FashionBusiness
Longchamp จากธุรกิจขายยาสูบ สู่แบรนด์กระเป๋า ที่ใช้ได้ตั้งแต่จ่ายตลาดจนถึงออกงาน
13 ก.ค. 2021
Longchamp จากธุรกิจขายยาสูบ สู่แบรนด์กระเป๋า ที่ใช้ได้ตั้งแต่จ่ายตลาดจนถึงออกงาน /โดย ลงทุนเกิร์ล
พูดถึง Longchamp หลายคนต้องนึกถึง ไอเทมฮิตในตำนาน อย่างกระเป๋าไนลอนหลากสี ที่มาพร้อมหูหิ้วและฝาปิดหนังสีน้ำตาล
แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือ เบื้องหลังกระเป๋าแบรนด์ดังระดับตำนานที่มีอายุเก่าแก่ถึง 70 กว่าปีนี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากการขายกระเป๋า แต่ตั้งต้นจากธุรกิจที่ดูแล้วต่างกันสุดขั้วจนไม่น่าจะมาลงเอยกันได้ อย่างการขายยาสูบ
แล้วอะไรคือ จุดพลิกผันที่ทำให้ Longchamp แจ้งเกิดในฐานะแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ เป็นเจ้าของไอเทมที่ขายดีตลอดกาล จนเชื่อว่าสาว ๆ หลายคนปรารถนาว่าต้องมีอย่างน้อย 1 ใบติดตู้
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1948 หรือราว 73 ปีที่แล้ว
Jean Cassegrain ได้ให้กำเนิดแบรนด์ Longchamp ในฐานะร้านขายกล้องยาสูบ (ไปป์)
Jean Cassegrain ได้ให้กำเนิดแบรนด์ Longchamp ในฐานะร้านขายกล้องยาสูบ (ไปป์)
โดยจุดเด่นที่ทำให้ไปป์ยาสูบของ Longchamp ไม่เหมือนใคร คือ เพิ่มความหรูหราด้วยการห่อหุ้มไปป์ด้วยหนัง
ซึ่งหลังจากวางขายก็ปรากฏว่า ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะในหมู่นายทหารชั้นสูง รวมถึงราชาเพลงร็อกแอนด์โรลล์ อย่าง Elvis Presley ก็ยังอยู่ในทำเนียบลูกค้าของแบรนด์
แล้วจากธุรกิจยาสูบ มาสู่แบรนด์แฟชั่นได้อย่างไร ?
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ความต้องการอุปกรณ์ยาสูบก็ซบเซาตามไปด้วยตามดีมานด์ของลูกค้าที่ลดลง
โดยเฉพาะกลุ่มนายทหาร ที่บางส่วนต้องทยอยเดินทางกลับประเทศ ผิดกับตลาดแฟชั่น ที่เคยเงียบเพราะพิษสงคราม ก็เริ่มกลับมาพลิกฟื้น
Longchamp ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหนังอยู่แล้ว เลยหันมาแตกไลน์ทำเครื่องหนังสำหรับผู้ชาย เช่น กระเป๋าสตางค์ เคสพาสปอร์ต กระเป๋าเดินทาง และแอกเซสซอรีต่าง ๆ
ซึ่งธุรกิจก็ไปได้สวย สามารถขยายไปในตลาดต่างประเทศไม่พอ ยังเป็นแบรนด์ยุโรปแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาตีตลาดในเอเชีย มีสินค้าวางขายที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
และพอทำไปได้สักระยะ คุณ Jean เริ่มเห็นเทรนด์ว่า ตลาดแฟชั่นผู้หญิงเองก็หอมหวานไม่เบา
ต่อมาในปี 1971 Longchamp จึงสลัดภาพลักษณ์ จากแบรนด์ที่แมนสุดขั้ว มาเจาะตลาดผู้หญิง ผลิตกระเป๋าออกมาเขย่าวงการหลายคอลเลกชัน
แต่ผลงานที่จุดพลุแจ้งเกิดให้แบรนด์ คือ กระเป๋ารุ่น “Le Pliage” (อ่านว่า เลอ-ปลิยาจ) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกระเป๋าที่ใช้วัสดุไนลอนรุ่นแรกของโลก ที่ปฏิวัติวงการแฟชั่น โดยผู้ที่คิดค้นคือ คุณ Philippe Cassegrain ลูกชายของคุณ Jean นั่นเอง
จุดเด่นของกระเป๋ารุ่นนี้ คือ ใช้วัสดุอย่างไนลอน ซึ่งปกติใช้ทำ “เต็นท์ของทหาร” เพราะมีน้ำหนักเบา ทนทาน และกันน้ำได้
เพิ่มเสน่ห์และเอกลักษณ์ให้กระเป๋า ด้วยหูจับที่เป็นหนัง แถมยังเติมฟังก์ชันให้กระเป๋าอเนกประสงค์ยิ่งขึ้น จุของได้แบบจุใจ และยังพับเก็บได้สะดวก สมกับชื่อรุ่น ที่มีความหมายว่า พับได้ เพราะได้แรงบันดาลใจจากศิลปะการพับกระดาษแบบโอริกามิของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ถึงไอเดียจะดี สินค้าจะโดน แต่ก็ใช่ว่า Le Pliage จะปังตั้งแต่วางขาย เพราะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าสินค้าจะติดตลาด และกลายเป็นสินค้าที่ขายดีตลอดกาล
