ทำไม Pringles ต้องใช้ สมการเรขาคณิต มาออกแบบแผ่นมันฝรั่ง
Business

ทำไม Pringles ต้องใช้ สมการเรขาคณิต มาออกแบบแผ่นมันฝรั่ง

13 ก.ย. 2022
ทำไม Pringles ต้องใช้ สมการเรขาคณิต มาออกแบบแผ่นมันฝรั่ง /โดยลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า “Pringles” ขนมแผ่นมันฝรั่ง
ต้องอาศัยสมการทางคณิตศาสตร์ ช่วยในการออกแบบ
และต้องใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อให้ได้รูปทรงอันเป็นซิกเนเชอร์
แต่กว่า Pringles จะได้รูปทรงแผ่นมันฝรั่ง ตามที่ต้องการ
กลับต้องแลกมาด้วยรสชาติ ที่ทำให้บริษัทต้องขอพับโปรเจกต์นี้ไว้ชั่วคราว
แล้วเรื่องราวทั้งหมดนี้ เป็นมาอย่างไร ?
สมการคณิตศาสตร์ เกี่ยวอะไรกับ “แผ่น” มันฝรั่ง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไป ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการผลิต และจำนวนประชากรในสหรัฐอเมริกา เริ่มขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ซึ่งหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยม ในหมู่ชาวอเมริกันตอนนั้น ก็คือ “มันฝรั่งทอดกรอบ” ทำให้ผู้ผลิตอาหาร ต่างส่งแผ่นมันฝรั่งทอด เข้าสู่เกมการตลาด กันอย่างเข้มข้น
และด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้น
ความคาดหวังของผู้บริโภค ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งสิ่งที่ตามมา ก็คือ ผู้บริโภคหลายคน เริ่มพูดถึงปัญหาของมันฝรั่งทอดกรอบแบบถุงว่า มันทั้งอมน้ำมัน เหม็นหืน และมักจะแตกหักในถุง ก่อนที่จะได้เปิดกินเสียอีก
พอเป็นแบบนี้ ในปี 1956 บริษัท P&G ผู้เห็นโอกาสจากปัญหาดังกล่าว จึงตัดสินใจ ส่งมันฝรั่งทอดกรอบของตนเองลงแข่งบ้าง เพื่อหวังช่วยแก้ Pain Point ให้ผู้บริโภค
โดยทาง P&G ได้มอบหมายให้ คุณ Fredric J. Baur นักวิจัยเคมีอินทรีย์ ให้เข้ามาช่วยพัฒนา และแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของมันฝรั่งทอดกรอบ
ซึ่งคุณ Baur เริ่มต้นแก้ไขรูปทรงแผ่นมันฝรั่ง ให้มีลักษณะเป็นแผ่นโค้งลอน คล้ายกับรูปทรงของ “อานม้า” โดยรูปทรงดังกล่าว ได้ถูกออกแบบตามโครงสร้างของสมการเรขาคณิต อย่าง “ไฮเพอร์โบลิกพาราโบลอยด์”
โดยจุดเด่นของสมการนี้ คือ “ส่วนโค้งของรูปทรงที่ตัดกัน” หรือถ้าพูดง่าย ๆ มันก็คือ จุดตรงกลางของอานม้า
ซึ่งจุดตัดตรงนี้นี่เอง
เปรียบเสมือนเป็น “เซนเตอร์ของโครงสร้าง”
ที่จะช่วยให้แรงภายในของวัตถุ
สามารถทนต่อแรงภายนอกที่มากระทำ
นี่จึงเป็นสาเหตุที่โครงสร้างแบบอานม้าของมันฝรั่ง Pringles จึงมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ
และจากความพิเศษดังกล่าว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับหลักในการออกแบบ โครงสร้างอาคารต่าง ๆ ให้กับเหล่าสถาปนิกและวิศวกรได้อีกด้วย
แล้วรูปทรงแบบ “อานม้า” กับแผ่นมันฝรั่งของ Pringles มีข้อดีอย่างไร ?
