Market Kurly ธุรกิจขายของชำออนไลน์ มูลค่า 1.4 แสนล้าน
Business

Market Kurly ธุรกิจขายของชำออนไลน์ มูลค่า 1.4 แสนล้าน

15 มิ.ย. 2021
Market Kurly ธุรกิจขายของชำออนไลน์ มูลค่า 1.4 แสนล้าน ​/โดย ลงทุนเกิร์ล​
​​จะดีแค่ไหน ถ้า 4 ทุ่มแล้ว เรายังสามารถนอนเลือกช็อปเนื้อหมู ผัก และผลไม้จากแหล่งผลิตที่ถูกใจ ผ่านหน้าจอได้ไม่ต่างจากช็อปเสื้อผ้าออนไลน์
ที่สำคัญ ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องอดทนรออีกเป็นวัน ๆ กว่าของที่สั่งจะมาส่ง
เพราะไม่เกิน 7 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น ออร์เดอร์ทั้งหมดที่สั่งไว้ ก็พร้อมส่งถึงหน้าประตูบ้านแล้ว
นี่ไม่ใช่ไอเดียขายฝัน แต่เกิดขึ้นจริงแล้วที่เกาหลีใต้
ที่คุณพ่อบ้านแม่บ้านไม่ต้องหนักใจอีกต่อไป ว่าจะไปจ่ายตลาดไม่ทัน
หรือสั่งของออนไลน์แล้วต้องอดใจรอกว่าจะมาส่ง
เพราะ Market Kurly เป็นแพลตฟอร์มขายของชำ ถูกออกแบบให้พร้อมส่งทุกออร์เดอร์ แบบรวดเร็วทันใจ
ขอแค่ออร์เดอร์เข้ามาก่อน 5 ทุ่ม พรุ่งนี้ 7 โมงเช้าตื่นขึ้นมาก็รอรับของที่สั่งได้เลย
ซึ่งใครจะคิดว่า ด้วยจุดเด่นที่ดูไม่ซับซ้อน แต่โดนใจพ่อบ้านแม่บ้านยุคดิจิทัลเข้าอย่างจังนี้เอง
เมื่อบวกกับความใส่ใจ และความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารอย่างไร้ที่ติ มาวางขาย
จะทำให้ Market Kurly ที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้เล่นรายแรก ๆ ในตลาดร้านขายของชำออนไลน์ สามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว และมีแววว่า อาจจะยื่น IPO ภายในปีนี้
แล้วใครคือผู้สร้าง Market Kurly ที่วันนี้มูลค่าแสนล้าน ?
อะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ Market Kurly ขึ้นเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Market Kurly คือคุณ Sophie Kim
โดยหลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เธอมีโอกาสได้ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาและการลงทุนชื่อดังของโลก
ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs, McKinsey ที่ฮ่องกง และ Temasek ที่สิงคโปร์
ก่อนจะแต่งงานและตัดสินใจย้ายกลับมาบ้านเกิด พร้อมเริ่มต้นทำงานที่บริษัทที่ปรึกษา Bain & Co. ​
แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนทำให้มนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้สูงและมั่นคง
คิดจะผันตัวมาสร้างสตาร์ตอัป ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
คุณ Kim มีความเชื่อว่าธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยแพสชัน
ย่อมอยู่ได้นานและไปได้ไกลกว่าธุรกิจที่เริ่มจากแค่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ
ดังนั้นเธอซึ่งมีแพสชันเรื่องอาหารแบบเกินร้อย
จึงนำประสบการณ์ตรงที่เจอเวลาไปเลือกซื้อของสดตามซูเปอร์มาร์เกต
แล้วมักไม่ได้ของสด หรือของที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ มาจุดประกายเป็นไอเดียธุรกิจ
เพราะเธอเชื่อว่า ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกจำนวนมากที่เจอปัญหาเดียวกัน
ยิ่งค่านิยมของคนเกาหลียุคนี้ ไม่ได้มุ่งทำงานเพื่อสะสมเงินไว้ เพื่อซื้อบ้านซื้อรถเหมือนเก่า
แต่ถือคติ YOLO หรือ You Only Live Once ซึ่งหมายถึง คนเราเกิดมาครั้งเดียว
เลยต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม ต้องเลือกทานของที่ดีต่อสุขภาพและออกไปใช้ชีวิต​
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมาสำรวจคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่
คุณ Kim กลับพบว่า ระบบกระจายอาหารที่มี ไม่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ในแบบคนเกาหลียุคนี้มองหา​
เธอจึง​คิดว่า อยากจะสร้างธุรกิจ เพื่อเป็นเสมือนโซ่ข้อกลาง เป็นศูนย์กลางในการนำของดีที่กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ มาส่งมอบให้คนเมืองที่เวลาน้อย ไลฟ์สไตล์เร่งรีบ
และด้วยเหตุนี้เอง Market Kurly จึงถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 2015
โดยคำว่า Kurly ก็นำมาจาก ​Culinary
ที่มีความหมาย เกี่ยวข้องกับการทำอาหาร ทำครัว แต่รวบคำให้สั้นลงนั่นเอง
ซึ่งหลังจาก Market Kurly เปิดตัวได้ไม่นาน ก็ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี
รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก ๆ ก่อนจะโตแบบก้าวกระโดด
ปี 2018 ทำยอดขาย 4,400 ล้านบาท
ปี 2019 ทำยอดขาย 12,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 170%
ที่สำคัญ พอมาถึงปี 2020 ที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤติโควิด 19
Market Kurly ก็ยังได้อานิสงส์จากการที่ผู้คนไม่ออกจากบ้าน และหันมาใช้บริการออนไลน์
จนยอดขายกระโดดมาอยู่ที่ 27,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนถึง 125%
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า อะไรคือหมัดเด็ดที่ทำให้ Market Kurly เป็นที่นิยมขนาดนี้​ ?
