‘จ้าง Influencer’ หรือ ‘สร้าง Personal Branding’ กลยุทธ์ไหนดีกว่ากัน ?
Marketing

‘จ้าง Influencer’ หรือ ‘สร้าง Personal Branding’ กลยุทธ์ไหนดีกว่ากัน ?

16 ม.ค. 2022
‘จ้าง Influencer’ หรือ ‘สร้าง Personal Branding’ กลยุทธ์ไหนดีกว่ากัน ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากเราพูดถึง Tesla หรือ SpaceX ทุกคนจะนึกถึงอะไรคะ ?
สำหรับบางคนแทนที่จะเห็นภาพของรถยนต์หรือจรวด ก็อาจจะเห็นหน้าของอีลอน มัสก์ ลอยขึ้นมาแทน
ซึ่งนั่นก็เพราะว่า อีลอน มัสก์ ใช้ตัวเองเป็น “Personal Branding” หรือที่เราเรียกว่า การสร้างตัวตนขึ้นมาให้สังคมจดจำ จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ในที่สุด
ในขณะเดียวกัน ก็มีบางแบรนด์เลือกที่จะให้ “Influencer” หรือคนที่มีอิทธิพล มาช่วยในการโปรโมตสินค้าและเป็นตัวแทนของแบรนด์ ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งในปี 2021 จากรายงานของ Research and Markets พบว่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์นี้มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
แล้ว Personal Branding กับ Influencer ต่างกันอย่างไร ?
และหากเราต้องการเริ่มธุรกิจ เราควรเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหนดี ?
ลงทุนเกิร์ลจะพาไปหาคำตอบกัน
อันดับแรกเรามาทำความเข้าใจความหมายของ Personal Branding กับ Influencer กันก่อน
Personal Branding คือการสร้างตัวตนขึ้นมาให้สังคมจดจำ จากจุดเด่น, ความเชื่อ หรือเรื่องราวของแบรนด์ จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์
ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคเห็นภาพลักษณ์นั้น ๆ จนคุ้นชิน เพียงแค่เอ่ยถึงบุคคลนั้น ภาพลักษณ์นั้น ๆ ผู้บริโภคก็จะนึกถึงแบรนด์ขึ้นมาเองโดยปริยาย
ซึ่งส่วนใหญ่ เราก็คงจะเห็นเจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คน เริ่มหันมาใช้ “ตัวเอง” ในการสร้าง Personal Branding
เช่น หากเราพูดถึง iPhone ภาพของสตีฟ จอบส์ ก็คงจะลอยขึ้นมาทันที ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบัน คนที่นั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทจะเป็น ทิม คุก มานานกว่า 10 ปีแล้ว
ซึ่งสำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีเจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คน เลือกที่จะใช้ตัวเองเป็น Personal Branding ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างของหนึ่งใน Personal Branding ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือคุณพิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อ “พิมรี่พาย” แม่ค้าไลฟ์ขายของ ที่ขายสินค้าแทบทุกอย่าง
โดยแครักเตอร์ที่คุณพิมรี่พายสร้างขึ้นก็คือ แม่ค้าไลฟ์สดกับโกดังใหญ่ที่พูดจาเข้าถึงง่าย ใจใหญ่ กล้าได้กล้าเสีย และมีเรื่องราวใหม่ ๆ ให้ลูกค้าได้เซอร์ไพรส์ตลอดเวลา
ซึ่งหากเราพูดถึงการไลฟ์ขายของบนเฟซบุ๊ก ชื่อของคุณพิมรี่พายก็จะขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน
ต่อมา คุณอูน-ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ เจ้าอาณาจักร Diamond Grains ที่ปัจจุบันเดินทางเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว แต่แบรนด์กลับไม่เคยใช้พรีเซนเตอร์ในการขาย หรือโปรโมตสินค้าเลย
เนื่องจากคุณอูนเลือกที่จะใช้ตนเอง ในการทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ ด้วยแครักเตอร์นักธุรกิจสาว ที่จริงใจ และใส่ใจกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้กับลูกค้า และหลัง ๆ เพิ่มเติมมาด้วยการให้ความรู้ รวมถึงแง่คิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจ SME ที่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเธอ
ซึ่งจริง ๆ แล้วหลายคนอาจไม่รู้ว่า แบรนด์ Diamond Grains ยังมีผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน ซึ่งก็คือ คุณวุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์ สามีของคุณอูน แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ภาพจำของ Diamond Grains ก็น่าจะยังคุ้นชินกับคุณอูนมากกว่าอยู่ดี
และเจ้าของธุรกิจคนสุดท้ายก็คือ คุณแพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้าของห้องเสื้อ Vatanika
ซึ่งแต่ก่อน จะเป็นแบรนด์ที่รู้จักเฉพาะกลุ่มแค่ในวงการแฟชั่นเท่านั้น
แต่หลังจากที่คุณแพรได้เริ่มสร้างภาพลักษณ์ ไฮโซสาวใช้ชีวิตหรูหรา ผ่านช่อง YouTube ส่วนตัว แบรนด์ Vatanika ก็กลายเป็นที่รู้จักกว้างมากขึ้นพร้อมกับวลี “It’s me Vatanika”
