สรุปเรื่อง “ฮิปโป” ที่เคยเกือบถูกเลี้ยง เป็นอาหารชาวอเมริกัน แทนเนื้อวัว
history

สรุปเรื่อง “ฮิปโป” ที่เคยเกือบถูกเลี้ยง เป็นอาหารชาวอเมริกัน แทนเนื้อวัว

13 ก.ย. 2024
สรุปเรื่อง “ฮิปโป” ที่เคยเกือบถูกเลี้ยง เป็นอาหารชาวอเมริกัน แทนเนื้อวัว /โดย ลงทุนเกิร์ล
เชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนคงจะกำลังเพลิดเพลินกับความน่ารักของน้อง “หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระสุดฮอตจากสวนสัตว์เขาเขียว
แต่รู้หรือไม่ว่า ในอดีต เคยมีการเสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลสหรัฐฯ นำเข้าฮิปโปมาเลี้ยง เพื่อบริโภคเป็นอาหารหลักแทนที่เนื้อวัว
เนื่องจากสมัยนั้น เนื้อวัวขาดแคลน และมีราคาแพงมาก
ขณะที่ฮิปโป 1 ตัว มีขนาดใหญ่สามารถทดแทนเนื้อวัวได้ประมาณ 4-5 ตัว
แถมว่ากันว่า เนื้อของฮิปโปยังอร่อย มีไขมันแทรกผสม
ไม่ต่างกับเนื้อวากิวของญี่ปุ่นที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
แต่แล้วทำไม สุดท้ายข้อเสนอนี้ถึงถูกปัดตกไป..
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในขณะนั้น สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤติการณ์ขาดแคลนเนื้อสัตว์
นักสำรวจและนักผจญภัยชื่อดัง 2 คนอย่าง คุณ Frederick Russell Burnham และคุณ Fritz Joubert Duquesne จึงเห็นตรงกันว่า ฮิปโปน่าจะเป็นสัตว์ทางเลือกที่ดีในการนำมาเลี้ยงเป็นอาหาร
โดยคุณ Burnham เป็นนักสำรวจชาวอเมริกันที่เคยเห็นการเพาะเลี้ยงฮิปโป ในระหว่างที่เขาไปเป็นสายสืบในแอฟริกา
ส่วนคุณ Duquesne เป็นนายทหารชาวแอฟริกาใต้ที่เติบโตมากับการกินเนื้อฮิปโป และบอกว่าเนื้อฮิปโปมีรสชาติก้ำกึ่งระหว่างเนื้อหมูและเนื้อวัว
และข้อเสนอนี้บังเอิญไปถูกใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งรัฐลุยเซียนาอย่างคุณ Robert Foligny Broussard
เพราะเขากำลังเจอปัญหาระดับชาติ นั่นคือผักตบชวาที่ได้มาจากญี่ปุ่น กำลังแพร่พันธุ์ลอยปกคลุมทั่วแม่น้ำลุยเซียนา ซึ่งแย่งออกซิเจนสัตว์น้ำ อุดตันไม่ระบาย จนส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังกีดขวางเส้นทางเดินเรือ
โดยคุณ Broussard เห็นว่า หากนำฮิปโปมาเลี้ยง ก็จะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
ในเมื่อมันกินพืช ก็ให้ฮิปโปมากินผักตบชวา ขจัดปัญหาวัชพืชน้ำได้เนื้อฮิปโปให้ชาวเมืองบริโภค ขจัดปัญหาเนื้อสัตว์ขาดแคลน
คุณ Broussard จึงได้เสนอร่างกฎหมาย “HR 23261” หรือที่รู้จักในชื่อ “American Hippo Bill”
เพื่อขอเงินสนับสนุนจากรัฐ จำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 200 ล้านบาทในปัจจุบัน สำหรับนำเข้าสัตว์แอฟริกันหลากหลายชนิด โดยเฉพาะฮิปโป
ซึ่งข้อเสนอนี้ ก็ดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หรือแม้แต่สื่ออย่าง The New York Times ก็ชักชวนให้คนหันมาบริโภคเนื้อฮิปโป โดยเปรียบเทียบว่ามันก็คือ “เบคอนแห่งทะเลสาบ” ดี ๆ นี่เอง
อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะเห็นด้วยกับการนำเข้าฮิปโป แต่สุดท้ายข้อเสนอนี้ก็ถูกปัดตก
เนื่องจากฮิปโปขับถ่ายอุจจาระจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้น้ำเน่าเสีย พืชที่มีประโยชน์อย่างสาหร่าย หรือพืชพื้นเมืองก็จะตาย ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศเป็นวงกว้าง
สาเหตุต่อมาคือการเลี้ยงฮิปโป 1 ตัว ต้องใช้อาหารสัตว์จำนวนมาก แม้จะมีผักตบชวามากมาย แต่มันก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงฮิปโปเป็นร้อยเป็นพันตัวอยู่ดี
แถมฮิปโปยังต้องกินอาหารหลากหลาย หากให้กินแต่ผักตบชวาที่มีสารอาหารน้อยมาก ก็ไม่พอขุนให้มันอ้วนกลม
นอกจากนั้น อย่างที่รู้กันว่าฮิปโปเป็นสัตว์ดุร้าย และเป็นสัตว์ที่อันตรายที่สุดชนิดหนึ่งของโลก โดยคร่าชีวิตผู้คน ประมาณ 500 คนต่อปี
พวกมันเป็นสัตว์ที่ขี้หงุดหงิด เอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงยากต่อการเลี้ยงให้เชื่อง และด้วยพลังกัดที่สูงถึง 12,600 kPa มันสามารถตัดคนออกเป็นสองส่วนได้ง่าย เหมือนกับที่เราหักช็อกโกแลตเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อยากนำฮิปโปเข้ามาเลี้ยง เพราะมันอาจจะหลุดไปทำร้ายคน หรืออาจจะทำให้ระบบนิเวศเสีย ซึ่งไม่คุ้มที่จะเสี่ยงแน่นอน
สุดท้าย สหรัฐฯ ก็เลือกที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนเนื้อสัตว์ ด้วยการปรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรม และหันมาทำปศุสัตว์อย่างจริงจังจนกลายเป็นแบบทุกวันนี้นั่นเอง
ต้องบอกว่า Hippo Bill เป็นตัวอย่างแนวคิดที่แปลกใหม่และน่าสนใจของความพยายามในการแก้ปัญหาของมนุษย์ในยุคนั้น
หากเราลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าร่างข้อเสนอนี้ผ่าน แน่นอนว่าชาวอเมริกันก็คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องหันมาบริโภคเนื้อฮิปโป จากนั้นคนทั่วโลกก็คงบริโภคตามโดยปริยาย
และเราก็อาจจะได้เห็นน้องฮิปโปในเมนูอาหาร แทนที่จะอยู่ในสวนสัตว์ อย่างเช่นทุกวันนี้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.