Bumble แอปหาคู่ที่มีคนยอมจ่ายเงินให้มากกว่า Tinder
Business

Bumble แอปหาคู่ที่มีคนยอมจ่ายเงินให้มากกว่า Tinder

12 ก.พ. 2021
Bumble แอปหาคู่ที่มีคนยอมจ่ายเงินให้มากกว่า Tinder /โดย ลงทุนเกิร์ล
งานวิจัยพบว่า “ความเหงา” มีอันตรายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน
ดังนั้นสำหรับสาวๆ ที่ยังโสดอยู่ขอเชิญมาทางนี้ 
มาทำความรู้จักกับ "Bumble แอปพลิเคชัน Online Dating 
ที่กำหนดว่า ให้ “ผู้หญิง” เป็นฝ่ายที่เริ่มต้นบทสนทนาก่อน
ที่น่าสนใจคือ Bumble ก่อตั้งโดยผู้หญิง และกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา
โดยมีการประเมินว่าบริษัทมีมูลค่ามากถึง 180,000-240,000 ล้านบาท
เรื่องราวของ Bumble น่าสนใจอย่างไร? 
และทำไมถึงต้องให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเริ่มก่อน? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
แอปพลิเคชัน Bumble ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดย Whitney Wolfe Herd
ปัจจุบันเธออายุเพียง 31 ปีเท่านั้น แต่มีชื่อติดอยู่ในผู้หญิงที่รวยด้วยตัวเองของ Forbes
ด้วยมูลค่าสินทรัพย์กว่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัวภายในปีเดียว
หลังจากเรียนจบได้ไม่นาน คุณ Herd ในวัย 22 ปี ก็ได้เข้าร่วม Hatch Labs  
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาบริษัทสตาร์ตอัปของบริษัท InterActiveCorp (IAC)
ทำให้เธอได้มาร่วมทีมพัฒนาแอปพลิเคชันหาคู่อย่าง Tinder ในปี 2012
ที่สำคัญคือ เธอยังเป็นเจ้าของไอเดียชื่อ Tinder อีกด้วย
โดยตอนนั้นทีมตกลงจะใช้โลโก้รูปไฟ เธอจึงพูดชื่อ Tinder ออกมา
เนื่องจาก Tinder แปลว่า เชื้อเพลิงสำหรับจุดไฟ
คุณ Herd รับตำแหน่งเป็นรองประธานด้านการตลาดให้กับ Tinder 
ทั้งๆ ที่เธอไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน 
รวมทั้งยังเคยโดนปฏิเสธไม่รับเข้ามหาวิทยาลัยที่สอนด้านการตลาดด้วยซ้ำ 
หลังจากปลุกปั้น Tinder ได้ 2 ปี คุณ Herd ก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัท
เนื่องจากปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ จนกลายเป็นคดีความฟ้องร้องอย่างใหญ่โต
อย่างไรก็ตาม เธอกลับโดนคนในสังคมออนไลน์ต่อว่า และเริ่มลุกลามไปถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นการคุกคามอีกครั้ง
คุณ Herd จึงมีแนวคิดอยากจะพัฒนาโซเชียลมีเดียสำหรับผู้หญิง ชื่อ Merci
เพราะรู้สึกว่าเธอไม่ได้เป็นคนเดียวที่ประสบกับปัญหานี้ และจริงๆ แล้ว ในสังคมทั่วไป ผู้หญิงก็มักจะเป็นเพศที่ถูกมองว่าเป็นรองและต้องพึ่งพาอาศัยผู้ชายอยู่เสมอ
ระหว่างนั้นเอง คุณ Herd ก็ได้รู้จักกับคุณ Andrey Andreev ผู้ก่อตั้งเว็บหาคู่ Badoo 
เครือข่ายหาคู่ที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2006
ตอนนั้นคุณ Andreev ต้องการให้คุณ Herd มาดูแลการตลาดให้กับบริษัทของเขา
ซึ่งเธอไม่สนใจจะรับตำแหน่งนั้น แต่หันมาขายไอเดีย Merci ให้กับเขาแทน
คุณ Andreev ชอบความคิดที่อยากให้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง
แต่แนะนำคุณ Herd ว่าควรอยู่ในแวดวงธุรกิจหาคู่เหมือนเดิม
โดยอาศัยประสบการณ์ของคุณ Herd มาประกอบกับความเชี่ยวชาญของ Badoo
หลังจากนั้นคุณ Andreev ก็ได้ลงทุนใน Bumble ผ่านบริษัท MagicLab 
ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนเป็นชื่อ Bumble เพื่อเตรียมที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 
แม้ว่าตอนนี้ถ้าพูดถึงแอปหาคู่ ชื่อแรกที่ออกมาอาจจะเป็น Tinder
แต่ Bumble ก็เรียกได้ว่าเป็นคู่ต่อสู้ที่ไล่ตีตื้นขึ้นมา ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
ที่น่าสนใจคือ ตลาด Online Dating ถือเป็นสนามรบที่มีการสู้อย่างดุเดือด
โดยมีอัตราการล้มเหลวของสตาร์ตอัปเกิดใหม่สูงถึง 90%
แต่ Bumble มีจุดเด่นที่ทำให้ตัวเองต่างจากแอปพลิเคชันหาคู่ทั่วไป
คือหลังจากที่ผู้ใช้งาน “แมตช์” กันแล้ว ผู้หญิงจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนาก่อนเท่านั้น
ซึ่งก็เปรียบได้กับการให้ “อำนาจ” ในการกำหนดเกมกับผู้หญิงนั่นเอง
ที่สำคัญ Bumble ยังให้ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกับผู้หญิง ทำให้เมื่อเปรียบเทียบแล้ว จึงดู “สุภาพ” กว่าแอปพลิเคชันหาคู่อื่น 
เช่น มีการป้องกันภาพอนาจาร หรือแม้แต่การแบนไม่ให้ใช้ภาพผู้ชายถอดเสื้อเซลฟีในกระจก ซึ่งเป็นภาพที่มักจะพบเห็นในแอปอื่น แต่ก็เป็นภาพที่ทำให้เจ้าของรูปไม่ถูกเลือกมากสุดเช่นกัน
นอกจากนั้น Bumble ยังไม่ได้จำกัดว่าผู้ใช้งานจะต้องมาหาความสัมพันธ์แบบโรแมนติกเท่านั้น
แต่ยังมีฟีเจอร์ BFF สำหรับคนที่อยากได้เพื่อนไปแฮงก์เอาต์ 
รวมถึง Bizz สำหรับผู้ที่ต้องการหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจด้วย 
ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Bumble จึงกลายเป็นแอปที่โตอย่างก้าวกระโดด
ซึ่งไม่เพียงด้านผู้ใช้งาน แต่ยังรวมถึงด้านรายได้ด้วย
แล้ว Bumble มีรายได้จากอะไร? 
โดยปกติแล้ว Bumble จะเปิดให้ใช้งานฟรี แต่ถ้าเราอยากมีสิทธิพิเศษก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
เช่น อยากให้โพรไฟล์ของเราถูกคนเห็นเยอะขึ้น หรือบางคนอยากได้ความเป็นส่วนตัวก็เลือกได้ว่าคนอื่นจะเห็นโพรไฟล์ก็ต่อเมื่อเราเลือกแล้วเท่านั้น
โดยถ้าดูผลประกอบการบริษัท Bumble ซึ่งเป็นเจ้าของทั้ง Bumble และ Badoo
ปี 2018 รายได้ 10,788 ล้านบาท ขาดทุน 818 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 14,646 ล้านบาท กำไร 2,570 ล้านบาท
และ 9 เดือนปี 2020 รายได้ 12,480 ล้านบาท ขาดทุน 3,496 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งาน Bumble จะน้อยกว่า Badoo อยู่หลายเท่าตัว
แต่รายได้จาก Bumble กลับเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ 
จาก 45% ในปี 2018 เป็น 61% ในปี 2020
และถ้าลองเทียบกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Match Group เจ้าของ Tinder แม้ว่าในส่วนของรายได้รวมจะยังห่างกันเยอะ 
แต่ถ้าเป็นรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งานที่สมัครแบบพรีเมียม Bumble กลับทำได้ดีกว่ามาก 
โดยบริษัท Bumble จะอยู่ที่ 554 บาท ซึ่งถ้าดูเฉพาะส่วนของแอปพลิเคชัน Bumble จะสูงถึง 771 บาทในขณะที่ Match Group อยู่ที่ 19 บาท
เรื่องนี้อาจชี้ให้เห็นว่า Bumble มาถูกทาง โดยการเลือกจับกลุ่มผู้หญิง
และในขณะเดียวกัน ก็พิสูจน์ว่า จริงๆ แล้ว อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ใคร 
ไม่เชื่อลองหันไปถามคุณพ่อคุณแม่ดูก็ได้ค่ะ ว่าใครกันเป็นผู้กุมกระเป๋าเงินของบ้าน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.