Kindred แพลตฟอร์ม ที่ให้คนมา สลับบ้านกันอยู่
Business

Kindred แพลตฟอร์ม ที่ให้คนมา สลับบ้านกันอยู่

26 ส.ค. 2022
Kindred แพลตฟอร์ม ที่ให้คนมา สลับบ้านกันอยู่ /โดยลงทุนเกิร์ล
การสลับบ้าน กับคนที่เราไม่รู้จัก
แค่คิดก็รู้สึกแปลก ๆ แล้วใช่ไหมคะ
แต่ในตอนนี้ กลับมีแพลตฟอร์มที่ให้ เราสามารถไปสลับบ้านกับคนอื่นได้
แถมเรายังไม่ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านที่เข้าพักอีกด้วย
โดยธุรกิจที่ว่านี้ ก็คือ ​​Kindred สตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเปิดระดมทุนรอบแรก ก็ได้รับเงินลงทุนไปเกือบ 300 ล้านบาท
แล้วโมเดลของ Kindred น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Kindred ก่อตั้งโดยคุณ Justine Palefsky และคุณ Tasneem Amina
อดีตพนักงานของบริษัท Opendoor ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับซื้อขายบ้าน
โดยขณะนั้น พวกเธอมักจะทำงาน และท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ต้องคอยเปลี่ยนที่พัก ทุกครั้งที่ย้ายเมือง แต่ที่พักส่วนใหญ่ มักมีราคาแพงแบบไม่ค่อยสมเหตุสมผล
จุดนี้เองที่ทำให้ทั้งคู่มองว่า น่าจะมีคนอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาแบบพวกเธอเช่นกัน
ดังนั้น ทั้งสองคนจึงได้ร่วมกัน พัฒนาแพลตฟอร์ม Kindred ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้
แล้ว Kindred มีรูปแบบการทำงานอย่างไร ?
Kindred จะเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงระหว่าง “โฮสต์” และ “ผู้เข้าพัก”
โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มคนที่ต้องการทำงาน ควบคู่ไปกับการพักผ่อน ไปจนถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว
ซึ่งความน่าสนใจ ของแพลตฟอร์มนี้อยู่ที่ ผู้เข้าพัก “ไม่ต้องจ่ายเงินให้โฮสต์” เพื่อแลกกับการเข้าพัก
แต่จะเป็นการแลกเปลี่ยน เครดิตการเข้าพัก ในบ้านของคนอื่น ๆ แทน
ยกตัวอย่างเช่น
สมาชิก A ให้สมาชิก B เข้าพักในบ้านของตัวเอง 1 คืน
สมาชิก A ก็จะได้รับเครดิตไว้สำหรับเข้าพัก ในบ้านของสมาชิกคนอื่น 1 คืน หรือตามจำนวนวันที่แชร์
ดังนั้น การเป็นโฮสต์บน Kindred จึงไม่สามารถทำเงินได้
อีกทั้ง ที่พักส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นบ้านที่พักอาศัยจริง ไม่ใช่การนำอสังหาริมทรัพย์ มาปล่อยเช่า เพื่อการลงทุน
พออ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเริ่มเกิดคำถามว่า
แล้วเราจะกล้าปล่อยบ้านของตัวเอง ให้คนแปลกหน้ามาอยู่ได้อย่างไร ?
และเราจะเชื่อใจเจ้าของบ้าน ที่เราไปพักได้ไหม ?
ซึ่งทาง Kindred ก็ได้อุดช่องว่างตรงนี้ ด้วยวิธีการ “สร้างคอมมิวนิตี”
โดยการจะเข้ามาเป็นสมาชิกของ Kindred นั้น จะต้องได้รับ “รหัสเชิญ” จากสมาชิกใน Kindred เท่านั้น หรือหากผู้ที่สนใจ ไม่มีรหัสรับเชิญ ก็จะต้องรอการพิจารณาใน Waitlist ก่อน
ซึ่งการอาศัยคอมมิวนิตีแบบนี้ ก็มีข้อดี คือ ทำให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น
รวมทั้งสมาชิกแต่ละคน ก็สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง และมิตรภาพที่ดี ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ได้มากขึ้นด้วย
แล้ว Kindred มีรายได้มาจากไหน ?
รายได้ของ Kindred มาจาก 2 ช่องทาง คือ
-ค่าธรรมเนียมสมาชิก ประมาณ 10,700 บาท/ปี
โดยสมาชิกทุกคนจะต้องเสียค่าสมาชิกรายปี
เพื่อปลดล็อก การแลกเปลี่ยนที่พักบนแพลตฟอร์ม
-ค่าทำความสะอาด และบริการ ประมาณ 1,070 บาท/คืน
รวมถึงทุกการเข้าพักอาศัย Kindred จะมีวงเงินในการคุ้มครองเจ้าของที่พัก ประมาณ 3.5 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย สำหรับสมาชิกทุกคน
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ Kindred เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 และสามารถระดมทุนในรอบแรกไปได้เกือบ 300 ล้านบาท จากเหล่าผู้ลงทุน เช่น
-Andreessen Horowitz บริษัทลงทุนระดับโลก ที่เคยร่วมลงทุนใน Facebook, Skype และ Twitter
-คุณ Eric Wu ผู้ร่วมก่อตั้ง Opendoor
-คุณ Rohan Seth ผู้ร่วมก่อตั้ง Clubhouse
ปัจจุบัน เครือข่ายของ Kindred มีบ้านและที่พักพร้อมให้บริการ กว่าร้อยหลัง ในกว่า 20 เมืองใหญ่ ทั่วอเมริกาเหนือ โดยในอนาคต Kindred มีแผนที่จะขยายการเติบโตของเครือข่ายนี้ ให้ครอบคลุมในอีกหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก
และถึงแม้ว่า Kindred จะเป็นรุ่นน้องในธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการแบ่งปันที่พัก แต่ก็ถือว่ามีความแตกต่างในแบบของตัวเอง
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า Kindred จะสามารถเติบโตต่อไปในทิศทางใด
รวมถึงความท้าทายที่สำคัญ ก็คือ Kindred จะทำอย่างไร เพื่อคงสภาพคอมมิวนิตี แห่งความไว้วางใจนี้ ให้คงอยู่ ควบคู่ไปพร้อมกับการเติบโต..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.