Pipatchara แบรนด์กระเป๋าคราฟต์ ราคาหลักหมื่น ฝีมือคนไทย
FashionInspirationBusiness

Pipatchara แบรนด์กระเป๋าคราฟต์ ราคาหลักหมื่น ฝีมือคนไทย

18 ธ.ค. 2020
Pipatchara แบรนด์กระเป๋าคราฟต์ ราคาหลักหมื่น ฝีมือคนไทย /โดย ลงทุนเกิร์ล
กระเป๋าราคาหลักหมื่นเป็นราคาที่สูงหรือไม่?
ถ้ากระเป๋าใบนั้นมาจากประเทศทางแถบยุโรปอย่าง Chanel, Prada หรือ Gucci 
คำตอบก็คงเป็น “ราคาไม่สูงและพร้อมที่จะจ่าย”
แล้วถ้ากระเป๋าในนั้นติดป้ายว่า “Made in Thailand” เราจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่
เรื่องนี้แบรนด์ Pipatchara ที่ผลิตและออกแบบโดยฝีมือคนไทย
ได้สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะตั้งราคาค่อนข้างสูง
แต่กลับสามารถทำยอดขายได้ดีทั้งคนไทย และต่างชาติ
แบรนด์ Pipatchara ทำได้อย่างไรและมีกลยุทธ์อะไรน่าสนใจ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
“Pipatchara” เพียงแค่อ่านชื่อก็รู้แล้วว่าเป็นแบรนด์ของคนไทย 
และชื่อนี้เองก็เป็นชื่อเดียวกันกับผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งก็คือ คุณเพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา 
ที่น่าสนใจคือแบรนด์นี้เปิดตัวมาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น 
แต่สามารถขยายแบรนด์ไปได้ถึง 5 ประเทศ โดยเริ่มจากประเทศอิตาลี 
ก่อนจะเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในประเทศไทย และขยายไปยังญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงดูไบ 
พื้นหลังของคุณเพชร ก็เรียกได้ว่ามาทางด้านการออกแบบและแฟชั่นมาตั้งแต่ตั้น
เธอเรียนจบปริญญาตรีโดยตรงทางด้านการออกแบบที่ Academy of Art University, BFA Fashion Design ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังได้ทุนมาเรียนต่อที่ Ecole de la Chambre Syndicale de la Couture ประเทศฝรั่งเศส
หลังจากเรียนจบเธอยังได้มีโอกาสมาร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก 
อย่างเช่น Vanessa Bruno, Givenchy และ Jaspal 
ทำให้เธอมีประสบการณ์ด้านการออกแบบ กระเป๋า รองเท้าจากเครื่องหนังเป็นอย่างดี
รวมถึงรู้แหล่งวัสดุคุณภาพดีในประเทศฝรั่งเศส 
แม้ว่าชีวิตของคุณเพชรประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะดีไซเนอร์
แต่แล้วเธอก็รู้สึกถึงจุดอิ่มตัวในสายอาชีพนี้ 
จึงอยากเริ่มต้นบทบาทใหม่ในชีวิตนั่นก็คือ “การสร้างแบรนด์ของตัวเอง”
ในตอนแรกคุณเพชรไม่ได้มอง Pipatchara เป็นธุรกิจอย่างจริงจัง 
เธอเริ่มสร้างแบรนด์นี้จาก “ความชอบ และความสนุก”
ด้วยความที่คุณเพชร หลงใหลในงานศิลปะและงานฝีมือมาก 
เธอจึงอยากนำเอา 2 สิ่งที่เธอรักมาผสมผสานให้อยู่ในงานชิ้นเดียวกัน
และแล้วไอเดียก็เกิดขึ้นขณะที่เธอได้ท่องเที่ยวในประเทศโมร็อกโก 
โดยคุณเพชรได้ไปเห็นเสน่ห์ศิลปะการถักทอเชือกที่เรียกว่า “Macramé” 
เธอจึงนำไอเดียนี้มาพัฒนาต่อยอด เป็นเอกลักษณ์การถักสายกระเป๋า 
และเกิดเป็น SAMA กระเป๋าคอลเลกชันแรกของเธอ
ถึงแม้ Pipatchara จะเป็นแบรนด์คนไทย แต่จุดเริ่มต้นแรกกลับเกิดที่ประเทศฝรั่งเศส 
โดยปีแรกคุณเพชรทำการขายทางออนไลน์ทั้งหมด และก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 
จนมีโอกาสได้รับเลือกเปิดตัวโชว์ในงาน Milan Fashion Week หลายต่อหลายครั้ง
หลังจากนั้นไม่นาน จุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์อย่างจริงจังก็เริ่มต้นขึ้น.. 