ซึ่งถ้าใครสงสัยว่า กระเป๋ารุ่นนี้ขายดีขนาดไหน คุณ Philippe เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทุก 1 นาที Le Pliage จะถูกขายออกไปถึง 11 ใบเลยทีเดียว
โดยเหตุผลก็อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า เพราะกระเป๋ามีความอเนกประสงค์ ใช้ได้ในหลายโอกาส
ที่สำคัญแม้ดีไซน์กระเป๋ารุ่นนี้ จะคงเอกลักษณ์ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู แต่สาว ๆ ก็ถือได้ไม่เบื่อ เพราะมีเฉดสีที่หลากหลายให้เลือก ปัจจุบันมีให้เลือกถึง 150 สี สามารถเลือกขนาด และความยาวของหูกระเป๋าได้ตามใจ
แถม Longchamp ยังขยันสร้างความแปลกใหม่ ด้วยการ Collaboration กับศิลปินชื่อดังเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น Jeremy Scott, Sarah Morris รวมไปถึงแครักเตอร์ขวัญใจคนทั้งโลกอย่าง Pokémon
ปัจจุบัน อาณาจักร Longchamp ไม่ได้มีแค่แบรนด์กระเป๋า ที่มีตั้งแต่คอลเลกชัน สำหรับวันสบาย ๆ หรือถือออกงาน
แต่ยังมีสินค้าแฟชั่นครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้า แอกเซสซอรี รองเท้า แว่นกันแดด ไปจนถึงกระเป๋าเดินทาง
มีทั้งคอลเลกชันสำหรับคุณสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
มีทั้งคอลเลกชันสำหรับคุณสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
มีสาขาทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ รวมทั้งมีร้านจัดจำหน่ายมากกว่า 300 ร้าน
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ นอกจากจะเป็นแบรนด์ขวัญใจมหาชนไม่เสื่อมคลาย Longchamp ยังเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลกเพียงไม่กี่เจ้า ที่ยังเป็นธุรกิจภายในครอบครัวแบบ 100%
ต่างจากลักซ์ชัวรีแบรนด์ในตำนานส่วนใหญ่ ที่ถูกควบรวมกิจการเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ อย่าง LVMH ซึ่งมีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Louis Vuitton, TAG Heuer, Dior, Fendi, Rimowa และ Kering ซึ่งมีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Saint Laurent, Gucci, Balenciaga, Bottega Veneta และ Alexander McQueen
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมคุณ Jean ถึงเลือกตั้งชื่อแบรนด์ว่า Longchamp แทนที่จะใช้ชื่อคนก่อตั้งหรือชื่อตระกูล มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เหมือนกับที่ลักซ์ชัวรีแบรนด์ส่วนใหญ่นิยมทำกัน ไม่ว่าจะเป็น Hermès, Louis Vuitton, Chanel และอื่น ๆ อีกมากมาย
เหตุผลก็เพราะชื่อ Cassegrain ถูกญาตินำไปตั้งชื่อธุรกิจจัดจำหน่ายกระดาษเสียก่อน คุณ Jean เลยเปลี่ยนมาใช้ Longchamp ซึ่งมีความหมายว่า ลู่วิ่งในสนามม้าแทน
ส่วนที่ต้องเป็นชื่อลู่วิ่งในสนามม้า ก็เพราะนามสกุล Cassegrain มีความหมายใกล้เคียงกับ “โรงสีข้าว” และข้าง ๆ โรงสีข้าวที่คุณ Jean ผ่านทุกวัน คือ สนามม้าแห่งแรกของชาวปารีสที่มีชื่อว่า Hippodrome de Longchamp ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 161 ปี สร้างมาตั้งแต่สมัยนโปเลียนที่ 3 นั่นเอง
ก็น่าคิดว่า ถ้าวันนั้น คุณ Jean ไม่เลือกแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนชื่อ ในวันนี้ แบรนด์กระเป๋าที่คนทั้งโลกคุ้นเคยก็อาจจะเป็น Cassegrain ไม่ใช่ Longchamp ก็เป็นได้