รู้จัก พาร์ตเนอร์ธุรกิจ และพาร์ตเนอร์ชีวิต ของเมลานี เพอร์กินส์ แห่ง Canva
Business

รู้จัก พาร์ตเนอร์ธุรกิจ และพาร์ตเนอร์ชีวิต ของเมลานี เพอร์กินส์ แห่ง Canva

4 ส.ค. 2022
รู้จัก พาร์ตเนอร์ธุรกิจ และพาร์ตเนอร์ชีวิต ของเมลานี เพอร์กินส์ แห่ง Canva /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าบอกว่า คุณเมลานี เพอร์กินส์ เป็นผู้ริเริ่มไอเดียของ Canva สตาร์ตอัปที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก คุณคลิฟฟ์ โอเบรชต์ ก็เป็นผู้ที่ช่วยทำให้ความคิดนั้น กลายเป็นรูปเป็นร่าง
Canva คือแพลตฟอร์มกราฟิก ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนทั่วไป สามารถสร้างสรรค์ผลงานเจ๋ง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านโปรแกรมสำหรับมืออาชีพ
ซึ่งในปัจจุบัน Canva มีผู้ใช้งานทั่วโลกต่อเดือน รวมกว่า 75 ล้านรายเลยทีเดียว
จึงไม่น่าแปลกใจว่า Canva จะถูกประเมินมูลค่า ไว้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท
ใหญ่กว่า ปตท. บริษัทที่ใหญ่สุด ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยเสียอีก
นี่จึงเป็นเหตุให้ผู้ก่อตั้งทั้งสอง หรือก็คือคุณเพอร์กินส์ และคุณโอเบรชต์ ติดอันดับมหาเศรษฐีพันล้าน หรือที่เราเรียกว่า Billionaire ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม คนละ 240,000 ล้านบาท
รวมถึงเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน ที่อายุน้อยอันดับต้น ๆ ของประเทศออสเตรเลีย ด้วย “วัยเลข 3” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณเพอร์กินส์ ซึ่งเป็น CEO และเป็นเหมือนหน้าตาของบริษัท เราก็คงจะคุ้นเคยกับเธอกันดีอยู่แล้ว
วันนี้ลงทุนเกิร์ล จึงจะหยิบเอาเรื่องราวของ คุณโอเบรชต์ มาเล่าให้ฟัง ซึ่งถือเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่สำคัญของคุณเพอร์กินส์ และล่าสุดก็ได้เลื่อนสถานะเป็นคู่ชีวิตของเธอด้วย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คุณโอเบรชต์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Canva
โดยปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง COO หรือผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งทั่วไปก็คือ ผู้ที่ดูแลฝั่งการดำเนินงานหลังบ้าน เพื่อให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่สะดุด
ซึ่งแม้ว่าวันนี้ความสำเร็จของคุณโอเบรชต์ จะดูใหญ่โต
แต่หากย้อนกลับไปในวันแรก เขาก็ถือเป็นคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง
คุณโอเบรชต์ เป็นลูกชายของคุณพ่อที่ทำงานในภาครัฐ และคุณแม่ที่ประกอบอาชีพครู
แต่ที่น่าสนใจคือ เขาถูกสอนให้ทำงานเพื่อเก็บเงิน ตั้งแต่อายุยังน้อย
เริ่มตั้งแต่เขาอายุได้ 13 ปี ก็ทำงานเป็นคนล้างจาน บรรจุผักกาดใส่ถุง ยกกระเป๋าที่สนามบิน ไปจนถึงเป็นช่างก่อสร้าง ในขณะที่กำลังเรียนปริญญาตรี ที่ University of Western Australia
ซึ่งก็เป็นมหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่คุณเพอร์กินส์เรียนอยู่ด้วย
โดยทั้งสองคนพบกันที่ Perth Skyworks งานแสดงดอกไม้ไฟ ที่จัดขึ้นทุกปีบริเวณ Swan River
คุณโอเบรชต์ เล่าว่าเขาไม่เคยต้องการจะเป็นนักธุรกิจอย่างจริงจัง
แต่ในสมัยที่พวกเขาคบกันใหม่ ๆ ก็คิดเพียงแค่ว่าจะหาเงินไปท่องเที่ยว จึงหาธุรกิจเล็ก ๆ ทำ และตระเวนไปตามงานแฟร์ในเพิร์ท เมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่
จนกระทั่งวันหนึ่งคุณเพอร์กินส์ ก็เกิดไอเดียที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การทำกราฟิก เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
และหน้าที่ของคุณโอเบรชต์ ก็คือการช่วยทำให้สิ่งที่อยู่ในความคิดนี้ กลายเป็นจริงขึ้นมา
แรก ๆ ธุรกิจของทั้งสอง มีชื่อว่า Fusion Books โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำหนังสือรุ่นโรงเรียน ที่ความพิเศษ คือผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านการออกแบบ ก็สามารถใช้งานแพลตฟอร์มนี้ได้ และเมื่อทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ทาง Fusion Books ก็จะตีพิมพ์ และจัดส่งหนังสือรุ่นให้ถึงมือของลูกค้า
ซึ่งตอนนั้นคุณโอเบรชต์ เป็นคนที่ช่วยหาลูกค้าให้กับ Fusion Books
โดยใช้เวลาเพียงแค่ 5 ปี Fusion Books ก็กลายเป็นบริษัทตีพิมพ์หนังสือรุ่นรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย พร้อมทั้งขยายการให้บริการไปยังฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์อีกด้วย
