กลยุทธ์ของ ZARA หลังประกาศผลขาดทุน เป็นไตรมาสแรก ในรอบหลายปี
Business

กลยุทธ์ของ ZARA หลังประกาศผลขาดทุน เป็นไตรมาสแรก ในรอบหลายปี

17 มิ.ย. 2020
ไตรมาสแรก ในรอบหลายปี /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อไม่กี่วันก่อน Inditex ธุรกิจฟาสต์แฟชั่น ที่ใหญ่สุดในโลก
ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2020
ปรากฏว่า บริษัทขาดทุนกว่าหมื่นล้านบาท
ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี..
แล้ว Inditex มีกลยุทธ์อะไรเพื่อมารับมือกับเรื่องนี้?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับชื่อ Inditex
แต่จริงๆ แล้วบริษัทนี้เป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังจำนวนมาก
เช่น ZARA, Pull & Bear, Massimo Dutti
ที่ผ่านมารายได้และกำไรของ Inditex เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2017 รายได้ 882,459 ล้านบาท กำไร 117,308 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 910,637 ล้านบาท กำไร 119,955 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 985,208 ล้านบาท กำไร 126,747 ล้านบาท
แต่พอมาถึงปีนี้ Inditex ก็เป็นเหมือนกับบริษัทอื่น ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ผลประกอบการ ไตรมาส 1 (กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน) ปี 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน
รายได้ 115,718 ล้านบาท ลดลง 44%
ขาดทุน 14,329 ล้านบาท จากที่เคยกำไร 25,635 ล้านบาท
ซึ่งในรายงานงบการเงินของ Inditex ยังกล่าวถึงยอดขายในเดือนพฤษภาคม
ว่าก็หายไปครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับปีก่อนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์นี้ สิ่งที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ “ยอดขายออนไลน์”
ยอดขายออนไลน์ ระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถึงสิ้นเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 50%
และถ้าหากดูเฉพาะเดือนเมษายน จะเพิ่มขึ้นถึง 95% เมื่อเทียบกับปีก่อน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Inditex จึงได้ประกาศแผนการดำเนินงานในอีก 3 ปีข้างหน้า
ซึ่งหลักๆ ก็คือ การปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น
มีการลดจำนวนหน้าร้านลง 1,000-1,200 สาขา ภายในปี 2021
และหันไปเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์ให้ได้มากกว่า 25% ภายในปี 2022
แต่ที่น่าสนใจคือ Inditex ไม่ได้มองว่าหน้าร้าน เป็นสิ่งที่จะหายไปในอนาคต
เพราะบริษัทยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีกประมาณปีละ 150 ร้าน ไปจนถึงปี 2022
โดย Inditex ได้ตั้งงบประมาณไว้เกือบหมื่นล้านบาท ตลอด 3 ปีนี้
เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และบูรณาการระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์โดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะปรับหน้าร้านให้น่าดึงดูดยิ่งขึ้น
มุ่งเน้นพัฒนาประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า ทั้งในด้านของขนาดและคุณภาพของร้านสาขา
Inditex มองว่า หน้าร้านยังถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายในออนไลน์
เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงลูกค้า ตามทำเลต่างๆ ทั่วโลกที่บริษัทได้คัดสรรมาแล้วว่าดีที่สุด
รวมถึงกระบวนการทำงานที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การพัฒนาระบบ RFID เพื่อติดตามสินค้า
ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงเหลือ
ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เกิดการประสานกันระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ
ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มยอดขายแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุน และลดการแออัดภายในร้านด้วย
ดังนั้นแม้ว่าในปีนี้ แนวโน้มผลประกอบการของ Inditex
จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19
แต่ด้วยแนวทางการปรับตัวหลายๆ อย่าง ก็น่าจะทำให้บริษัทกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.