ก็ต้องบอกว่า แผ่นมันฝรั่งรูปทรงอานม้า ไม่เพียงแต่สวยสะดุดสายตาผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกัน ไม่ให้แผ่นมันฝรั่งนั้น แตกหักง่าย เมื่อเทียบกับแผ่นมันฝรั่งแบบกลมทั่วไป
เพราะด้วยโครงสร้างรูปทรงอานม้า ที่สามารถถ่ายเท และกระจายน้ำหนักของแผ่นมันฝรั่งได้ทั่วทั้งแผ่น ทำให้แผ่นมันฝรั่ง สามารถรองรับแรงกดทับได้ดี และไม่ว่าแผ่นมันฝรั่งจะซ้อนทับกันอย่างไร แผ่นล่างสุดก็จะไม่แตกหัก หรือแตกหักน้อยที่สุด
อีกทั้งรูปทรงดังกล่าว ยังเอื้อต่อการบรรจุลงในกระป๋อง ทรงกระบอกสุญญากาศ ได้แบบลงตัว
จึงกลายเป็นซิกเนเชอร์ ที่ใครเห็นก็รู้ทันทีว่าคือ Pringles
อย่างไรก็ตาม แม้คุณ Baur จะสามารถแก้ปัญหาการแตกหักง่าย ของแผ่นมันฝรั่งได้แล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตามมา ก็คือ “รสชาติ” ที่ใครได้ชิมก็ต้องส่ายหัว ส่งผลให้ทาง P&G ต้องระงับโปรเจกต์นี้ไว้ชั่วคราว
จนต่อมาในช่วงกลางทศวรรษ 1960
บริษัท P&G เริ่มมองหาสินค้าใหม่ ๆ ที่จะนำมาวางขายเพิ่มเติม
แต่แทนที่จะมานั่งหาไอเดีย และเริ่มพัฒนาตั้งแต่ต้น
พวกเขากลับเลือกใช้วิธีที่ง่ายกว่า ด้วยการค้นโปรเจกต์เก่า ๆ ที่บริษัทเคยทำการศึกษา แล้วนำกลับมาสานต่ออีกครั้ง
ซึ่งแน่นอนว่า โปรเจกต์ที่ได้รับเลือก ก็คือ ผลงานแผ่นมันฝรั่งอานม้า จากคุณ Baur นั่นเอง
แต่ในครั้งนี้ บริษัทได้มอบหมายให้คุณ Alexander Liepa นักวิจัยอีกคน เข้ามารับช่วงต่อจากคุณ Baur
ซึ่งเขาคนนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
เพราะเขาสามารถแก้ปัญหา เรื่องรสชาติของแผ่นมันฝรั่ง ได้สำเร็จ
หลังจากนั้น ทาง P&G ก็ได้ตัดสินใจวางขายแผ่นมันฝรั่งอานม้า ในชื่อ “Pringle’s Newfangled Potato Chips” ที่รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา ในปี 1968
แต่ในช่วงแรก ๆ นั้น Pringles ก็ยังไม่ได้ฮิตติดตลาดมากนัก
ทำให้แบรนด์ต้องดึงดูดผู้บริโภค ด้วยการออกรสชาติใหม่ ๆ
เช่น รสบาร์บิคิว และรสซาวร์ครีมกับหัวหอม
เพื่อให้รสชาติเข้ากับความชอบของลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น
รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มตัวเลือก และเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าได้อีกด้วย
ซึ่ง Pringles ก็คิดถูก เพราะสินค้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น
เมื่อบรรดาผู้ผลิตมันฝรั่งทอดรายอื่น ๆ ได้ออกมาโจมตีว่า Pringles ไม่สมควรใช้คำว่า “Potato Chips” หรือ “มันฝรั่งทอด”
เนื่องจาก วัตถุดิบหลักอย่าง มันฝรั่ง มีไม่ถึง 50%
แถมมันฝรั่งที่ใช้ ก็ไม่ใช่มันฝรั่งสด แต่เป็น “มันฝรั่งอบแห้ง” ถึง 42% ส่วนวัตถุดิบอื่น ๆ ก็คือ พวกแป้งข้าวโพด, แป้งสาลี และแป้งข้าวเจ้า
ซึ่งทาง FDA หรือก็คือ อย. ของสหรัฐอเมริกา ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ จึงได้ออกคำสั่งให้ Pringles ห้ามใช้คำว่า Chips