อย่างที่หนึ่ง สร้างสตอรีให้สินค้า​
นอกจากรูปผลิตภัณฑ์สวย ๆ ที่คุณ Kim เลือกอัปโหลดขึ้นไปโชว์บนเว็บไซต์แล้ว
เธอยังให้ความสำคัญในการบอกเล่าถึงเรื่องราวของสินค้าแต่ละชิ้นที่เลือกมาด้วยว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร
อย่าง ขนมปังที่ขายใน Market Kurly แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร เพื่อทำให้สินค้าดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
สอง ความรวดเร็ว
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า หนึ่งในจุดเด่นของ Market Kurly คือ ความรวดเร็วทันใจ
เพียงออร์เดอร์เข้ามาก่อน 5 ทุ่มของวัน
สินค้าคุณภาพก็พร้อมส่งตรงถึงหน้าบ้านภายใน 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น
สุดท้าย คุณภาพต้องมาก่อน
ที่​ Market Kurly​ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทดสอบสินค้าทุกชิ้น ก่อนวางขาย
ซึ่งคุณ Kim เคยให้สัมภาษณ์​ว่า ตลอด 6 ปี ตั้งแต่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ
เธอไม่เคยพลาดที่จะเข้าร่วมการเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบรสชาติและคุณภาพของสินค้าแม้แต่ครั้งเดียว
และยังบอกด้วยว่า​​ กว่า 35,000 ไอเทม​ที่วางขายใน Market Kurly มีถึง 15,000 ชิ้นที่ไม่ได้ไปต่อ
ทั้งหมดเพราะคุณ Kim ถือคติว่า สินค้าทุกชิ้นที่ขายใน Market Kurly ต้องเป็นของที่ต่อให้เธอไม่ใช่เจ้าของ Market Kurly ก็ต้องยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนอกจากจะเป็นตัวกลาง ทำหน้าที่เป็น Marketplace การกระจายสินค้าแล้ว
Market Kurly ยังเริ่มแตกไลน์ มาผลิตสินค้าของตัวเอง ที่ใช้ชื่อว่า “Kurly Only”
โดยตอนนี้มีขายสินค้า ทั้งนม ขนมปังโฮลวีต แฮม กิมจิ เต้าหู้ และแปรงสีฟัน
รวมทั้งบริษัทยังมีแผนขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็น​ เครื่องใช้ในครัว ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ความงาม และเครื่องประทินผิว
รวมถึงนำเข้าชีสจากต่างประเทศมาจำหน่ายด้วย
ทั้งหมดนี้ก็คงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เธอคิดผิดหรือไม่ที่ทิ้งเงินเดือนก้อนโต
แล้วออกมารับความเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จ
แต่จริง ๆ แล้วคุณ Kim อาจจะรู้คำตอบนี้อยู่ในใจแล้วก็เป็นได้
เพราะธุรกิจที่เธอทำก็มาจากแพสชัน
และแพสชันนี้เอง ที่จะทำให้ธุรกิจเหล่านั้นอยู่ได้นานและไปได้ไกล
ซึ่งถ้าถามต่อว่า Market Kurly ไปไกลแค่ไหนแล้ว ?
ตอนนี้บริษัทได้รับการประเมินมูลค่าอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท
รวมทั้ง แผนว่าภายในปีนี้ Market Kurly จะเสนอขายหุ้น IPO เป็นครั้งแรก อีกด้วย..
References:
-https://asiatimes.com/2020/11/koreas-market-kurly-gallops-towards-unicorn-status/
-https://koreajoongangdaily.joins.com/2018/03/25/industry/Market-Kurly-fills-niche-for-foodies/3046059.html
-https://www.thestar.com.my/tech/tech-news/2019/02/22/ex-goldman-bankers-quest-for-fresh-food-turns-into-a-hit-app
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.