เมื่อเธอได้กลับมาเปิด Pop-up Store ที่เมืองไทย
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 3 วันเท่านั้น แต่กลับทำยอดขายได้ดีเกินคาด 
แล้วอะไรที่ทำให้สินค้าแบรนด์ Pipatchara เป็นที่น่าสนใจ? 
ข้อแรกคือ “การเล่าเรื่องของแบรนด์” ที่ผสมผสานระหว่างแฟชั่นและชุมชน
อย่างการถักเชือก ที่พัฒนาขึ้นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ก็จะเป็นการถักด้วยมือทั้งหมด และผ่านฝีมือของชุมชนในแม่ฮองสอน
เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนไปในตัว
นอกจากนั้นสินค้าของแบรนด์ Pipatchara
ยังมีความพยายามจะนำเสนองานฝีมือเหล่านี้ในรูปแบบที่ทันสมัย
รวมถึงมีการปรับให้เหมาะสมตามกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศ
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศจะตกหลุมรักแบรนด์ Pipatchara ในเวลาอันรวดเร็ว
แบรนด์ Pipatchara ใช้กลยุทธ์อะไรในการดำเนินธุรกิจ?
เนื่องจากคุณเพชรมีประสบการณ์ การทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลากว่า 5 ปี 
ทำให้ “คุณภาพของสินค้า” เป็นสิ่งที่คุณเพชรให้ความใส่ใจมากเป็นอันดับต้นๆ
ดังนั้นวัตถุดิบต่างๆ เช่น หนังและอะไหล่ของกระเป๋า 
จึงเป็นวัสดุที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด 
แต่ถูกนำมาผลิตด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งเธอเลือกที่จะเปิดโรงงานเอง
เพราะง่ายต่อการรักษามาตรฐาน และควบคุมคุณภาพ
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณเพชรให้ความสำคัญเป็นลำดับต่อมาคือ “ความต้องการของลูกค้า” 
แบรนด์ Pipatchara มักไม่ออกสินค้าตามซีซัน 
เพราะอยากให้คนซื้อสามารถใช้กระเป๋าได้นานๆ
แต่ก็จะมีการนำ Feedback ของลูกค้ามาพัฒนาสินค้าในคอลเลกชันถัดไป เพื่อที่จะผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงดูเทรนด์ตลาด
โดยที่ยังคงเก็บการดีไซน์ที่เป็น Signature ของแบรนด์ไว้ 
ทำให้ไม่ว่าจะออกสินค้าอะไรมา แต่พอเห็นก็รู้เลยว่านี่คือแบรนด์ Pipatchara
นอกจากนั้น แบรนด์ Pipatchara ยังยึด “หลักการตลาด”
เข้ามาเป็นส่วนส่งเสริมให้แบรนด์ไปได้ไกล
เพราะเพียงแค่ความชอบ มันคงไม่พอต่อการสร้างธุรกิจ 
แต่ต้องเป็นการสร้างแบรนด์ที่ควบคู่ไปกับการทำตลาดที่ดีด้วย
และไม่หยุดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ควรทำการตลาดแบบสากล
เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มโอกาสทางการตลาดด้วย
อย่างการตั้งชื่อแบรนด์ Pipatchara ในตอนแรกคุณเพชรก็มีความลังเล
ว่าเป็นชื่อที่ฟังแล้วไทยมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างแบรนด์หรือไม่ 
โดยเฉพาะกับคนไทยเอง ที่ไม่ค่อยจะสนับสนุนแบรนด์สินค้าไทยด้วยกัน
แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็รู้สึกว่าชื่อนี้ จะแสดงความเป็นตัวตนได้ดีที่สุด
ดังนั้นสิ่งที่ คุณเพชรทำ จึงเป็นการพิสูจน์ว่าแบรนด์มีคู่ควรกับลูกค้าอย่างไร