พอเป็นแบบนี้ P&G จึงแก้เกม ด้วยการเปลี่ยนจากคำว่า Potato Chips เป็น Potato Crisps ที่แปลว่า “มันฝรั่งกรุบกรอบ” แทน และสาเหตุที่ทำให้ Pringles ไม่สามารถใช้มันฝรั่ง 100% มาหั่นเป็นแผ่น ๆ เหมือนแบรนด์อื่น ๆ ได้ ก็เป็นเพราะมันฝรั่งของ Pringles ต้องนำมาผ่านกระบวนการ “ขึ้นรูป” ให้ออกมาเป็นทรงอานม้า ที่มีขนาดเท่า ๆ กันทุกชิ้น นั่นเอง
และต่อมาในปี 1991 Pringles ก็เริ่มขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น
ซึ่งการบุกตลาดนอกประเทศในครั้งนี้ Pringles ยังคงใช้กลยุทธ์ดั้งเดิมเจาะตลาด ด้วยการออกรสชาติสินค้า ให้เข้ากับผู้บริโภค ในแต่ละประเทศ
อย่าง ในประเทศไทย
Pringles ก็ได้นำรสชาติเมนูอาหารแบบไทย ๆ หรือเมนูฮิตติดเทรนด์ ในแต่ละช่วง มาออกแบบรสชาติ เพื่อให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น เช่น รสต้มยำทรงเครื่อง รสไข่เค็ม รสปลาหมึกย่าง และรสลาบ
หรือในประเทศญี่ปุ่น ก็มีรสกิวด้ง หรือข้าวหน้าเนื้อญี่ปุ่น ที่เป็นเมนูข้าวทานง่าย ๆ ที่คนญี่ปุ่นนิยมกัน
นอกจากนี้ ก็ยังมีรสชาติที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อเอาใจลูกค้าในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่น เช่น รสทาโกยากิ จากคันไซ, รสหอยเชลล์ ย่างเนยและโชยุ ของดีประจำฮอกไกโด และรสไข่ปลาเมนไทโกะ จากคีวชู
ซึ่งการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการ ที่หลากหลายของผู้บริโภคนั้น ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาของแบรนด์..
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน Pringles ไม่ได้เป็นของบริษัท P&G แล้ว
แต่อยู่ภายใต้บริษัท Kellogg's ที่ได้ซื้อกิจการไป ในปี 2012
ด้วยมูลค่ากว่า 99,000 ล้านบาท เนื่องจาก Kellogg's ต้องการขยายธุรกิจ กลุ่มอาหารทานเล่น ให้ครอบคลุมตลาดโลกมากขึ้น และบริษัทก็ดูเหมือนจะทำได้ตามเป้า เพราะในปัจจุบัน Pringles มีวางจำหน่ายแล้วมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงได้คำตอบแล้วว่า ทำไม Pringles ต้องใช้ สมการเรขาคณิต มาออกแบบแผ่นมันฝรั่ง
ซึ่งสรุปสั้น ๆ ได้ว่า รูปทรงแบบอานม้า ช่วยให้แผ่นมันฝรั่งไม่แตกหักง่าย แถมยังสามารถเรียงซ้อนกันได้แบบพอดี ในกระป๋องอันเป็นไอคอนิกของ Pringles
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เวลาเราเปิดกระป๋องมันฝรั่ง มักจะไม่ค่อยเจอแผ่นที่แตกหักมากเท่าไร แม้ว่ากระป๋องเหล่านั้น จะผ่านการขนส่งมาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม
และนอกจาก เรื่องของเหตุผลว่า ทำไม Pringles ถึงต้องใช้สมการเรขาคณิตแล้ว
บางคนก็อาจได้คำตอบที่เคยสงสัย ในสมัยที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ว่า สูตรมากมายพวกนี้ จะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ?
ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คงจะเป็นการคิดค้น “มันฝรั่งทอด” Pringles ที่ขายได้ใน 140 ประเทศทั่วโลก และทำเงินได้จำนวนมหาศาลนั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.