ดังนั้นข้อดีของการสร้างตนเองเป็น Personal Branding ก็คือ ช่วยให้ผู้บริโภครับรู้ถึงการมีอยู่ของแบรนด์ แม้ไม่ได้ติดตาม หรือสนใจสินค้าและบริการของแบรนด์อย่างจริงจังเลยก็ตาม
ส่วนสำหรับผู้บริโภคที่สนใจสินค้าและบริการของแบรนด์อยู่แล้ว ก็จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้นเคย และเชื่อถือในตัวแบรนด์มากขึ้นไปอีก
นอกจากนั้นยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ หรือพรีเซนเตอร์ในการโปรโมตแบรนด์ เพราะผู้บริโภคยึดเจ้าของแบรนด์เป็นภาพจำไปแล้ว
แต่การที่สร้างตัวบุคคลเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะหากบุคคลนั้น ๆ ประพฤติตัวไม่ดี หรือไม่เป็นที่ยอมรับ ก็อาจจะส่งผลกระทบไปถึงแบรนด์ได้ โดยที่แก้ไขได้ยาก
นอกจากนั้น การสร้างภาพลักษณ์ให้คนจดจำยังไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่สร้างขึ้นได้ภายในวันหรือสองวัน หรือเพียงแค่ประกาศว่าเราจะเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ แล้วจะกลายเป็น Personal Branding ทันที
เพราะจำเป็นต้องมีบุคลิกที่โดดเด่น และหมั่นสื่อสารกับผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อที่จะสร้างความคุ้นเคย และเข้าไปอยู่ในความทรงจำของคนเหล่านั้นในที่สุด
แล้ว Personal Branding ต่างจากการจ้าง Influencer อย่างไร ?
สำหรับ Influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์ ก็คือบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือคนที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง โดยไล่เรียงลำดับไปตั้งแต่คนที่มีอิทธิพลในวงเล็ก ๆ ไปจนถึงคนที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น Nano, Micro และ Macro
Influencer ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาด ที่สามารถดึงดูดให้คนมาสนใจแบรนด์ได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ยุค Millennial และ Gen Z รู้สึกเชื่อถือในตัวอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าแคมเปญใหญ่ ๆ หรือดาราชื่อดัง เพราะรู้สึกถึงความใกล้ชิดและเข้าถึงง่ายมากกว่า
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเห็นทั้งแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ ต่างก็จ้าง Influencer ในการโปรโมตแบรนด์ตัวเองทั้งนั้น
โดยเฉพาะในปี 2022 นี้ ที่คนได้หันมาให้ความสนใจกับ Nano Influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามไม่ถึง 1,000 คน มากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากคนเหล่านี้จะมีอัตราค่าจ้างที่ไม่สูง แต่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามอินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์ไม่ดี ก็สามารถทำลายชื่อเสียงให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน
แต่ปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะแบรนด์เปลี่ยนอินฟลูเอนเซอร์ที่โฆษณาสินค้าได้ตลอดเวลา ดังนั้นหากอินฟลูเอนเซอร์คนไหน ทำให้แบรนด์เสียชื่อเสียง ก็สามารถปลดลงได้ง่าย ๆ
ต่างจาก Personal Branding ที่เปลี่ยนได้ยากกว่า เพราะเป็นคนใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับแบรนด์ จนแทบแยกไม่ออก
นอกจากนั้น อีกหนึ่งเทรนด์ของอินฟลูเอนเซอร์ ที่มาแรงไม่แพ้กัน ก็ยังมี “Virtual Influencer” หรืออินฟลูเอนเซอร์เสมือน ที่รูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ แต่ถูกสร้างมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อมาแทนอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคน
เช่น เครือข่าย AIS ก็ดึงเอา “ไอ-ไอรีน” อินฟลูเอนเซอร์เสมือนที่พัฒนาโดยคนไทย มาเป็น Brand Ambassador หรือ “วันนี้” อินฟลูเอนเซอร์ของแบรนด์ทิพยประกันภัย
พอเรื่องเป็นอย่างนี้ จึงเรียกได้ว่าช่วยขจัดปัญหาการปลดอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่เหมาะสมในอนาคต
เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้ นอกจากจะสามารถควบคุมพฤติกรรมได้แล้ว ยังคงความเยาว์วัยตลอดกาลอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะรับรู้ได้แล้วว่าทั้งการสร้าง Personal Branding และการจ้าง Influencer เป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองในยุคดิจิทัลอย่างมาก ซึ่งทั้ง 2 กลยุทธ์นี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป หากเรานำมาใช้ไม่ถูกต้อง
ส่วนคำตอบเรื่องการสร้าง Personal Branding หรือจ้าง Influencer กลยุทธ์ไหนจะดีกว่ากัน เราก็ควรถามตัวเองก่อนว่าเราต้องการสร้างธุรกิจแบบไหน แล้วเราพร้อมหรือไม่
ดังนั้นเราควรเลือกหนทางที่เหมาะกับรูปแบบธุรกิจของเรามากที่สุด
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.