ผ่านการออกแบบอย่างพิถึพิถัน ไม่ให้สินค้าดูเชย และนำสินค้าไปประกวดในเวทีระดับโลก 
อย่างสุดท้ายคือการ “ใส่ใจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่จะส่งผลให้แบรนด์อยู่ได้อย่างยั่งยืน
คุณเพชรจริงจังอย่างมากในการเป็น Sustainable Brand 
โดยที่กระเป๋าผลิตโดยวัสดุที่ยั่งยืน เน้นโทนสีที่สามารถหยิบใช้ได้นานๆ
และมีกรรมวิธีผลิตที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด
เช่น หนังกระเป๋าที่ทำมาจาก “หนังของต้นกระบองเพชร” ทดแทนด้วยหนังของสัตว์ 
หรือ เชือกที่ถูกทอมาจาก “เมล็ดกาแฟ กับพลาสติกรีไซเคิล” 
รวมถึงงานถักเชือกที่ต้องใช้มือถักทั้งหมด  
คุณเพชร ก็เป็นคนเข้าไปสอนวิธีการถักเชือกด้วยตนเองที่แม่ฮ่องสอน
เรื่องนี้ถือเป็นการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนไปในตัว
ซึ่งเธอก็มีแผนจะขยายขอบเขตการส่งต่อความรู้เหล่านี้ ไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจในเติบโต
แล้วสำหรับปีนี้ที่เจอวิกฤติโควิด 19 แบรนด์ Pipatchara มีการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?
อย่างที่เล่าไปแล้วว่า Pipatchara เองก็โด่งดังในต่างชาติไม่ใช่น้อย
ดังนั้นจากการระบาดของโควิด 19 ย่อมส่งผลกระทบต่อแบรนด์เช่นกัน
อย่างไรก็ตามคุณเพชรกลับใช้โอกาสนี้ บุกตลาดประเทศไทยแบบเต็มตัว
โดยตัดสินใจเปิดสาขาที่ประเทศไทยอย่างจริงจัง 
นอกจากนั้น ยังมีบริการ Customize กระเป๋า
ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสีกระเป๋า สีเชือก และรูปแบบการถักได้ด้วยตนเอง 
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้การสั่งลักษณะนี้
จะทำให้ลูกค้าต้องจ่ายราคาที่สูงกว่า และต้องรอนานอย่างน้อย 1 เดือน 
แต่กลับได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก
ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นเพราะ ความสามารถของคุณเพชร
ที่ทำให้ลูกค้ามองว่า สินค้าของ Pipatchara เป็นสิ่งที่คุ้มค่า 
ทั้งกับเงินที่จ่ายไป และระยะเวลาที่ต้องรอคอย 
เรื่องราวของแบรนด์ Pipatchara จึงเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นว่า
“ความหลงใหล” เพียงอย่างเดียว 
อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่
เพราะยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายๆ ปัจจัย ถึงจะทำให้ธุรกิจไปรอด
แต่ “ความหลงใหล” นี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไร้ประโยชน์ 
เพราะมันจะทำให้เรา ให้ความสำคัญกับทุกๆ รายละเอียด 
จนคนอื่นสามารถสัมผัสถึงคุณค่าของแบรนด์ 
เหมือนกับ Pipatchara ที่ได้รับการยอมรับ
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นระดับสากล..
References: 
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณเพชร-ภิพัชรา แก้วจินดาเจ้าของแบรนด์กระเป๋า Pipatchara  
-https://pipatchara.com/
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.