คนไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง ยูนิคอร์นฟินเทค ที่ดึงลิซ่ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
Business

คนไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง ยูนิคอร์นฟินเทค ที่ดึงลิซ่ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์

9 มิ.ย. 2022
คนไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง ยูนิคอร์นฟินเทค ที่ดึงลิซ่ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ล่าสุด Ajaib แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นออนไลน์ ได้ประกาศให้ ลิซ่า BLACKPINK เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
ซึ่งหลายคนอาจไม่คุ้นหูกับชื่อ Ajaib มาก่อน แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วบริษัทแห่งนี้ มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นชาวไทย และยังประสบความสำเร็จอย่างมาก จนขึ้นแท่น “ฟินเทคยูนิคอร์น รายแรกของอาเซียน” เลยทีเดียว
แล้วคนไทย ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Ajaib คือใคร
และเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง
Ajaib คือ ธุรกิจโบรกเกอร์ออนไลน์จากอินโดนีเซีย ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2019
ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการประเมินมูลค่ามากกว่า 33,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัประดับ “ยูนิคอร์น”
และแพลตฟอร์มเทรดหุ้นของ Ajaib ยังมีบัญชีนักลงทุนมากกว่า 1 ล้านคน โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มคนรุ่น Millennials และ Gen Z
ดังนั้น คงไม่แปลก หากจะเลือกลิซ่า ที่มีฐานแฟนคลับหลักคือคนรุ่น Millennials และ Gen Z อยู่แล้ว มาเป็นตัวแทนของแบรนด์
ซึ่งก่อนหน้านี้ Ajaib ก็เคยร่วมงานกับคิมซอนโฮ นักแสดงชาวเกาหลีใต้ ที่รับบทฮันจีพยอง ในซีรีส์เรื่อง Start-Up ซึ่งเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เช่นกัน
โดยให้เหตุผลว่า ตัวละครของเขาใน Start-Up อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่น Millennials และ Gen Z ในอินโดนีเซีย เข้าสู่โลกแห่งการลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น CPO หรือหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท
ยังเป็นสาวไทย ที่ปัจจุบันอายุเพียง 28 ปี อย่าง “คุณญาดา ปิยะจอมขวัญ” อยู่ด้วย
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว คุณญาดา ไม่ได้มีความรู้ด้านการเขียนโคด หรือแม้แต่ประสบการณ์การทำงานด้านการเงินมาก่อน
โดยหลังจากเรียนจบปริญญาตรี ด้านการตลาด ก็ได้เข้าทำงานในสายงานที่ปรึกษา ก่อนจะมาศึกษาต่อปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการ หรือ MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ส่วนการก้าวเข้ามาสู่วงการสตาร์ตอัป ก็ไม่ใช่สิ่งที่คุณญาดาคิดฝันมาก่อน
แต่ด้วยความที่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จะโฟกัสเกี่ยวกับเรื่อง การเป็น “ผู้ประกอบการ”
ทำให้คุณญาดาได้รับการปลูกฝังมาว่า แม้การเป็นเจ้าของธุรกิจจะมีความเสี่ยง
แต่แทนที่จะ “กลัว” เราควรเอาเวลาเหล่านั้น มาหาวิธีลดความเสี่ยงดีกว่า
อย่างเช่น ที่บางคนมักจะไม่กล้าระดมทุน เพราะกลัวจะเสียอำนาจการควบคุม ซึ่งจริง ๆ แล้วเราควรจะเอาเวลานั้น มาหานักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน และเชื่อในสิ่งเดียวกันแทน
เพราะมันจะช่วยทำให้เราสามารถโฟกัสในสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องลงแรง ลงเงิน และแบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมด
นอกจากนี้ ในหลาย ๆ คลาสเรียน ยังมีการเชิญผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัปใหญ่ ๆ มาแชร์ประสบการณ์
ซึ่งพอคุณญาดาได้ฟังแล้ว ก็ทำให้มุมมองต่อคนเหล่านั้นเปลี่ยนไป
จากเดิมที่คิดว่า คนที่ปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปจนสำเร็จ จะต้องเป็นอัจฉริยะ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้
ทว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาก็เหมือนคนทั่วไป ที่เคยตัดสินใจผิดพลาด ล้มเหลว และท้อใจไม่ต่างกัน
แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ ความเชื่อมั่นและความตั้งใจจริง นั่นเอง
แล้วทำไมคุณญาดา ถึงเลือกที่จะทำสตาร์ตอัปเกี่ยวกับธุรกิจการเงิน ?