ต่อมาพวกเขาได้ต่อยอด Fusion Books ให้สามารถทำอย่างอื่นได้นอกเหนือจากหนังสือรุ่น หรือก็คือ Canva ที่เรารู้จักกันในวันนี้
สำหรับช่วงนี้ คุณโอเบรชต์ ก็เป็นผู้ติดต่อให้เหล่าช่างภาพ นำภาพมาขายในคลังรูปของ Canva
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะหากช่างภาพนำรูปไปขายให้กับ Getty Images พวกเขาก็จะได้รับเงินหลักพันบาทต่อรูป
ในขณะที่หากพวกเขานำรูปมาขายใน Canva ก็จะขายได้ราคารูปละ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แถมยังต้องถูกหักไปอีก 75% แปลว่าพวกเขาจะได้รับเงินไม่ถึง 10 บาทเลยด้วยซ้ำ
พอเห็นแบบนี้ ถ้าเราเป็นช่างภาพ ก็คงตัดสินใจขายให้กับ Getty Images เพราะมองว่าคุ้มค่ามากกว่า
แต่คุณโอเบรชต์ ได้ให้คำแนะนำว่า “การจะเจรจากับใคร เราจะต้องเข้าไปจูงใจของคนคนนั้นก่อน”
อย่างกรณีนี้ ก็คือ “เรื่องเงิน”
คุณโอเบรชต์ จึงอธิบายว่า ในอนาคตจะมีคนหลายร้อยหลายพันคนมาใช้งาน Canva ซึ่งรูปนี้ก็จะถูกขายซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนั่นอาจหมายถึงรายได้ ที่ไม่จำกัดเลยทีเดียว
แม้ในวันนั้น Canva จะยังไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เหมือนอย่างในทุกวันนี้
แต่คุณโอเบรชต์ ก็บอกว่า บางครั้งเราอาจจะต้องทำให้คนที่เราชักชวน เห็นภาพอนาคตเดียวกันกับเราเสียก่อน และการจูงใจจะยิ่งได้ผล ถ้าเรากำลังพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการเพิ่มเงินในกระเป๋าของคู่เจรจา
นอกจากนั้น คุณโอเบรชต์ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการรับพนักงานของ Canva รวมถึงเดินทางไปตามเมืองหลัก ๆ อย่างเมลเบิร์น และซิดนีย์ เพื่อชักชวนคนที่มีความสามารถ ให้มาร่วมงานกับพวกเขา
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Canva คือ การบริหารงานคนในองค์กร
โดยคุณโอเบรชต์ ก็มีส่วนช่วยในการเซตระบบการทำงาน ให้เป็นแบบ “สตาร์ตอัปในสตาร์ตอัป”
อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น คือ Canva จะมีการสร้างสภาพแวดล้อม ที่อำนวยความสะดวกให้แต่ละทีม สามารถพัฒนาธุรกิจย่อม ๆ ตั้งแต่ออกแบบกระบวนการทำงาน และจัดการกันภายในอย่างอิสระ
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้ทุกคนในบริษัท เห็นภาพเดียวกัน ว่าพวกเขาสำคัญอย่างไร กับทิศทางที่กำลังจะมุ่งไปของบริษัท
และนี่ก็คือวิธีการทำให้พนักงานทั้ง 2,500 คน ที่กระจายตัวอยู่ใน 17 ประเทศ เดินไปยังจุดหมายเดียวกัน
ซึ่งภายในปี 2022 นี้ Canva ก็ตั้งใจว่าจะขยายทีมเป็น 4,000 คน
เรียกได้ว่า ไม่แย่เลย สำหรับบริษัทที่เพิ่งเดินทางเข้าสู่ปีที่ 10
โดยปัจจุบัน Canva ได้กลายเป็นบริษัท ที่สร้างรายได้กว่า 36,000 ล้านบาท
ถูกประเมินมูลค่าบริษัทเอาไว้ สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท
ส่งผลให้คุณเพอร์กินส์ และคุณโอเบรชต์ ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีพันล้าน
อย่างไรก็ตาม ในด้านชีวิตส่วนตัวของพวกเขาทั้งสองคน กลับไม่ได้หรูหราฟุ่มเฟือยเท่าไรนัก
เช่น แหวนหมั้นที่คุณโอเบรชต์มอบให้คุณเพอร์กินส์ ในวันที่ขอเธอแต่งงาน ก็มีราคาเพียงประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น
หรือบ้านของพวกเขา ที่มีราคาประมาณ 43 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาบ้านกลาง ๆ ของโซนซิดนีย์ รวมถึงไม่ได้ใช้รถยนต์หรู หรือปรากฏตัวอยู่ในแวดวงไฮโซ
ที่น่าสนใจอีกประเด็น คือ เมื่อปลายปี 2021 พวกเขายังได้เข้าร่วมโครงการ The Giving Pledge ซึ่งเป็นการให้สัญญาว่าจะบริจาคสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของตัวเองให้แก่การกุศล ตลอดชีวิตของพวกเขาอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ คงสรุปได้ว่า
การจะหา “พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ” ควรเลือกจากคน ที่จะมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีจุดยืนคล้าย ๆ กัน
เหมือนอย่างคุณโอเบรชต์ และคุณเพอร์กินส์
ที่มองว่าสุดท้ายแล้ว “ความร่ำรวย” ไม่ใช่ทุกสิ่ง
และก็เลือกที่จะ บริจาคสินทรัพย์ส่วนใหญ่ ให้กับการกุศล
ซึ่งเมื่อทุกอย่างลงตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่า
สุดท้ายทั้งคู่จะลงเอยด้วยการเป็น “พาร์ตเนอร์ชีวิต”
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.