต้องมั่นใจได้ว่า ตลาดที่ไปลงทุนนั้นคุ้มค่ามากพอที่จะลงทุนด้วย
อีกหนึ่งประเด็นก็คือ
ธุรกิจสวนสนุกในไทยก็ยังมีรายได้ที่ไม่สูงมาก
สวนสยามอะเมซิ่งพาร์ค
บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 355 ล้านบาท ขาดทุน 35 ล้านบาท
บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 27 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท
ในขณะที่ ดรีมเวิลด์ หรือ บริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จํากัด
ปี 2562 มีรายได้ 463 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท
ในด้านสวนน้ำเองก็ไม่ต่างกัน
บริษัท วานา นาวา จำกัด เจ้าของสวนน้ำวานา นาวา วอเตอร์ จังเกิ้ล 
ปี 2562 รายได้ 649 ล้านบาท ขาดทุน 193 ล้านบาท 
บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด เจ้าของสวนน้ำ Cartoon Network
ปี 2562 รายได้ 332 ล้านบาท ขาดทุน 1 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ ก็อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า 
เจ้าของธุรกิจสวนสนุก ในประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยสนุกเท่าไร
และอาจส่งผลให้ Disney ไม่มั่นใจว่าการเข้ามาเปิด Disneyland จะคุ้มค่าหรือไม่ 
นอกจากเรื่องทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น อีกเรื่องที่น่าจะสำคัญไม่แพ้กันก็คือ “ขนส่งมวลชน” 
ในประเทศไทยยังขาดความพร้อมเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่มีสวนสนุก Disneyland
ทั้งถนนหนทาง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และรถประจำทาง
ก็ยังไม่ค่อยเอื้ออำนวยกับการเดินทางไปที่ไกลๆ เท่าไร
และถ้าเราสังเกตดีๆ สวนสนุกทุกแห่งในไทย ถ้าไม่มีรถส่วนตัว ก็แทบจะเดินทางไปได้ยากมาก
ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่แค่นั่งรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินก็ไปได้เลย
แล้วแบบนี้พอจะมีวิธี ที่ทำให้ Disneyland มาเปิดที่ไทยหรือไม่? 
วิธีที่น่าจะรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอให้ Disney มาลงทุน
ก็อาจจะเป็นการใช้วิธี “ร่วมลงทุน” หรือ “ลงทุนสร้าง Disneyland เอง”
โดยวิธีนี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่หลายๆ ประเทศเลือกใช้ 
อย่างสวนสนุก Disneyland ที่ญี่ปุ่น ก็เป็นบริษัท Oriental Land Co., Ltd.
ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจาก Disney และเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ใน Tokyo Disneyland และ DisneySea
หรือ Disneyland บางแห่งก็อาจใช้วิธีร่วมลงทุน
อย่างเช่น Hong Kong Disneyland ที่มีรัฐบาลฮ่องกงถือหุ้น ร่วมกับ Disney
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่า มีเงินลงทุนแล้วทุกคนจะสามารถเปิด Disneyland ได้
เพราะ Disney ก็ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม 
เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย
ในตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่า
สักวันหนึ่ง Disneyland จะมาเปิดที่ประเทศไทย
แต่วันนั้นก็อาจจะต้องรออีกนานหน่อย
และมันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ในชีวิตเรา..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.