เรื่องนี้เป็นเพราะ เธอและคุณ Anderson Sumarli ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน มาจากสายงานที่ปรึกษาเหมือนกัน
ทำให้ทั้งคู่พอจะเข้าใจภาพกว้างของแต่ละอุตสาหกรรม
พวกเขาจึงเริ่มจากลองไล่แต่ละอุตสาหกรรม ของแต่ละประเทศในอาเซียน เนื่องจากบ้านเกิดของทั้งคู่ก็มาจากภูมิภาคนี้ ซึ่งพวกเขาก็ได้พบว่า ภาคการเงินของอินโดนีเซีย แทบจะไม่มีการพัฒนามาถึง 2 ทศวรรษแล้ว
โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ก็ยังเป็นแบบดั้งเดิม คือต้องเดินทางไปสาขาธนาคาร หรือติดต่อโบรกเกอร์ที่เป็นคน ซึ่งเน้นจับแต่กลุ่มคนที่มีสินทรัพย์จำนวนมาก
แต่คนทั่วไป กลับไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจ หรือเข้าถึงการลงทุนเลย
ดังนั้น ทั้งสองจึงมองเรื่องนี้เป็นโอกาส และเลือกที่จะใช้ Ajaib มาเติมเต็มช่องว่างนี้
แต่ด้วยความที่เป็นฟินเทค ก็ทำให้การปลุกปั้น มีความซับซ้อนกว่าธุรกิจประเภทอื่นอยู่บ้าง เพราะไม่ได้มีแค่ฝั่งดีมานด์และซัปพลาย แต่ยังต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล เข้ามาข้องเกี่ยวด้วย
และถ้ามองในกลุ่มคนที่ทำงานในสายสตาร์ตอัป ก็คงไม่ถูกกับเรื่องระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ มากนัก
อย่างไรก็ตาม คุณญาดากลับมองว่า Ajaib ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ต่างจากโบรกเกอร์ทั่วไป ดังนั้นถ้าคนอื่นผ่านมาได้ เธอก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน
ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ มุมมองการจ้างงานของเธอ ก็ยังมีความผสมผสานระหว่างคนฝั่งเทคโนโลยี และคนที่ทำงานในสายการเงินแบบดั้งเดิม เพราะเชื่อว่าน่าจะมีความรู้และประสบการณ์ที่เรียนรู้กันได้
ซึ่งผ่านมาประมาณ 2 ปีครึ่ง ปัจจุบัน Ajaib ก็กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่า 200 คนเป็นที่เรียบร้อย
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเริ่มอยากรู้กันแล้วว่า คุณญาดา มีบทบาทอะไรใน Ajaib ?
อย่างที่บอกไปว่า เธอทำหน้าที่เป็น CPO หรือหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งที่เธอก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อนเลย
เรื่องนี้ก็เป็นเพราะ สำหรับธุรกิจให้บริการทางการเงิน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ด้านการตลาด
แต่ต้องเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่มีความน่าเชื่อถือ เวลาลูกค้ามาลงทุนแล้วเงินไม่หาย
ดังนั้น คุณญาดา ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จึงต้องเข้ามาดูแลด้วยตัวเอง
ซึ่งแม้ว่าเธอจะไม่ได้ถึงขั้นต้องไปเขียนโคดเอง แต่ก็ต้องไปคุมทีมที่เขียนโคดอยู่ดี
ในช่วงนั้นเธอจึงคุยกับคนเยอะมาก ทั้งหาเมนเทอร์ ที่มีประสบการณ์ด้านโปรดักต์เมเนเจอร์มาก่อน รวมถึงฝ่ายวิศวกร เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของพวกเขา
เพื่อที่จะได้สามารถจัดการหรือกำหนดทิศทางได้อย่างถูกต้อง
สุดท้ายนี้ คุณญาดา ก็ได้ฝากแนวคิดสำหรับ ผู้ประกอบการทุกคน
แม้วันนี้เราจะเห็นแต่ความสำเร็จของ Ajaib
แต่จริง ๆ แล้วการทำธุรกิจสตาร์ตอัป มีช่วงที่ล้มเหลว มากกว่า ช่วงความสำเร็จ
เพียงแค่ ความล้มเหลวเหล่านั้น ไม่ได้รับการนำเสนอ
ซึ่งถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้ คุณญาดาก็ยังอยากคุยกับเมนเทอร์มากกว่านี้
เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาศัยแค่ความรู้จากที่ร่ำเรียนมาไม่ได้
และการที่ได้พูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์จริง ก็น่าจะช่วยให้เราเกิดความผิดพลาดน้อยลง..
แล้วรายได้ของ Ajaib มาจากไหน ?
อ่านต่อได้ที่ https://www.longtungirl.com/5156
References:
-บทสัมภาษณ์จาก คุณญาดา ปิยะจอมขวัญ
-https://www.kossyderrickent.com/2022/06/video-lisa-of-blackpink-announced-as.html
-https://hits.zigi.id/lisa-ditunjuk-jadi-brand-ambassador-ajaib-9991
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.